ไม่พบผลการค้นหา
เปิดฉากประมูลคลื่นความถี่สำหรับให้บริการ '5จี' 2 ผู้ประกอบการถือฤกษ์ยามดี 11.00 น. และ 11.11 น. ยื่นเอกสารแจ้งความจำนงและชำระค่าพิจารณาคำขอ ใบอนุญาต 4 คลื่นความถี่ วงเงินประมูลรวมขั้นต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า ในวันนี้ (4 ก.พ.2563) กสทช. เปิดให้ผู้สนใจเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่สำหรับให้บริการ 5จี ยื่นเอกสารแจ้งความจำนงเข้าร่วมประมูล ตั้งแต่เวลา 8.30 -16.30 น. 

โดยในภาคเช้า มี 2 รายเข้ามายื่นเอกสารแจ้งความจำนงและชำระค่าพิจารณาคำขอ โดยรายแรกคือ บริษัท ทรู มูฟเอช ยูนิวเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ในเวลา 11.00 น. นำโดยนางสาวยุภา ลีวงศ์เจริญ คณะผู้บริหารด้านการเงิน และนายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ รองผู้อำนวยการด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นำคณะยื่นเอกสารร่วมประมูล 

ต่อมาในเวลา 11.09 น. บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) นำโดยนายพิพัฒน์ ขันทอง กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ พร้อมด้วยนายรังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจสื่อสารไร้สาย พาคณะเข้ายื่นเอกสาร  

ส่วนในช่วงบ่าย คาดจะมีบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) , บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด เข้ายื่นเอกสาร 

ยื่นประมูล 5G
  • ยุภา ลีวงศ์เจริญ คณะผู้บริหารด้านการเงิน และจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ รองผู้อำนวยการด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นำคณะยื่นเอกสารร่วมประมูล เมื่อเวลา 11.00 น.


DSC02509.JPG
  • พิพัฒน์ ขันทอง กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ และรังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจสื่อสารไร้สาย ยื่นเอกสารเมื่อเวลา 11.11 น.

ทั้งนี้ การประมูลคลื่นความถี่สำหรับ 5G เป็นการนำคลื่นความถี่ทั้งหมด 4 ช่วงมาประมูล ได้แก่ คลื่น 700 MHz, 1800 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz

โดยคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz แบ่งออกเป็น 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 2x5 MHz ราคาเริ่มต้น 8,792 ล้านบาท เคาะราคาคครั้งละ 440 ล้านบาท แบ่งชำระเงินเป็น 10 งวดๆ ตกร้อยละ 10 ต่องวดโดยผู้เข้าประมูลต้องวางหลักประกัน 2,637.6 ล้านบาทและหากไม่ชำระค่าประมูล ต้องชำระค่าปรับ 1,319 ล้านบาทต่อใบอนุญาต

คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz แบ่งเป็น 7 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 2x5 MHz ราคาเริ่มต้น 12,486 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 25 ล้านบาท แบ่งชำระเป็น 3 งวด โดยงวดที่ 1 จำนวนร้อยละ 50 ของราคาที่ชนะการประมูล งวดที่ 2 และ 3 ชำระร้อยละ 25 ของราคาที่ชนะการประมูล โดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 4,994.4 ล้านบาท และหากไม่ชำระค่าประมูล จะต้องชำระค่าปรับ 1,873 ล้านบาทต่อใบอนุญาต โดยผู้ชนะการประมูลจะต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมร้อยละ 40 ของประชากร ภายใน 4 ปี และครอบคลุมร้อยละ 50 ของประชากรภายใน 8 ปี 

คลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz แบ่งเป็น 19 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10 MHz ราคาเริ่มต้น 1,862 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 93 ล้านบาท การชำระเงินแบ่งเป็น 7 งวด โดยแบ่งเป็น งวดที่ 1 ชำระร้อยละ 10 ของราคาที่ชนะการประมูล งวดที่ 2-7 (ปีที่ 5-10) ชำระร้อยละ 15 ของราคาที่ชนะการประมูล/งวด ผู้เข้าประมูลจะต้องวางหลักประกัน 1,862 ล้านบาท หากไม่ชำระค่าประมูล จะต้องชำระค่าปรับ 280 ล้านบาทต่อใบอนุญาต โดยผู้ชนะการประมูลต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมร้อยละ 50 ของพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ภายใน 1 ปี และครอบคลุมร้อยละ 50 ของประชากรในสมาร์ทซิตี้ ภายใน 4 ปี

ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 26 GHz แบ่งออกเป็น 27 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 100 MHz ราคาเริ่มต้น 423 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 22 ล้านบาท และเป็นการชำระงวดเดียวภายใน 1 ปี หลังการประมูล โดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 507.6 ล้านบาท และหากไม่ชำระค่าประมูล จะต้องชำระค่าปรับเป็นเงิน 64 ล้านบาทต่อใบอนุญาต 

ทั้งนี้ มีกรอบระยะเวลาดำเนินการ เริ่มตั้งแต่ วันที่ 4 ก.พ. 2563 ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ส่วนนั้นวันที่ 10 เป็นช่วงการให้ข้อมูล วันที่ 12 ก.พ. 2563 ประกาศรายชื่อผู้เข้าร่วมการประมูล วันที่ 14 ก.พ. 2563 จะให้มีการประมูลรอบสาธิต (Mock Auction) และวันที่ 16 ก.พ. 2563 เป็นวันประมูลคลื่นความถี่ 

ยื่นประมูล 5G
  • ผู้บริการจากบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) นำเอกสารยื่นประมูล

นายพิพัฒน์ ขันทอง กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า คณะกรรมการ บมจ.ทีโอที เห็นชอบ การเข้าร่วมประมูลคลื่น 5G ครั้งนี้ ตามนโยบายของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อผลักดันบริการและการผลิตสมัยใหม่ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ กระจายความเจริญสู่ประเทศไทย พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี และเมืองอัจฉริยะ พร้อมการพัฒนาบริการเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :