ไม่พบผลการค้นหา
3 เดือนนับจากวันเลือกตั้งผ่านไป การจัดตั้งรัฐบาล ‘ประยุทธ์ 2’ ยังไม่สะเด็ดน้ำ ศึกแย่งชิงเก้าอี้รัฐมนตรี 19 พรรคร่วมรัฐบาล ปรากฏบนหน้าสื่อรายวัน ท่ามกลางความหวาดหวั่นไม่เชื่อมั่นของทั้งนักลงทุนชาวไทยและต่างประเทศ

ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่ทุกช่วงเดือน พ.ค. - ก.ย. ถือเป็นฤดูกาลการจัดทำงบประมาณสำหรับปีถัดไปของทุกรัฐบาล

ทว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของรัฐบาล คสช. ก็เหมือนหยั่งรู้อนาคตว่า ‘รัฐบาลประยุทธ์ 2’ จะเสร็จสิ้นเมื่อใด จึงมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 1 พ.ค. ให้แนวทางการจัดการงบประมาณรายจ่ายปี 2563 เลื่อนออกไป โดยไม่มีรายละเอียดชี้แจง

ก่อนที่จะมารับรู้รับทราบปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 พร้อมกัน เมื่อนายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ร่วมบรรยายหัวข้อ "การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563" ในการสัมมนา ส.ส. เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา   

ปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท มีกำหนดการ ดังนี้

  • ก.ค. 2562

คณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้ารับหน้าที่และแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ประชุม 4 หน่วยงาน พิจารณางบประมาณการรายได้ กำหนดนโยบาย วงเงิน และโครงสร้างงบประมาณ ปรับปรุงงบประมาณปี 2563 และนำเสนอครม.ให้ความเห็นชอบ

  • ส.ค. - ก.ย. 2562

รับฟังความคิดเห็น 15 วัน ก่อนสรุปรายงาน และนำเสนอ ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 

  • ต.ค. 2562

ครม.ให้ความเห็นชอบข้อเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 นำเสนอสภาผู้แทนราษฎร ให้ส.ส.พิจารณา ในวาระที่ 1 ( 2 - 3 วัน)

  • พ.ย. - ธ.ค. 2562

คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563

  • ม.ค. 2563

ส.ส.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ วาระที่ 2-3 ส่งให้ ส.ว.พิจารณากลั่นกรอง (ภายใน 20 วัน) ก่อนส่งให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) นำร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ขึ้นทูลเกล้าฯถวาย เพื่อประกาศใช้ต่อไป 

จากปฏิทินของสำนักงบประมาณทำให้เห็นว่า กระบวนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ล่าช้าออกไปถึง 4 เดือน จึงถือว่าไม่ใช่เรื่องปกติ

อนุชา วิรัช พุทธิพงษ์ พลังประชารัฐ รัฐสภา

ด้าน นายไกลก้อง ไวทยาการ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ มองกระบวนการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ที่ล่าช้า ว่า เกิดจากการจัดตั้งรัฐบาลผสมหลายพรรคที่ล่าช้า จึงต้องรอให้สัดส่วนรัฐมนตรีของแต่ละพรรคการเมืองชัดเจนก่อน เพื่อจะได้ดูว่า พรรคร่วมรัฐบาลไหน รับผิดชอบกระทรวงอะไร จึงจะได้ดำเนินการจัดทำนโยบายของรัฐบาลมาแถลงต่อรัฐสภา ก่อนจะนำนโยบายเหล่านั้นไปกำหนดแผนงานและโครงการของรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงว่า จะใช้จ่ายงบประมาณปี 2563 อย่างไร ให้สอดคล้องกับนโยบาย

"ความล่าช้าของงบประมาณประจำปี ที่ส่วนใหญ่คือรายจ่ายประจำ สำหรับข้าราชการ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะไม่ได้รับผลกระทบอะไร เพราะตามกฎหมายระบุให้ยึดไปตามการจ่ายงบประมาณของปีก่อนหน้า แต่ที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศแน่นอนคือ งบลงทุนที่ไว้ใช้จ่ายในโครงการสำคัญของรัฐบาล จะยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้จนกว่างบของปี 2563 จะแล้วเสร็จ ซึ่งตามกำหนดคือเดือนม.ค. 2563 ทำให้เวลาการเบิกจ่ายงบลงทุนปี 2563 จะเหลือเวลาเพียง 9 เดือน จึงต้องติดตามว่า จะกระทบต่อ การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน" นายไกลก้อง กล่าว

ทั้งนี้ตาม โครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 นั้นพบว่า งบรายจ่ายลงทุนที่ ส.ส.ฝ่ายค้านกังวลนั้นมีวงเงินสูงถึง 691,200 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 21.6 ของงบประมาณทั้งหมด

ARL airport link รถไฟฟ้า สถานีมักกะสัน

สอดคล้องกับมุมมองจาก นายกิตติ ลิ่มสกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น ฉายภาพให้เห็นถึงภาพรวมเศรษฐกิจโลก ที่ต่างประมาณการกันว่า ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 เป็นต้นไปจะถดถอยอย่างต่อเนื่อง ทั้งจะเลวร้ายมากขึ้นไปอีกจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน ซึ่งจีนจะได้รับผลกระทบมากจนต้องนำเงินมาใช้กระตุ้นเศรษฐกภิจภายใน การส่งออกไปยังสหรัฐฯ จะทำได้ยาก จากกำแพงภาษีที่ถูกตั้งไว้สูง ห่วงโซ่อุปสงค์ ในสินค้าที่ไทยเป็นฐานการผลิตก็จะตกลงตามไปด้วย

สำหรับประเทศไทย นายกิตติ วิเคราะห์ว่า การที่ธนาคารพาณิชย์ 2-3 แห่ง ประมานการลดการเจริญเติบโตของจีดีพีในปี 2563 พร้อมกัน จาก 3 ปลาย เหลือ 3 ต้น นั้น ต้องรับฟัง เพราะสถานการณ์ตอนนี้ เครื่องจักรด้านการส่งออก ผลการประเมินตรงกันคือ 0 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเครื่องจักรด้านการท่องเที่ยว เป้าหมายที่ 40 ล้านคนนั้น ต้องจับตาว่าจะถึงหรือไม่ ในระดับรากหญ้าก็ไม่มีกำลังซื้อ ประชาชนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย เศรษฐกิจไทย จึงจำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นอย่างเร่งด่วน แต่ก็ยังไม่อาจทำได้ เพราะยังไม่มีรัฐบาล ไม่มีนโยบาย

นายกิตติ กล่าวอีกว่า การผลักดันโครงการขนาดใหญ่ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ก็ยังไม่มี งบลงทุนกว่า 7 แสนล้านบาทไม่อาจเบิกจ่ายได้ มีเพียงงบรายจ่ายประจำเงินเดือนข้าราชการเท่านั้น ที่ไม่มีปัญหา ซึ่งจะครอบคลุมแค่คนไม่กี่ล้านคน ในขณะที่ประชาชนจำนวนมากยัง ไม่มีกำลังซื้อ ไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย ต้องแบกรับหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ต้องรีบจัดตั้งรัฐบาลให้แล้วเสร็จโดยเร็ว มิเช่นนั้นการลงทุนจากต่างชาติก็จะยังไม่เกิดขึ้น โดยเฉพาะโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่หมายมั่นปั้นมือ 

เศรษฐกิจ

“ยิ่งมีรัฐบาลใหม่เร็ว ก็ยิ่งช่วยให้มีนโยบายมาช่วยช้อนสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกให้ไม่ต่ำเกินไปได้ จะได้มีรัฐมนตรีทางเศรษฐกิจมาคอยกำกับนโยบายสร้างความเชื่อมั่น อัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องไม่ซ้ำรอยเดิมที่โปรยเงินผ่านบัตรคนจนในลักษณะอนาถา ซึ่งไม่ได้มีความยั่งยืนอะไร แต่ต้องหันกลับมาปรับกลยุทธ์อย่างเป็นระบบ สร้างความเข้มแข็งให้รากหญ้าซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ผ่านการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ชุมชนอย่าง โอท็อป หรือ ธุรกิจขนาดเล็ก (SME) โดยขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และเปิดให้ภาคประชาชนแต่ละท้องถิ่น เข้าไปมีส่วนร่วมเชื่อมโยงการทำงานโดยมีองค์ความรู้ในการขับเคลื่อน เมื่อข้างนอกแย่ ข้างในจึงต้องแน่น” นักเศรษฐศาสตร์ ม.ไซตามะ กล่าว

ทั้งหมดคือ ผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเกิดมาจากความล่าช้าของการจัดตั้งรัฐบาล ประกอบกับสภาวะของ “รัฐบาล500” ที่ไร้เสถียรภาพด้วยจำนวนเสียงปริ่มน้ำในสภาล่าง ก็ยังต้องลุ้นกันอีกขนานใหญ่ว่า พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จะผ่านการพิจารณาหรือไม่ ท่ามกลางรัฐบาลผสมที่ประกอบด้วย 19 พรรคซึ่งสามารถสร้างอำนาจต่อรองและพร้อมถอนตัวร่วมรัฐบาลได้ทุกเมื่อหากประสานผลประโยชน์ไม่ลงตัว

นี่จึงเป็นชะตากรรมร่วมที่สังคมไทยจะต้องเผชิญและแบกรับร่วมกันต่อไปภายใต้กลไกที่ออกแบบโดยรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560

ข่าวที่เกี่ยวข้อง