ไม่พบผลการค้นหา
หนุ่มสาวนักเทคโนโลยีในประเทศจีน ล้วนกำลังประสบปัญหา ‘หมดไฟ’ ในการทำงานก่อนวัย 30 เนื่องจากโลกการทำงานสุดแสนทรหด ทำให้ไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง ไม่มีเวลามีเซ็กซ์ ไม่มีเวลาสร้างครอบครัว

แรงขับของเศรษฐกิจจีนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา คือโลกของ ‘เทคโนโลยี’ ทั้งหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) ฯลฯ ที่ทั้งรัฐและเอกชนทุ่มเงินลงทุนมหาศาล สร้างงานวิจัยต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ ตลอดจนลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ เพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรม

จนบัดนี้ ต้องยอมรับว่า จีนผงาดเทียบชั้นกับมหาอำนาจเก่าของโลกได้อย่างไม่น่าเกลียด ปีที่แล้ว มีการสำรวจจากสำนักวิจัยฮูรันพบว่า มีเศรษฐีเกิดใหม่ขึ้น 4 คนทุกๆ สัปดาห์ จากความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรม และการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์

ระหว่างการเติบโตของประเทศด้วยแรงขับของเทคโนโลยี พื้นที่เก่าที่เคยเป็นสุสานมาก่อนถูกรื้นฟื้นขึ้นมาอย่างหมดจด ในฐานะ ‘ซิลิคอนวัลเลย์จีน’ ด้วยเช่นกัน พวกเขาเรียกพื้นที่ดังกล่าวว่า ‘จงกวนชุน’ อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงปักกิ่ง เป็นที่ตั้งของบริษัทไอทียักษ์ใหญ่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ไป่ตู้ (Baidu) เหม่ยถวน & เตี่ยนผิง (Meituan & Dianping) หรือไบต์แดนซ์ (ByteDance) เจ้าของแอปพลิเคชั่นสตรีมมิ่งวิดีโอติ๊กต๊อก TikTok

ความหอมหวานของโลกเทคโนโลยีที่มีทั้งโอกาส และเม็ดเงินมหาศาล ดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่มีฝีมือมากมายให้เข้าไปทำงานในจงกวนชุน อย่างไรก็ตาม ภาพฝันกับความเป็นจริงมันไม่ได้ตรงกันเสียเท่าไหร่นัก เพราะตำแหน่งหน้าที่การงานในจงกวนชุน เต็มไปด้วยความกดดัน การแข่งขัน และการทำงานหนัก


ความเครียดทำเอานักพัฒนานอนไม่หลับ

ยู เฮารัน เจ้าของบริษัทสอนโค้ดดิ้ง ‘จีซวนเค่อ’ วัย 26 ปี บอกว่า เขาทุ่มสุดตัวทั้งในยามกลางคืน และวันหยุด เพื่อสร้างธุรกิจของเขา ทำให้ปัจจุบัน เขาสามารถรวมทีมนักพัฒนาได้ และรับเงินลงทุนสูงถึง 200 ล้านหยวน หรือราวหนึ่งพันล้านบาท

ทว่าเขาก็มีราคาที่ต้องจ่ายมหาศาลเช่นกัน นั่นคือ ‘โรคนอนไม่หลับ’ ที่ตามมา เพราะความกดดันจากนักลงทุน เขาต้องคิดมากขึ้นว่า จะทำอย่างไรต่อไปเพื่อสร้างรายได้ให้มากขึ้น ทำให้บางค่ำคืนเขามีเวลานอนเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น

“ผมไม่ค่อยคิดถึงเรื่องการใช้ชีวิตเท่าไหร่เลย เพราะผมกำลังสร้างบางสิ่งบางอย่าง และก่อนที่มันจะสำเร็จ ผมจะคิดถึงเรื่องอื่นไม่ได้เลย”
siliconChina3.jpg

นักพัฒนาชาวจีนล้วนหวังอย่างยิ่งว่า วันหนึ่งพวกเขาจะสามารถขึ้นมาเป็น ‘แจ็ค หม่า’ คนใหม่ ที่ครองอาณาจักรอี-คอมเมิร์ซระดับโลกไว้ในกำมือ แต่บนเส้นทางยาวไกลสู่ความสำเร็จนั้น ไม่ใช่ว่าผู้มีความฝันทุกคนจะคว้าปลายทางเอาไว้ได้ เพียงแค่หยิบมือเดียวเท่านั้นจากเรือนหมื่นเรือนแสนที่จะได้อย่างที่หวัง


ความห่างไกล พลัดนักเทคโนโลยีจากความสะดวกสบาย

นอกจากนั้น ความฝันในการสร้างธุรกิจ และความต้องการก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของจงกวนชุน ทำให้ราคาค่าที่แพงขึ้นมหาศาล และเกิดความแออัดของผู้คน ทำให้บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่บางส่วน ตัดสินใจย้ายออกไปตั้งแคมปัสใหม่ย่านชานเมืองกรุงปักกิ่ง ทำให้เกิดฮับไอทีแห่งใหม่อีก 2 แห่ง คือ ‘เซี่ยฉี’ ทางตะวันตกเฉียงเหนือกรุงปักกิ่ง และ ‘หวังจิง’ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของปักกิ่ง

สิ่งที่ตามมาด้วยเมื่อบริษัทต่างๆ อาทิ ไป่ตู้ ซิน่า (Sina) ตีตีชูซิง (Didi Chuxing) โยกย้ายออกไป คือ การเดินทางไปทำงานของพนักงานบริษัทที่ยากลำบากมากขึ้น และปริมาณรถยนต์มหาศาลที่เพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ใหม่ ก่อให้เกิดจราจรติดขัด เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานแถวนั้น วิ่งไล่ตามการเติบโตของบริษัทเทคโนโลยีไม่ทัน

ปีก่อน มีภาพหนึ่งกลายเป็นไวรัลในโซเชียลมีเดียจีน เมื่อเกิดพายุฝนที่เซี่ยฉี ทำให้น้ำท่วม แต่พนักงานคนหนึ่งยังคงต้องทำงาน ทำให้เขาปีนขึ้นไปนั่งบนถังขยะ และก้มหน้าก้มตาดูมือถือด้วยท่าทางสุขุม

trash_man.jpg
  • ภาพจาก 163.com/weibo

ความห่างไกลทำให้เวลาการเดินทางเพิ่มขึ้น หยาง (นามสมมติ) ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ที่ทำงานในเซี่ยฉีบอกว่า เขาใช้เวลา 2 ชั่วโมงครึ่งในการเดินทางไปทำงาน ด้วยรถใต้ดิน 2 สาย และรถบัส โดยเขาต้องตื่น 6 โมงเช้าทุกวัน

“หลับคารถไฟฟ้าเลยครับ ถ้ามีที่นั่ง” หยางวัย 33 ปีบอก

เช่นเดียวกับภรรยาของเขาที่ประสบพบกับปัญหาคล้ายๆ กัน เพราะทำงานในอุตสาหกรรมเดียวกัน ภรรยาของหยางอายุ 29 ปีแล้ว พวกเขาวางแผนจะมีลูกมาหลายเดือนแต่ก็ทำไม่ได้ เพราะเหน็ดเหนื่อยกับงานมาตลอดทั้งวัน กลับถึงบ้านตอนเกือบเที่ยงคืน พอกลับบ้านมาก็หมดพลังงานแล้ว ดังนั้น การจะมีเซ็กส์กันในวันทำงาน เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย

ขณะเดียวกัน ความห่างไกลทำให้หลายคนเลือกที่จะเช่าหอแถวที่ทำงาน แม้สะดวกสบาย แต่แลกกับการที่พวกเขา หรือเธอ ต้องอยู่ไกลปืนเที่ยงสุดๆ

ปู้ (นามสมมติ) ผู้ชำนาญการด้านการตลาดวัย 20 กว่าๆ เลือกจะแชร์อพาร์ตเมนต์กับเพื่อนอีก 2 คนในราคาคนละ 20,000 บาท/เดือน ซึ่งมันแพงมาก ตามความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มันแพงกว่าอพาร์ตเมนต์เก่าของเธอในใจกลางเมืองเสียอีก และทั้งๆ ที่แพงกว่า แต่ปู้ก็ไม่มีความสะดวกสบายเหมือนอยู่ในเมือง ที่เธอจะเดินทางไปร้านกาแฟ ไปห้าง ไปร้านอาหาร ไปพิพิธภัณฑ์ที่เธอชอบตอนไหนก็ได้

“ฉันรู้สึกเหมือนถูกเนรเทศจากปักกิ่งเลยค่ะ” เธอบอก


ชีวิตดีๆ ที่บาลานซ์ไม่ได้

โอกาสมีราคาเสมอ และสิ่งที่ต้องแลกคือ การทำงานหนัก

บริษัทจีนส่วนใหญ่มีนโยบายคาดหวังให้พนักงานทำงานหนัก และนาน เพื่อพิสูจน์ความเสียสละของพวกเขา มีชุดคำหนึ่งเกิดขึ้น ‘ตารางเวลา 996’ ก็คือ ทำงาน 9 โมงเช้าถึง 3 ทุ่ม และ 6 วันต่อสัปดาห์ อย่างไบต์แดนซ์ บริษัทเจ้าของแอปฯ TikTok ก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีนโยบายให้พนักงานทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ ในทุกๆ สัปดาห์ที่ 2 ของเดือน

แม้ส่วนใหญ่บริษัทเทคโนโลยีจะให้สวัสดิการพนักงานมากกว่าปกติ ทั้งอาหารครบมื้อ ซาลอน บริการทำเล็บ บริการนวด บริการฟิตเนส ฯลฯ แต่พนักงานหลายคนรู้สึกว่า บริการดังกล่าวไม่ได้ช่วยทำให้พวกเขาสะดวก หรือสบายใจขึ้นเลย เพราะมันพร่าเลือนชีวิตการทำงานกับชีวิตความเป็นส่วนตัวของพวกเขาไปอย่างช้าๆ

“บริษัทเหมือนอยากจะแก้ทุกปัญหาในชีวิตของเรา บอกเรากลายๆ ว่า ไม่ต้องสนใจอะไรทั้งนั้น ตั้งหน้าตั้งตาทำงานไป” หวัง (นามสมมติ) วัย 26 ปี ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัทแห่งหนึ่งในหวังจิน ระบายความรู้สึก

silicon5.jpg

ขณะที่บางคน ถูกกดดันไม่ใช่แค่เรื่องของงาน แต่เป็นเรื่องของภาพลักษณ์ด้วย เช่น แอนดี้ ซู ไคเฉียง ที่ได้อัพตำแหน่งจากนักพัฒนาโค้ด สู่หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการ (COO) ของสตาร์ตอัพหุ่นยนต์วินครอส (Vincross) เมื่อตำแหน่งสูงขึ้น ทำให้่เขารู้สึกว่าจะต้องทำให้ตัวเองดูดีขึ้น โดยการลดน้ำหนัก 20 กิโลกรัม ในเวลา 6 เดือน

“ผมจะทำให้บริษัทเสียหน้าไม่ได้ครับ” แอนดี้บอก

ด้านฝ่ายผู้หญิงเองก็ต้องเผชิญหน้ากับการเหมารวมของคนในบริษัทไอทีต่างๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายเนิร์ด ใส่แว่น เมื่อเธอเข้าไปสมัครงาน เธอจะโดนมองทันทีว่า เธอจะเป็นนักพัฒนาได้จริงหรือ? และเธอจะยอมเลิกกับแฟน เพื่อทุ่มเทกับงานให้บริษัทหรือไม่

ความเครียด ความเหนื่อยล้า และการทำงานหนัก ทำให้คนหนุ่มสาวรู้สึกหมดไฟในการทำงาน เพราะไม่มีชีวิตส่วนตัวของตัวเอง ทำให้พวกเขาไม่คิดถึงสุนทรียะทางชีวิตด้านอื่นๆ จะว่าไม่คิดก็อาจจะไม่ใช่ เพราะอาจจะไม่มีเวลาไปคิดเสียมากกว่า

ความบีบคั้นต่างๆ ดังกล่าว ทำให้ระยะเวลาที่พวกเขา หรือเธอ เลือกจะทำงานในซิลิคอนวัลเลย์จีน เฉลี่ยเหลือเพียงคนละ 2.6 ปีเท่านั้น (ผลวิจัยจากไมไม (MaiMai) เว็บไซต์เครือข่ายสังคมคนทำงานของจีน) ส่วนใหญ่เพราะหมดไฟไปก่อน มากไปกว่านั้น งานหนักยังทำให้คนวงการเทคฯ จีน เสียชีวิตจากอาหารหัวใจวายมาจนเป็นข่าวใหญ่โตมาแล้วหลายราย


ความเสี่ยงที่รออยู่

การลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ที่ทุกคนต้องการปั้นกิจการ โดยรับเงินสนับสนุนจากนักลงทุน ขณะที่บริษัทใหญ่ๆ ก็ต่อยอดการลงทุนไปเรื่อยๆ มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง แต่เมื่อเสี่ยงสูง หากสำเร็จก็ทำให้ผลตอบแทนมหาศาลเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ปลายปี 2018 ที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปีที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงรุนแรง ทำให้บริษัทเทคโนโลยีหลายบริษัท เลือกที่จะตัดสวัสดิการ โบนัส และตำแหน่งงาน เพื่อเอาตัวรอด

ความสั่นคลอนครั้งนั้น ทำให้เริ่มมีหลายฝ่ายออกมาเรียกร้องว่า อยากให้บริษัทไอทีต่างๆ คิดถึงการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนมากขึ้น มากกว่าการที่คาดหวังให้พนักงานทำงานต่อเนื่อง 10 ชั่วโมง/วัน เพราะนั่นทำให้พวกเขาไม่มีชีวิตส่วนตัว มีแต่งานอย่างเดียว ซึ่งมันอาจจะกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมในอนาคต หากพวกเขาไม่คิดถึงเรื่องการมีลูก หรือมีครอบครัว

siliconChina2.jpg

แน่นอนว่า ภาวะการทำงานหนัก ไม่ได้เกิดกับแค่บุคลากรในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเท่านั้น ด้วยการพัฒนาที่รวดเร็วของเศรษฐกิจในขวบปีทศวรรษที่ผ่านมา และโอกาสที่มากขึ้น ทำให้คนรุ่นใหม่ทุ่มให้กับงานอย่างเต็มกำลัง แต่อุตสาหกรรมเทคโนโลยี น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด ชี้ให้เห็นถึงการห้ำหั่น และความกดดันอย่างชัดเจน

ประเทศจีนก็เริ่มประสบปัญหาเหมือนประเทศอื่นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อจำนวนการเกิดของเด็กที่ลดจำนวนลง และการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย แม้ว่าจีนจะเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับหนึ่งของโลกก็ตาม

จากการสำรวจพบว่า ใน 2 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่รัฐบาลจีนยกเลิกนโยบายลูกคนเดียวเมื่อปี 2015 มีอัตราการเกิดของประชากรลดลงติดต่อกัน และปีนี้ น้อยที่สุดในรอบ 70 ปี โดยมีเด็กเกิดใหม่ 15.2 ล้านคน ลดลงจากตัวเลขปีก่อน 2 ล้านคน

คนรุ่นใหม่จีนให้เหตุผลว่า พวกเขามีหน้าที่การงานที่ต้องรับผิดชอบ และยังมีแรงกดดันจากสภาพเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงไม่ง่ายที่จะมีลูกมากกว่าหนึ่งคน เพราะสิ่งแวดล้อมไม่ได้เอื้อให้พวกเขามีเวลาดูแลบุตรมากขนาดนั้น

ที่มา :

On Being
198Article
0Video
0Blog