ไม่พบผลการค้นหา
การกู้ซากการบินไทย ให้รอดพ้นสภาวะเจ๊งถาวร ด้วยการใช้ศาลล้มละลายเป็นที่พึ่ง ยื่นขอฟื้นฟูกิจการตามคำสั่งศาลภายใต้กฎหมายล้มละลาย ยังมีผลทำให้การบินไทยดำเนินกิจการต่อได้ โดยปฏิบัติการดังกล่าวจะเกิดการชิงเหลี่ยมทางการเมืองภายในกระทรวงคมนาคมของสองพรรคร่วมรัฐบาล

พลันที่กระทรวงการคลังที่ถือหุ้นใหญ่ในการบินไทย ยอมลดสัดส่วนการถือหุ้นการบินไทยจาก 51.03 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 47.86 เปอร์เซ็นต์ โดยขายหุ้นให้กับกองทุนวายุภักษ์ ทั้งหมด 69 ล้านหุ้น คิดเป็น 3.17 เปอร์เซ็นต์ ทำให้การบินไทย ออกจากการเป็นรัฐวิสาหกิจอย่างสมบูรณ์ 

หากตามขั้นตอนหลังการบินไทยยื่นศาลล้มละลายกลาง มีผู้ทำแผนฟื้นฟู และ ผู้บริหารแผนฟื้นฟู ที่ได้รับการเห็นชอบทั้งจากเจ้าหนี้ และ ศาล

แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ที่การกู้ซากการบินไทยได้ ก็มีเปิด "ชามเกาเหลา" กันหลายก๊ก หลายกลุ่ม ภายใต้สถานการณ์ที่ชิงเหลี่ยม เฉือนคม ตั้งแต่ในกระทรวงคมนาคมด้วยกันเอง และระหว่างกระทรวงคมนาคม กับกระทรวงการคลัง

เริ่มจากเกาเหลาในกระทรวงคมนาคม เป็นศึกเล็กๆ ที่มีรมว. และ รมช. จาก 3 พรรคการเมือง 'ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์-พลังประชารัฐ' ระหว่าง "ศักดิ์สยาม ชิดชอบ" รมว.คมนาคม กับ "ถาวร เสนเนียม" รมช.คมนาคม ส่วน "อธิรัฐ รัตนเศรษฐ" รมช.คมนาคม จาก พลังประชารัฐ ไม่มีบทอยู่ในซีนนี้

แม้ว่าทั้ง "ศักดิ์สยาม" และ "ถาวร" กอดคอกันกดดัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ถึงทำเนียบรัฐบาล

ภายหลังคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เมื่อ 29 เม.ย. ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน มีมติเห็นชอบในหลักการให้การบินไทยกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องระยะสั้น โดยให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท

แต่ก่อนที่จะได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี "ศักดิ์สยาม - ถาวร" พ่วง "อนุทิน ชาญวีรกูล" รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ที่กำกับกระทรวงคมนาคม ต่างเห็นพ้องไม่เติมเงินให้การบินไทย เพราะสถานการณ์บินไทย "เข้าสู่การฟื้นฟูตามกฎหมายล้มละลาย" เต็มแก่

การบินไทย สุวรรณภูมิ

ที่สุดแผนฟื้นฟูการบินไทยรอบแรกไม่ถูกเตะออกจากที่ประชุม ครม. อีก 6 วันต่อมา มีการประชุม คนร.อีกครั้ง และครั้งนี้อนุมัติให้ "การบินไทยเข้าสู่การฟื้นฟูตามกฎหมายล้มละลาย" ซึ่งที่ประชุม ครม.ก็เห็นชอบในวันรุ่งขึ้น (ครม.) เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2563

พล.อ.ประยุทธ์ แถลงข่าวว่า "เป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก แต่เป็นการตัดสินใจที่รู้ว่าจะช่วยรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนได้อย่างไร"

"วันนี้ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องกล้าต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู โดยการยื่นขอเข้ากระบวนการต่อศาล ได้มีการหารือกันอย่างรัดกุมในรายละเอียดต่างๆ ทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนนี้ประเทศไทยและทั้งโลกกำลังเผชิญวิกฤตโควิด -19 รายได้ทุกคนกำลังหายไป เราจำเป็นต้องรักษาเงินตราของประเทศไทยเอาไว้ เพื่อใช้ในการช่วยเหลือประชาชนในวันข้างหน้า"

หลังจากสิ้นเสียงนายกฯ "ศักดิ์สยาม" ยกขบวนมาแถลงที่กระทรวงคมนาคม แต่ไม่มี "ถาวร" แม้แต่เงา เพราะไม่ถูกเชิญไปร่วมซีน

โดย "ถาวร" และทีมงานรู้ก็ต่อเมื่อ มีการแจ้งกำหนดการให้สื่อประจำกระทรวงมาฟังการแถลงข่าว คนที่มานั่งเข้าฉากคือ "มนัญญา ไทยเศรษฐ์" รมช.เกษตรและสหกรณ์ จากพรรคภูมิใจไทย ในฐานะกำกับดูแลกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่เป็นเจ้าหนี้หุ้นกู้การบินไทยมากถึง 4.2 หมื่นล้านบาท

ศักดิ์สยาม มนัญญา แจงการบินไทย

"ถาวร" กล้ำกลืนความรู้สึก เพราะเคยรู้ฝีมือทางการเมืองกันดี สมัยทั้งคู่ประจำการอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย เมื่อปี 2552-2554 ที่ "ถาวร" เป็น รมช.มหาดไทย ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส่วน "ศักดิ์สยาม" มีสถานะเป็น มท.1 เงา ตำแหน่ง "ประธานคณะทำงาน รมว.มหาดไทย" (ชวรัตน์ ชาญวีรกูล)

11 ปี ต่อมาในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ กับ ภูมิใจไทย เสียงลือเสียงเล่าอ้างจากกระทรวงคมนาคมว่า เอาคืนจากกรณีการขยายพรรคประชาธิปัตย์ที่คุมกระทรวงเกษตร

ยอมให้ขยายเวลาแบน 3 สารพิษ พาราควอต คลอไพริฟอส และ ไกลโฟเซต จาก 1 ธ.ค.2562 ไปเป็น 1 มิ.ย.2563 ตามมติ คณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มี สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เป็นประธาน

งานนี้มีการ “แอบเคืองกันลับหลัง”

แต่เรื่องที่ใหญ่กว่า คือเกม "เกาเหลา" ระหว่างศึกในกระทรวง

เมื่อ "ศักดิ์สยาม" เจ้ากระทรวงคมนาคม ในฐานะที่กำกับดูแลการบินไทย กับ "อุตตม สาวนายน" รมว.คลัง หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ งัดข้อ – ยึกยักกันไปมา แย่งกันชง – ตั้ง 'ผู้ทำแผน' และ 'ผู้บริหารแผน'

ทั้งที่ ก่อนกระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือหุ้นในการบินไทย ยอมให้กระทรวงคมนาคมเป็นผู้จัดทำแผน และตัดสินใจเลือกฟื้นฟูกิจการการบินไทยภายใต้คำสั่งศาลล้มละลายกลาง กระทั่ง "ศักดิ์สยาม" เตรียมชง 20 รายชื่อให้ "พล.อ.ประยุทธ์" เลือก

แต่จู่ๆ ภายหลังคลังลดสัดส่วนผู้ถือหุ้น "อุตตม" ก็มีแรงฮึดขึ้นมา โดยยืนยันว่า "คลัง" ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ จะแต่งตั้งผู้บริหารแผน ที่ปรึกษากฎหมาย และที่ปรึกษาการเงินเอง โดยกระบวนการบริหารแผนฟื้นฟูทั้งหมด กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ดำเนินการเอง

21 พ.ค. 2563 ทั้ง "อุตตม" และ "ศักดิ์สยาม" จึงเคาะประตูห้อง "วิษณุ เครืองาม" รองนายกรัฐมนตรี หมอกฎหมายประจำรัฐบาล ชี้ขาดข้อกฎหมาย ว่าฝ่ายไหนจะเป็นผู้กำกับการฟื้นฟูกู้ซากบินไทย

"อุตตม" บอกผ่านสื่อว่า "ร่วมกันดู ไม่มีอะไรขัดแย้ง คุยกันแล้ว รัฐมนตรีศักดิ์สยามก็อยู่ด้วย"

ประยุทธ์-ครม.โควิด19

อย่างไรก็ตาม ร้อนถึง "พล.อ.ประยุทธ์" ต้อง "ทุบโต๊ะ" ไม่เอาข้อเสนอจากฝ่ายการเมือง ซีกภูมิใจไทย จนกระทรวงคมนาคมต้องถอยรูด

พร้อมกับเซ็น คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 143/2563 ตั้ง "วิษณุ" เป็นประธานคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่เขาเรียกว่า "บอร์ดกระจอก" ประกบขั้นตอนการทำแผน – บริหารแผนฟื้นฟูที่จะเกิดขึ้น หลังศาลล้มละลายรับคำร้อง และทำหน้าที่ "ตัวกลาง" ประสานกับแต่ละกระทรวงที่เกี่ยวข้อง

มีกรรมการประกอบด้วย นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ นายประสงศ์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร กรรมการผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และ นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ

มีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้

• เป็นตัวแทนภาครัฐในการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย ในการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้คำสั่งศาลและการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวช้องในทุกขั้นตอน

• ให้คำแนะนำแก่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการ แก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของภาครัฐโดยไม่เกี่ยวกับกระบวนพิจารณาของศาล

• กลั่นกรอง ตรวจสอบ และอำนวยความสะดวกหรือประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์แก่กระบนการพื้นฟูกิจการ และการดำเนินกิจการชอง บริษัท การบินไทย ตามที่มีการร้องขอ และไม่ขัดต่อกฎหมาย

• ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่นายกรัฐมนตรีหรือ ครม.มอบหมาย รายงานการปฏิบัติงานพร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อ ครม.เป็นระยะ ๆ ข้อคณะกรรมการอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานเพื่อปฏิบัติงานเฉพาะเรื่องได้ ให้คณะกรรมการ คณะอนุกรมการ และคณะทำงานได้รับเบี้ยประชุมหรือค่าใช้จ่ายตามที่กระทรวงการคลังกำหนดรายงานเสนอความเห็นต่อ ครม.เป็นระยะ

วิษณุ บอกว่า "คณะกรรมการชุดดังกล่าวไม่ใช่ซูเปอร์บอร์ด แต่เป็นบอร์ดที่เชื่อมโยงในฐานะเป็นคนกลางระหว่างรัฐบาลกับบริษัท ซึ่งเดิมไม่ต้องมีตัวกลาง เพราะตอนเป็นรัฐวิสาหกิจก็สามารถติดต่อได้เอง แต่เมื่อเป็นเอกชนแล้วก็เหมือนการการติดต่อระหว่างแอร์เอเชียและเจแปนแอร์ไลน์ที่จำเป็นต้องมีคนกลาง"

กลายเป็น "คณะกรรมการปรองดอง" หลังเปิดชามเกาเหลา ทั้งที่ปฏิบัติการกู้ซากบินไทย เพิ่งจะเริ่มต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง