ไม่พบผลการค้นหา
ชวนอ่าน The Godfather นวนิยายที่ไม่ได้ชวนให้ไปอ่านแต่ลองไปละเมียดละไม เหมือนซด ‘เอสเปรซโซ’ อิตาลีดีๆ แก้วนึง

ไม่สามารถพูดได้จริงๆ ว่าชอบหนังสือเล่มนี้ แต่ ‘เดอะ ก๊อดฟาเธอร์’ ก็มีเรื่องราวที่คุ้มค่าแก่การตะบี้ตะบันอ่านด้วยเวลาอันรวดเร็วท่ามกลางการกักตัวที่ชวนให้มัวหมอง แต่ก็ต้องสรุปว่าไม่ชอบนั่นแหละถูกแล้ว 

นวนิยายชื่อก้องโลกที่ถูกแต่งขึ้นในปี 2512 และได้รับการยกย่องรวมถึงความเคารพจากหลายคน ไม่ได้ทำให้เราคาดเดาเส้นเรื่องไม่ได้ขนาดนั้น แต่ก็นั่นแหละ เส้นเรื่องก็แค่ส่วนนึง เนื้อเรื่องต่างหากที่สำคัญและมันก็มีทั้งสเน่ห์และเรื่องน่ารำคาญใจไปพร้อมๆ กัน หากว่ากันตามตรงสิ่งที่ทำให้เราอ่านจบน่าจะเป็นตัวละครมากกว่า

คงจะเป็นการเสียมารยาทไม่น้อยถ้าจะเอา ‘ดอนผู้ยิ่งใหญ่’ ไปไว้ท้ายสุด (หรือใครๆ เขาทำกันอย่างนั้น) แต่เอาเข้าจริงที่อยากเขียนถึงดอนก่อนก็เพราะเราแค่รู้สึกเบื่อหน่ายตัวละครที่ถูกสร้างมาให้มีความหน้าเกรงขามอย่างออกจะเกินจริงไปหน่อยตามรสนิยมส่วนตัว อย่างไรก็ตาม เมื่อตัดความรู้สึกออกไป ตัวละครแบบ ‘ดอน วีโต คอร์เลโอเน’ ไม่ได้มีอะไรผิดแปลกไปจากตัวเอกทั่วๆ ไปเลย คือเติบโตมาด้วยการถูกกดขี่ และเมื่อถึงจุดนึงก็เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นจากไอขี้แพ้ จากหนุ่มผู้เงียบขรึม หรือจากบุคคลไร้ตัวตน เสกสรรค์ปั้นแต่งตัวเองขึ้นมาผ่านการทำธุรกิจแบบการซื้อใจ 

หัวเด็ดตีนขาดเราก็ไม่เชื่อว่าดอนเชื่อในมิตรภาพ ไม่มีทาง (ส่วนเรื่องรักครอบครัวนั่นไม่เถียง) ดอนเชื่อในพลังอำนาจที่จะได้มาจากการมีมิตรภาพ ซึ่งให้ตายเถอะ เรารู้สึกจะอ้วกเล็กน้อยกับคำว่า ‘มิตรภาพ’ ที่มันจอมปลอมเหลือเกิน ไม่มีตัวละครใดที่มาขอความช่วยเหลือจากดอนไม่แสดงความหวาดกลัวออกมา แม้แต่ ‘อเมริกา โบนาเซรา’ ที่ได้รับเกียรติมาดูแลศพดอนผู้ยิ่งใหญ่ในตอนท้ายก็ตาม ซึ่งเหล่านี้แสดงออกมาอย่างชัดเจนแล้วตั้งแต่ตอนที่หนังสือเล่าไปถึงจุดเปลี่ยนของดอน และตอนที่เขารู้ว่าชีวิตของเขาต้องการอะไร เพราะการเป็นใหญ่ไม่ได้ต้องการมิตรภาพแต่ต้องการความกลัวที่มีบาลานซ์เพียงพอในการเทิดทูนและไม่หักหลัง มันก็เท่านั้น

สิ่งเหล่านี้ยังถูกถ่ายทอดยังดอนคนที่สองอย่างเข้มข้น ‘ไมเคิล คอร์เลโอเน’ ทั้งการหล่อเลี้ยงมิตรภาพที่ได้โชว์ออกมาในช่วงที่เดินทางไปยังลาสเวกัสไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยเรื่อง ‘มิตรภาพ’ กับหมอทำแท้งผู้นั้น รวมไปถึงเหตุการณ์ในช่วงการสู่ขอสาวซิซิลีผู้โชคร้ายคนนั้น 

ทั้งนี้ ตัวละครที่เราอยากเขียนถึงมากที่สุด! และจะโทษว่าทำให้เราไม่สามารถเอ่ยได้ว่าชอบนวนิยายเล่มนี้ก็คือ ‘เคย์ อดัม’ 

เป็นไปไม่ได้เลยที่มองเข้าไปจากสายตาของเราแล้วจะเห็นใจผู้หญิงแบบเคย์ ให้ตายเถอะ ชีวิตของเธอมั่นก็น่าสงสารและ แต่มันน่ารำคาญเสียมากกว่า ยิ่งช่วงสุดท้ายของหนังสือยิ่งทำให้เรารู้สึกอยากเขวี้ยงมันทิ้งไปสะไกลๆ (แต่เล่มนี้ดันยืมคนอื่นมาอ่านสะอีก) เพราะเธอเลือกยอมรับกับความเจ็บปวดที่ตัวเองเดินเข้าไปหาเอง และก็เจ็บปวดเองไม่สิ้นสุดอยู่ตรงนั้น 

จริงอยู่ที่ไม่มีความเท่าเทียมหรือความเสมอภาคของเพศใดๆ ทั้งสิ้นในนวนิยายเรื่องนี้ จะด้วยความพยายามชูความเป็นใหญ่ของเหล่าก๊อดฟาเธอร์ หรือเพราะมันเป็นเช่นนั้นในสังคมจริงๆ ก็ไม่รู้ด้วย แต่สรุปว่ามันไม่มีมาตลอดทั้งเรื่อง และ ‘เคย์ อดัม’ อเมริกันชนผู้แสดงออกถึงความอยากรู้อยากเห็นและเถียงหาสาเหตุบ้างก็ทำให้ผิดหวังเอามากๆ ที่เลือกจะทิ้งสิ่งเหล่านั้นไปแม้จะไม่สิ้นเชิงในตอนแรก แต่ก็แพ้ราบคาบในตอนสุดท้าย 

เนื่องจากนี่ออกจะเป็นการวิจารณ์มากกว่าเป็นการรีวิวหนังสือ ซึ่งเราก็ไม่ได้มีเป้าหมายในการตั้งหน้าตั้งตารีวิวหนังสือเรื่องใดๆ ก็ตามอยู่แล้ว เราก็เลยขอสรุปตรงนี้ถึงสาเหตุที่เราไม่ชอบหนังสือดีๆ เล่มนี้คือแกนหลักของเรื่องมันทำให้เรารู้สึกหงุดหงิดกับความพยายามสร้างภาพกับคำสวยหรูและทำให้คนเชื่อว่าตัวละครเชิดชู ‘มิตรภาพ’ จริงๆ ซึ่งมันโคตรโกหก กับเรายืนยันนั่งยันนอนยันว่าเกลียดความไม่เสมอภาคในหนังสือเล่มนี้ (ในโลกแห่งความจริงด้วย) 

เราสำนึกว่ามองเข้าไปจากสายตาคนนอกและจากห้วงเวลาที่ต่างกัน แต่เพราะนี่คืองานวิจารณ์ นี่จึงเป็นคำวิจารณ์ก็เท่านั้น ทั้งนี้และทั้งนั้น เรายังเต็มใจที่จะเชื้อเชิญให้ลองไปหาอ่านกันอยู่ดี อย่างไรเสีย นี่ก็คือนวนิยายเล่มเอกเล่มหนึ่งของโลก