ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการ ประสานเสียงชี้ 'ศาลรัฐธรรมนูญ' เป็นใหญ่ในแผ่นดินจริง แต่ไม่เป็นปัญหาหากมีความยุติธรรม ยอมรับศาลยังเป็นอุปสรรคประชาธิปไตย ถูกขยายอำนาจเกินขอบเขต

กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ร่วมกับ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน จัดเสวนา “ประชาชน อยู่ตรงไหน เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” ที่ห้องประชุมคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ผศ. ธีระ สุธีวรางกูร จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรสำคัญ ที่นอกจากจะคุมทิศทางของประเทศแล้ว ยังสามารถควบคุมทิศทางการใช้อำนาจขององค์กรระดับสูงของประเทศทั้งหมดด้วย ซึ่งการตั้งหัวข้อว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นใหญ่ในแผ่นดิน จีงไม่ได้ผิดจากความเป็นจริงทั้งทางหลักวิชาและความรู้สึกของคนในสังคม โดยย้ำว่า ความเป็นใหญ่ของศาลรัฐธรรมนูญดูได้จากทั้ง สถานะ, อำนาจหน้าที่, ตัวคำวินิจฉัย ที่ผูกพันกับทุกองค์กร และอาจจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ศาลเองก็ยังเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ผศ. ธีระ มองว่าความเป็นใหญ่ของศาลจะไม่เป็นปัญหา หากทำหน้าที่หรือตัดสินคดีด้วยความเป็นธรรม แต่จากบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ทำให้มีคำถามว่า เมื่อศาลเป็นใหญ่แล้วประชาชนจะอยู่ตรงไหนหรือจะทำอย่างไรได้บ้าง เมื่อคำตัดสินของศาลสร้างความเดือดร้อนหรือส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยที่ถูกมองว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งประชาชนสามารถทำได้ทั้งการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต การชุมนุมโดยใช้สิทธิเสรีภาพโดยชอบตามกฎหมาย และการดำเนินการทางการเมืองด้วยการแสดงให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือผู้มีอำนาจเห็น ว่าประชาชนไม่เห็นด้วยกับการทำหน้าที่ ผ่านการใช้สิทธิ์เลือกตั้ง 

อย่างกรณียุบพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยที่ประชาชนส่วนใหญ่เลือกกลับเข้ามาบริหารประเทศอีก แม้เปลี่ยนชื่อพรรคไปแล้วก็ตาม โดยส่วนตัวมองในฐานะนักกฎหมายและเคยทำงานในศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญในหลายคดี รวมถึงกรณีมีคำวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ครั้งล่าสุดด้วย

องคาพยพคณะรัฐประหาร

นายเข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจมาก โดยเฉพาะคำตัดสินที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างฉับพลันและรุนแรงนั้นไม่ใช่เรื่องปกติ แต่สังคมไทยถูกทำให้ดูเหมือนว่าเป็นเรื่องปกติ โดยนับจากหลังปี 2549 เป็นต้น อำนาจเข้าไปดูพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งเป็นครั้งแรก และเริ่มเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง และขยายอำนาจของศาลออกมาเรื่อยๆ นับจากนักวิชาการตีความในระยะแรกว่า "ตุลาการตีความก้าวหน้า", "ตุลาการภิวัฒน์" เรื่อยมาจนถึงตุลาการธิปไตยและปัจจุบันมีคำเรียกว่า "นิติสงคราม" รวมทั้งก่อนหน้านี้มีการกล่าวว่ารัฐประหารโดยตุลาการ แต่อย่างไรก็ตามศาลเป็นเพียงหนึ่งในองคาพยพของการรัฐประหาร ซึ่งการก่อการจริงก็คือกองทัพที่เป็นคณะรัฐประหาร

นายเข็มทอง ยืนยันว่าศาลรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องยึดหลักการบางอย่าง แม้ไม่ต้องคล้อยตามเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน แต่ต้องพิทักษ์หลักการประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของประชาชน อย่างไรก็ตามต้องมองศาลรัฐธรรมนูญในบริบทที่เป็นหนึ่งในองคาพยพของกระบวนการต่างๆ ในการทำหน้าที่ ซึ่งหากมองลึกลงไปอาจเห็น ความเชื่อมโยงทั้งในทางส่วนตัวและกับบุคคลและองค์กรอิสระอื่นๆ ด้วย 

องค์กรขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตย

รศ.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ไม่แปลกใจที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่สนใจประชาชน เพราะไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนตั้งแต่ต้น ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเองเป็นหนึ่งในองค์กรหรือกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ถูกตั้งคำถามตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้นมา

แม้มีการแยกอำนาจ 3 ฝ่าย แต่ไม่ได้แตะต้องศาลเลย จึงทำให้บุคลากรในศาลเป็นกลุ่มอภิสิทธิ์ชน เป็นอีกชนชั้นในสังคมในความหมายที่มีสำนึกและผลประโยชน์ร่วมกันเป็นเครือข่ายเส้นสายถึงลูกหลานในแวดวงด้วย 

รศ.อนุสรณ์ ระบุว่าศาลรัฐธรรมนูญรวมถึงศาลยุติธรรมไม่ได้ทำหน้าที่ตามที่ควรจะเป็น แต่กลับเป็นองค์กรขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตย ดูจากการยุบพรรคการเมือง ตัดสิทธิ์นายกรัฐมนตรีและเข้ามาใช้อำนาจที่เกี่ยวข้องกับการเมือง พร้อมกันนี้เสนอว่าสิ่งที่จะต้องเปลี่ยนแปลง คือการลดความศักดิ์สิทธิ์ของศาล ให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ง่าย รวมถึงการให้มีระบบลูกขุนในการพิจารณาคดีด้วย