ไม่พบผลการค้นหา
วงเสวนา มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจการเมืองไทย 'เกษียร' ชี้ประเทศเผชิญวิกฤต ชนชั้นนำไม่ยอมให้เสียงข้างมากมีส่วนแบ่งอำนาจ การเลือกตั้งไม่ตรงเจตนารมณ์เสียงส่วนใหญ่ - 'วรรณภา' ย้ำกับดัก รธน. ให้อำนาจกระจุกกลุ่มเดียว

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดเสวนา “มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจการเมืองไทย : กับดักหรือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” เนื่องในงานครบรอบ 70 ปี การสถาปนาคณะรัฐศาสตร์ โดยศาสตราจารย์ เกษียร เตชะพีระ จากคณะรัฐศาสตร์ มธ. ระบุว่า จะจินนาการถึงอนาคตได้ด้วยการมองอดีต ซึ่งนับแต่ยุครัชกาลที่ 5 การอภิวัฒน์ 2475 และยุคโลกาภิวัฒน์หลังสงครามเย็น จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจก่อน ตามด้วยระบบหรือสภาพสังคม จากนั้นการเมืองและระบอบปกครองจึงเปลี่ยนตามมา โดยอำนาจในสังคมได้ย้ายจากชนชั้นสูงและขุนนางมาสู่ระบบราชการและชนขั้นกลางตามลำดับและปัจจุบันอำนาจกำลังจะย้ายสู่ชนชั้นกลางระดับล่างและระดับรากหญ้าซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในประเทศ ซึ่งทั้งหมดถือเป็นบกบทเรียนจากการเคลื่อนย้ายอำนาจในรัฐไทย

ศาสตราจารย์ เกษียร ยืนยันว่า การที่ประเทศไทยเผชิญวิกฤตเพราะชนชั้นนำไม่ยอมให้เสียงข้างมากใหม่ที่เติบโตขึ้นจากระบบเศรษฐกิจได้มีส่วนแบ่งทางอำนาจ และการเลือกตั้งครั้งล่าสุดของไทยได้พิสูจน์แล้วว่า การจัดตั้งรัฐบาลไม่ตรงตามเจตจำนงของคนส่วนใหญ่ ขณะที่สถาบันสำคัญโดยเฉพาะองค์กรอิสระและรัฐสภา ที่ระบบเสรีนิยมสร้างขึ้นเพื่อจำกัดและตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐ ถูกชนชั้นนำบิดเบือนไปใช้ประโยชน์ ทำให้เสียงข้างมากไม่มีอำนาจปกครองตามที่ควรจะเป็น

แนะกลุ่มพลังใหม่เปลี่ยนย้ายอำนาจ ผลักดันผ่านเลือกตั้ง

ศาสตราจารย์ เกษียร เชื่อว่า แสงสว่างที่ปลายอุโมงจะเกิดขึ้นได้ โดยกลุ่มพลังใหม่จะใช้วิธี เปลี่ยนย้ายอำนาจที่สอดคล้องกับสภาพการเมืองที่เป็นจริง ผลักดันผ่านการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ที่คณะราษฎรทำไม่ได้ในอดีต กลุ่มทุนจับมือกับมวลชนเสียงข้างมากเพื่อปฏิรูปสังคมซึ่งทำได้ยาก แต่เสียหายน้อยกว่าการปฏิวัติด้วยความรุนแรง สถาบันทางอำนาจทั้งหลายของสังคมการเมืองย่อมผันแปรตามทิศทางของกระบวนการเคลื่อนย้ายอำนาจที่ใหม่และใหญ่กว่า พรรคการเมืองที่ก้าวหน้าจะขึ้นกุมอำนาจรัฐและต่อกรกับพลังอนุรักษ์นิยมได้ในที่สุด และระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขจะมั่นคงควบคู่กับการเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจการเมือง 

ยกกับดัก รธน. ออกแบบให้อำนาจกระจุกกลุ่มเดียว ไร้ประชาธิปไตย

ขณะที่ ผศ.วรรณภา ติระสังขะ จากคณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า กับดักที่สำคัญของการเมืองไทย คือ รัฐธรรมนูญที่ประชาชนไม่ศรัทธาและไม่มีคุณค่าในความเป็นกฎหมายสูงสุด เนื่องจากการออกแบบมาให้อำนาจตกอยู่ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยและถูกฉีกทิ้งได้ง่ายหรือมีการรัฐประหารบ่อย ซึ่งทั้งหมดส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจด้วย และการมีรัฐธรรมนูญไม่ได้แปลว่าประเทศมีประชาธิปไตยหรือนิติรัฐแต่อย่างใด 

ผศ.วรรณภา เสนอว่า ต้องมีหวังกับรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นเครื่องมือออกแบบทางการเมืองไทยให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น พร้อมเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ผ่านกลไกรัฐสภา การทำประชามติ รวมทั้งอำนาจของคณะรัฐมนตรี และอื่นๆ ซึ่งการออกแบบกฎหมายสูงสุดต้องมี 3 องค์ประกอบเป็นอย่างน้อย คือ ต้องไม่ให้เป็นตัวปัญหาหรือสร้างเงื่อนไขความขัดแย้ง มีดุลยภาพระหว่างอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการที่สามารถตรวจสอบได้ ต้องแก้ปัญหาในอดีตได้ และต้องมีเครื่องมือเป็นกลไกแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดในอนาคตได้ อย่างช่องทางการออกเสียงประชามติ รวมถึงสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เพื่อให้รัฐธรรมนูญมีกลไกป้องกันตัวเอง แต่ที่ผ่านมาแม้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่ก็ถูกบิดเบือนไปในทิศทางตรงกันข้าม 

นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ มอง ศก.โตช้าเหตุโครงสร้างรัฐไทยรวมศูนย์อำนาจ

ด้าน รศ.อภิชาต สถิตนิรามัย จากคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ระบุว่าเศรษฐกิจไทยโตช้า เพราะภาคอุตสาหกรรมที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก สูญเสียความสามารถในการแข็งขัน ปรับตัวจากที่เคยใช้แต่แรงงานและทรัพยากรหรือขายสินค้าราคาถูกไม่ได้ เมื่อค่าแรงสูงขึ้น การลงทุนจากต่างชาติและทุนไทยก็ย้านฐานไปประเทศที่ค่าแรงถูกกว่า สะท้อนว่าภาคอุตสาหกรรมไทยไม่สามารถปรับตัวและดึงแรงงานจากภาคเกษตรที่ถือว่าโตเกินไปออกมาสู่ภาคอุตสาหกรรมได้ ทั้งโครงสร้างพื้นฐานไม่เอื้อและไม่มีช่องทางการลงทุนในประเทศ นอกเหนือจากปัญหาความเหลื่อมล้า ทางเศรษฐกิจและ คุณภาพทางการศึกษา  

รศ. อภิชาต กล่าวว่าปัญหาทั้งหมดเกิดจากโครงสร้างของรัฐไทยเอง ขณะที่การลงทุนภาครัฐของไทยกลับสร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจให้ขยายกว้างขึ้น แทนที่จะกระจายมั่งคั่งหรือช่วยลดความเหลื่อมล้ำเหมือนหลายๆประเทศ โดยเห็นว่า ที่เป็นเช่นนั้นเพราะการรวมศูนย์อำนาจ

ศาสตราจารย์อารยะ ปรีชาเมตตา จากคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า กลุ่มทุนและกลุ่มการเมืองอนุรักษ์นิยมที่กุมอำนาจรัฐปัจจุบัน ใช้แผนไทยแลนด์ 4.0 เป็นวิธีในการก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และไม่ต้องการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมที่ตัวเองได้เปรียบ ขณะที่กลุ่มทุนและกลุ่มการเมืองเสรีนิยม เชื่อว่าไม่ต้องทำตามปผน 4.0 ทั้งหมด และต้องเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งภาวะของการต่อสู้เปลี่ยนแปลงการถือครองอำนาจนี้ ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำของสังคมในอนาคตด้วย