ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการ ม.เกษตรฯ ท้วงเก็บภาษีความหวาน ผลักผู้ผลิตเครื่องดื่มใช้สารหวานเทียม เอกชนลดซื้ออ้อยน้ำตาลจากเกษตรกรผู้ปลูก สรรพสามิตแจงขึ้นภาษีมุ่งแก้ปัญหาสุขภาพประชาชน พร้อมให้ผู้ผลิตปรับตัวมาแล้ว 2 ปี ย้ำรัฐมีมาตรการดูแลผลกระทบผู้ปลูกอ้อย

ตามที่ผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ Weerachai Phutdhawong ซึ่งเป็นบัญชีเฟซบุ๊กของนายวีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความระบุว่า "ผลกระทบจากที่รัฐบาลขึ้นภาษีน้ำตาล ทำให้เอกชนหลายเจ้าเปลี่ยนสูตรการผลิตสินค้า มาใช้สารหวานเทียมแทน และเกิดปัญหาในสายการผลิต หลายอย่าง นักเคมีที่เข้าไปช่วยแก้ปัญหา หัวหมุนเลยครับ

"ผลกระทบระยะยาวจากนี้ไปคือ ผลิตภัณฑ์ของเอกชนยักษ์ใหญ่จะเลี่ยงการใส่น้ำตาลทราย ที่อยู่ในตู้เย็นของเซเว่นอีเลฟเว่นนั้น จะไม่มีน้ำตาลทราย นั่นหมายถึง เกษตรกรรม อ้อย และบริษัทผลิตน้ำตาลทรายจะได้รับผลกระทบไปด้วย ห่วงโซ่อาหารที่เดินทางมาโดยปกติจะมีผลกระทบ เพราะตรงปลายทางมีการเก็บภาษี ต่อชิ้นผลิตภัณฑ์ต่อความหวานที่เพิ่มขึ้น น้ำตาลมีประโยชน์และโทษ

"รัฐบาลต้องการเงินมาพัฒนาประเทศ จึงจำเป็นต้องขึ้นภาษี การที่รัฐบาลขึ้นภาษีน้ำตาล โดยอ้างถึงความเป็นห่วงด้านสุขภาพ ของประชาชน ก็พอจะฟังขึ้นครับ แต่ผลสุดท้าย ก็กระทบกับเกษตรกรที่ทำไร่อ้อย อาจารย์อ๊อดทำนายได้เลยว่าราคาอ้อยจะถูกลง อัตราการใช้ลดลง แต่พื้นที่การปลูกเท่าเดิม​ สารเทียมที่นำเข้าจากต่างประเทศบริษัทผู้นำเข้าก็จะได้กำไรมากขึ้น ทุกอย่างมันสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันหมด และเราอาจได้เห็นม็อบของไร่อ้อยเร็วๆนี้ ครับ"

หลังจากข้อความดังกล่าวได้เผยแพร่ออกไป ล่าสุดฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมสรรพสามิต ออกมาชี้แจง ระบุว่า ตามสื่อสังคมออนไลน์ได้นำข้อความของนายวีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาเผยแพร่


เฟซบุ๊ก


ฟากกรมสรรพสามิต ชี้แจงเนื่องจากปัจจุบันพบว่า ประชาชนไทยมีปัญหาจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases : NCDs) อันเนื่องมาจากการบริโภคหวาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องดื่มที่มีความหวานซึ่งมีปริมาณน้ำตาลสูง 

ดังนั้น รัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้มีการบูรณาการร่วมกันทั้งระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนพิจารณาออกมาตรการเป็นแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประโยชน์สูงสุด โดยสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้นำเข้าปรับสูตรการผลิต และผลิตสินค้าเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีสัดส่วนของปริมาณน้ำตาลไม่เกิน 6 กรัมต่อปริมาตรเครื่องดื่ม 100 มิลลิลิตร ภายในระยะเวลา 5-6 ปี

มาตรการภาษีถูกนำมาใช้เพื่อลดการบริโภคปริมาณน้ำตาลในสินค้าเครื่องดื่มผ่านกลไกราคาโดยมีการประกาศใช้ภาษีตามปริมาณน้ำตาลในอัตราก้าวหน้าล่วงหน้า เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมมีระยะเวลาในการปรับตัว

ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการมาตรการอื่น ๆ ที่ไม่ใช่มาตรการภาษี เช่น การใช้ฉลาก GDA และ Healthier ChoicesLogo ส่งผลให้ผู้บริโภคตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพในการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากขึ้น

ดังนั้นสินค้าที่มีน้ำตาลสูงจะมีราคาแพงกว่าและยังส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่า ขณะที่การใช้มาตรการภาษีจะสามารถจะทำให้เครื่องด��่มที่มีน้ำตาลน้อยกว่ามีราคาถูกกว่าและยังส่งผลเสียต่อสุขภาพน้อยกว่าอีกด้วย

สำหรับการใช้สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลนั้น ภาครัฐมีหน่วยงานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทำหน้าที่ดูแลถึงชนิดสารและปริมาณที่เหมาะสมในระดับปลอดภัยต่อผู้บริโภคที่สามารถเติมในเครื่องดื่มได้ ซึ่งต้องพิจารณาปริมาณที่เหมาะสมและดำเนินการควบคุมควบคู่กันไปด้วย  

อย่างไรก็ตาม สำหรับผลกระทบจากภาษีความหวานต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลที่มีจะส่งผลกระทบต่อราคาอ้อยของเกษตรกรนั้น ภาครัฐได้มีการพิจารณาอุปสงค์และอุปทานของอ้อยทั้งระบบเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว โดยมีการวางแผนการเพิ่มมูลค่าตลาดทั้งในประเทศและการส่งออกน้ำตาลไปยังต่างประเทศ

นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้มีการเพิ่มมูลค่าของอ้อยโดยส่งเสริมให้นำไปใช้ในการผลิตสินค้าอื่น อาทิ เอทานอลเพื่อเป็นพลังงานในประเทศและการส่งออก เป็นต้น  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :