ไม่พบผลการค้นหา
สื่อต่างประเทศหลายสำนักยกให้ปี 2019 คือ 'ปีแห่งการประท้วง' เพราะประชาชนในหลายประเทศรวมตัวกันต่อต้านรัฐบาลนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปลายปี แต่สิ่งที่เป็นประเด็นร่วมในกลุ่มผู้ประท้วงทั่วโลก มีอยู่ 4 ประการด้วยกัน

การประท้วงต่อต้านรัฐบาลตลอดปี 2019 ที่ผ่านมา เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศหรือเขตปกครองพิเศษ แต่สำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษได้สรุปรวมเหตุผลสำคัญที่ผู้ชุมนุมในที่ต่างๆ ระบุว่าเป็น 'แรงขับเคลื่อน' ให้พวกเขาออกมารวมตัวกันบนท้องถนน ซึ่งมีด้วยกันทั้งหมด 4 ประเด็น

เหตุผลข้อที่ 1 คือ 'ปัญหาความเหลื่อมล้ำ' เห็นได้จากกรณีของประเทศชิลี เอกวาดอร์ และเลบานอน มีชนวนเหตุจากการขึ้นราคาค่าโดยสารและนโยบายเก็บภาษีเพิ่มเติม ซึ่งประชาชนในประเทศเหล่านี้มองว่า รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวได้ ถือเป็นความล้มเหลวของรัฐบาลอยู่แล้ว แต่รัฐกลับหารายได้เพิ่มด้วยการขึ้นราคาสาธารณูปโภคและภาษีต่างๆ ซึ่งเป็นการซ้ำเติมประชาชนที่ยากจนและผู้มีรายได้ปานกลางที่ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจอยู่แล้ว

AFP-ผู้ประท้วงชิลีปะทะกับตำรวจ แต่ ปธน.ยอมรับว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดย จนท.ตำรวจจริง.jpg
  • การประท้วงต่อต้านการขึ้นค่าโดยสารและเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ชิลี

นอกจากนี้ รัฐบาลในประเทศเหล่านี้ยังถูกกล่าวหาว่าประกาศนโยบายสนับสนุนกลุ่มทุนหรือผู้ที่มีรายได้สูงอยู่ฝ่ายเดียว เพราะคนกลุ่มนี้มักจะได้รับการยกเว้นภาษีต่างๆ โดยรัฐบาลให้เหตุผลว่าต้องการสนับสนุนการลงทุนในประเทศ แต่ผู้ประท้วงมองว่านี่เป็นนโยบายซึ่งทำให้ช่องว่างด้านความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนยิ่งขยายกว้างกว่าเดิม เพราะไม่ได้เป็นการกระจายรายได้ที่แท้จริง คนที่รวยอยู่แล้วไม่ได้รับผลกระทบ แต่คนจนจำนวนได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า

เหตุผลข้อที่ 2 คือ 'ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน' โดยประเทศที่มีการประท้วงด้วยเหตุผลนี้ ได้แก่ อียิปต์ อิรัก โบลิเวีย และเลบานอน เนื่องจากมีการรายงานข่าวว่า บรรดาผู้นำรัฐบาลในประเทศเหล่านี้ ใช้อำนาจในทางมิชอบ เอื้อผลประโยชน์ให้เครือข่ายคนใกล้ชิด

อิรัก.png
  • ชาวอิรักรวมตัวประท้วงต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

กรณีของเลบานอน เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น หน่วยงานกำจัดขยะและคนขับรถโดยสาร นัดหยุดงานประท้วงเพื่อต่อต้านการทุจริต ซึ่งพวกเขามองว่าเชื่อมโยงกับปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ทำให้รัฐบาลเลบานอนต้องประกาศว่าจะพิจารณานโยบายปฏิรูประบบเศรษฐกิจขึ้นมาใหม่ โดยให้คำมั่นสัญญาว่าจะปรับลดเงินเดือนของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งหลาย และจะจัดสรรงบประมาณสนับสนุนด้านชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ทราบว่านโยบายนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่

ส่วนเหตุผลที่ 3 คือ 'การจำกัดสิทธิและเสรีภาพ' เห็นได้ชัดจากกรณีของฮ่องกง ซึ่งเป็นการชุมนุมยืดเยื้อต่อเนื่องที่คนทั่วโลกให้ความสนใจอย่างมาก มีชนวนจากร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้จีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้ประชาชนในฮ่องกง ซึ่งมีธรรมนูญและอำนาจอธิปไตยในการบริหารจัดการด้านการเมืองด้วยตัวเองไม่พอใจ เพราะรู้สึกว่ารัฐบาลฮ่องกงกำลังถูกจีนแผ่นดินใหญ่แทรกแซงกระบวนการทางกฎหมาย และอาจจะลุกลามไปยังประเด็นอื่นๆ เช่น การกดดันให้ชาวฮ่องกงยอมรับแนวคิดชาตินิยมและเชิดชูพรรคคอมมิวนิสต์จีนแผ่นดินใหญ่ แทนที่จะเคารพสิทธิและเสรีภาพตามหลักประชาธิปไตยที่ชาวฮ่องกงเคยได้รับช่วงปลายยุคที่ฮ่องกงอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ

AFP-ผู้ประท้วงรัฐบาลฮ่องกงวิ่งหนีการปิดล้อมของตำรวจที่ ม.โพลีเทคนิคฮ่องกงในย่านเกาลูน.jpg
  • ผู้ประท้วงฮ่องกงวิ่งออกจากมหาวิทยาลัยโพลิเทคนิคซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ปิดล้อมเมื่อเดือน พ.ย.

นอกจากนี้ยังมีกรณีประชาชนในเมืองบาร์เซโลนา เมืองเอกของแคว้นกาตาลูญญาในสเปน ซึ่งพยายามเรียกร้องให้แบ่งแยกดินแดน หลังจากที่เคยมีการลงประชามติสนับสนุนให้บาร์เซโลนาแยกตัวจากสเปนมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อ 2 ปีก่อน แต่รัฐบาลกลางของสเปนไม่ยอมรับ และถือว่ากลุ่มผู้รณรงค์เรื่องการแยกตัวเป็นกลุ่มกบฎ แต่การเคลื่อนไหวเรียกร้องในประเด็นนี้ยังไม่ยุติลงง่ายๆ เพราะชาวบาร์เซโลนาจำนวนมากมองว่า พวกเขาควรมีอำนาจเด็ดขาดในการจัดการทรัพยากร การเมือง และเศรษฐกิจของตัวเอง เนื่องจากที่ผ่านมา รายได้และทรัพยากรต่างๆ ต้องส่งให้กับรัฐบาลส่วนกลาง ซึ่งเขามองว่า ไม่ยุติธรรม

เหตุผลข้อที่ 4 คือ 'ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงและภาวะโลกร้อน' ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ในหลายประเทศ ทั้งที่ประเทศสวีเดน สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี สเปน ออสเตรีย ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ และอีกหลายประเทศแถบเอเชีย เห็นได้จากกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการรณรงค์ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เป็นกระแสแรงตลอดทั้งปี โดยผู้ที่เป็นสัญลักษณ์การประท้วงในด้านนี้ คงจะหนีไม่พ้น 'เกรียตา ธืนแบร์ก' หรือ เกรตา ธันเบิร์ก นักกิจกรรมวัย 16 ปี ที่นิตยสารไทม์สของสหรัฐฯ ยกให้เป็น 'บุคคลแห่งปี' ประจำปี 2019

Reuters-ผู้ชุมนุมกลุ่ม Extinction Rebellion เครือข่ายสิ่งแวดล้อม รวมตัวเรียกร้องการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงและภาวะโลกร้อนที่ย่านวอลล์สตรีทในสหรัฐ 7 ต.ค.2019.JPG
  • การประชุมของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม Extinction Rebellion ที่วอลล์สตรีท, สหรัฐอเมริกา

ในปี 2020 สื่อและผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า การประท้วงในหลายประเทศก็คงจะยังไม่ยุติลงง่ายๆ เพราะยังไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจนจากฝั่งรัฐบาล จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองกันต่อไปว่า การประท้วงในที่ต่างๆ ทั่วโลกจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่ปัจจัยหนึ่งหนึ่งที่คิดว่ารัฐบาลประเทศต่างๆ อาจนำมาใช้เพื่อสกัดการรวมตัวของผู้ชุมนุม ได้แก่ 'การปิดกั้นอินเทอร์เน็ต'

อัลจาซีรายกตัวอย่างกรณีแคว้นจัมมูร์และแคชเมียร์ รวมถึงอุตรประเทศของอินเดีย มีการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลอย่างรุนแรง ทำให้รัฐดำเนินนโยบายปิดกั้นอินเทอร์เน็ต โดยมีการสั่งระงับสัญญาณเป็นระยะ เพื่อไม่ให้มีการติดต่อสื่อสารผ่านแอปพลิเคชันสมาร์ตโฟนหรือสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ที่เป็นสิ่งเชื่อมโยงให้ผู้ชุมนุมออกมารวมตัวกัน

AFP ประท้วงกม.พลเมืองอินเดีย India citizen protest
  • ผู้ประท้วงกฎหมายสิทธิพลเมืองในอินเดียถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัว

ที่มา: Aljazeera/ BBC/ Foreign Policy

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: