ไม่พบผลการค้นหา
สำนักงานเศรษฐกิจการคลังปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 2.5 ปี 2563 ขยายตัวร้อยละ 2.8 ลดลงจากคาดการณ์รอบก่อนหน้าทุกรายการ เหตุจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายช้าไป 2 เดือน ผสมผลกระทบไวรัสโคโรนา

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค.ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ล่าสุด (29 ม.ค.2563 ) ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2562 และปี 2563 โดยในปี 2563 มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 2.5 จากคาดการณ์เดิมเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมาคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.8 ส่วนปี 2563 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 2.8 และมีกรอบอยู่ระหว่างร้อยละ 2.3-3.3 จากประมาณการเดิมให้ไว้ที่ร้อยละ 3.3 

โดยในประมาณการเศรษฐกิจปี 2563 ได้รวมปัจจัยลบและบวกล่าสุดเข้ามาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 ที่จะล่าช้าออกไป, ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่, ภัยแล้ง และ มาตรการกระตุ้นด้านการลงทุนที่เพิ่งผ่านที่ประชุมครม. เมื่อวันที่ 28 ม.ค. ที่่ผ่านมา

กระทรวงการคลังแถลงข่าว
  • ลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค.ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง

"เบื้องต้นประเมินว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่จะมีผลในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้านี้ แม้ต้นทางของไวรัสจะเกิดที่ประเทศจีน แต่เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนเป็นฐานใหญ่ของท่องเที่ยวไทย ดังนั้นเราจึงได้รับผลกระทบ และอาจทำให้ทั้งปีจำนวนนักท่องเที่ยวหายไป 4 แสนคน จากประมาณการทั้งปีจะมี 41.1 ล้านคน อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์การระบาดจบเร็ว ก็จะเข้ามาเป็นปัจจัยบวกแทนได้" นายลวรณ กล่าว

ส่วนปัจจัยเรื่องความล่าช้าของการบังคับใช้งบประมาณรายจ่ายปี 2563 สศค. คาดว่าจะล่าช้าจากกำหนดการใช้เดิมคือปลายเดือน ม.ค. เป็นปลายเดือน มี.ค. หรือช้ากว่าเดิม 2 เดือน ซึ่งไม่มีผลกับงบรายจ่ายประจำ และงบลงทุนผูกพัน เพราะพ.ร.บ.งบประมาณออกแบบมาให้สามารถใช้งบปีก่อนไปพลางก่อนได้ แต่จะมีผลกับงบลงทุนใหม่ให้สะดุดได้

"ปัจจัยลบต่างๆ เราใส่ไว้ในประมาณการอัตราการขยายตัวหมดแล้ว และเราประเมินจากตัวเลขที่สะท้อนจากข้อมูลจริงทั้งหมด และแม้ว่าต้นปีอาจดูไม่สดใส ซึ่งก็ถือเป็นการบ้านของรัฐบาลที่จะต้องดูแลเศรษฐกิจในประเทศในช่วงแบบนี้ต่อไป แต่ยืนยันว่า เศรษฐกิจไทยยังมีการเจริญเติบโต และเราพร้อมออกมาตรการทุกมาตรการในเวลาที่เหมาะสม เราไม่ได้นั่งอยู่เฉยๆ" นายลวรณ กล่าว

ทั้งนี้ สศค. ได้ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563 คือ จีดีพีเติบโตร้อยละ 2.8 การบริโภคภาคเอกชนเติบโตร้อยละ 3.2 การลงทุนเอกชนร้อยละ 4.2 การใช้จ่ายภาครัฐร้อยละ 2.5 การลงทุนภาคเอกชนร้อย 6.5 การส่งออกร้อยละ 1 การนำเข้าร้อยละ 1.7 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานร้อยละ 0.7 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปร้อยละ 0.8 ภายใต้สมมติฐานเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ 15 ประเทศ ขยายตัวร้อยละ 3.1 อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 30.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ราคาน้ำมันดิบดูไบ 64 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล นักท่องเที่ยวต่างชาติ 41.1 ล้านคน และรายจ่ายภาคสาธารณะ 3.97 ล้านล้านบาท 

ขณะที่ประมาณการเศรษฐกิจไทยของปี 2562 คาดว่าจีดีพีเติบโตร้อยละ 2.5 การบริโภคภาคเอกชนโตร้อยละ 4.4 การลงทุนภาคเอกชนโตร้อยละ 2.4 การใช้จ่ายภาครัฐเติบโตร้อยละ 1.9 การลงทุนภาคเอกชนเติบโตร้อยละ 2.1 การส่งออกหดตัวร้อยละ 3.2 การนำเข้าหดตัวร้อยละ 5.4  

แม้ตัวเลขเศรษฐกิจจะมีการปรับประมาณการลดลงตั้งแต่ต้นปี แต่โฆษกกระทรวงการคลังย้ำว่า ภาครัฐติดตามปัญหาทุกปัญหาอย่างใกล้ชิด และยังมองว่ายังมีปัจจัยบวกในปีนี้ ทั้งเรื่องการลงทุนภาคเอกชนที่จะขยายตัว จากมาตการการสนับสนุนการลงทุนของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) การลงทุนขนาดใหญ่ผ่านโครงการร่วมลงทุนรัฐและเอกชน (PPP) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะทำให้ส่งออกเป็นบวกขึ้นมาบ้าง และเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยที่สะท้อนผ่านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นบ้างจากร้อยละ 0.7 ในปีก่อน เป็นร้อยละ 0.8 ในปี 2563 

"มาตรการที่ออกมาล่าสุด เช่น การสนับสนุนการลงทุนของเอสเอ็มอี ก็เป็นมาตรการที่ออกมาเร็วและแรง เรื่องชิมช้อปใช้ สศค.ก็กำลังพิจารณาอยู่ เพื่อดูแลการบริโภคภายในประเทศไม่ให้สะดุด รวมถึงแนวโน้มค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงในเวลานี้ ก็มีทิศทางที่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจได้" นายลวรณ กล่าว 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :