ไม่พบผลการค้นหา
คลัง ยันยังไม่เปลี่ยนเงื่อนไขมาตรการ “ชิมช้อปใช้” หลัง “สมคิด” อยากทำต่อเฟส 2 เผยยอดใช้จ่าย 3 วันรวมเกือบ 300 ล้านบาท ยันโครงการไม่ได้เอื้อผู้ประกอบการรายใหญ่ เพราะจำกัดเงื่อนไข และพบคนใช้จ่ายร้านค้าในกลุ่ม OTOP วิสหากิจชุมชน รวมถึงร้านธงฟ้าประชารัฐมากกว่าร้านขนาดใหญ่

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยถึง กรณีที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีออกมาระบุว่า อยากให้มีการขยายมาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” ออกไป เพราะในช่วงสิ้นปีเป็นฤดูการลท่องเที่ยวซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/2562 ดีขึ้น ว่า มาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ขณะนี้ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงการใดใด ซึ่งยังต้องรอประเมินความพร้อมอีกครั้ง ซึ่งการกำหนดยอดผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการที่ 10 ล้านคนนั้น ถือว่าเป็นตัวเลขที่เหมาะสมอยู่แล้ว

ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ยืนยันว่า มาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” ไม่ได้เป็นโครงการที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการายใหญ่ แม้จะการปรับเพิ่มเงื่อนไขให้ร้านค้าโมเดิร์นเทรดสามารถเข้าร่วมโครงการได้ ที่สำคัญมีการกำหนดเงื่อนไขไว้อย่างชัดเจน คือ กำหนดให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกพื้นที่ที่จะเข้าร่วมโครงการได้เพียง 1 จังหวัด แม้จะมีสาขาทั่วประเทศ และกำหนดให้สามารถเปิดจุดรับชำระเงินของแอพพิเคชั่นกระเป๋าตังค์ได้เพียง 20 จุด ซึ่งผู้ประกอบการเป็นผู้บริหารจัดการเองว่าจะดำเนินการอย่างไร

ชิม ช้อป ใช้
  • นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

ทั้งนี้มาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” ที่ดำเนินการพบว่า ร้านค้าขนาดเล็กได้รับอานิสงค์จากโครงการดังกล่าว เห็นได้จากยอดใช้จ่ายในช่วง 3 วันที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 27 – 29 ก.ย. 2562 มีผู้เริ่มใช้สิทธิ์แล้ว 370,523 ราย โดยมียอดใช้การใช้จ่ายประมาณ 294 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 50 ของการใช้จ่าย หรือประมาณ 148 ล้านบาท เป็นการใช้จ่ายร้านในกลุ่ม OTOP ร้านวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งร้านธงฟ้าประชารัฐ ส่วนร้านค้าทั่วไป ซึ่งรวมร้านค้าขนาดใหญ่มียอดการใช้จ่ายประมาณ 79 ล้านบาท

สำหรับการเปิดลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 23 – 26 ก.ย. 2562 มีผู้ได้รับ SMS ยืนยันสิทธิ์ 3.11 ล้านราย โดย 1.9 ล้านรายยืนยันตัวตนสำเร็จ โดยในจำนวนนี้ 1 แสนรายไม่สามารถยืนยันตัวตนผ่านโทรศัพท์มือถือได้ จึงต้องไปยืนยันตัวตนผ่านสาขาธนาคารกรุงไทย และอีก 6 แสนรายอยู่ระหว่างขั้นตอนการยืนยันตัวตน ทั้งนี้ขั้นตอนการยืนยันตัวตนที่ยุ่งยาก โดยเฉพาะการสแกนใบหน้า เพราะต้องแลกกับความปลอดภัย และป้องกันการสวมสิทธิ์

นอกจากนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ยืนยันว่า ระบบการชำระเงินระหว่าง “ถุงเงิน” และ “เป๋าตังค์ สามารถใช้งานได้ปกติ โดยระบบไม่ได้ล่มตามที่ปรากฎเป็นข่าว ซึ่งกรณีที่ระบบล่มที่เกิดขึ้นกับร้านค้าขนาดใหญ่และมีการวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ เป็นปัญหาของผู้ประกอบการเอง