ไม่พบผลการค้นหา
ปมเสียบบัตรแทนกันของ ส.ส.ซีกรัฐบาลในระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท กำลังกลายเป็นหอกทิ่มแทงรัฐบาลอยู่ขณะนี้ จากการเปิดเผยของพรรคประชาธิปัตย์ นำไปสู่การตรวจสอบเปิดโปงภาพเหตุการณ์การเสียบบัตรแทนกันในสภาฯ ของทีวีสีช่อง 7 และการไล่บี้ของฝ่ายค้าน

เมื่อฝ่ายค้านและรัฐบาลไม่ต้องการให้เกิดข้อครหาในกระบวนการตรากฎหมายซึ่งถือเป็นกฎหมายสำคัญในการผลักดันเม็ดเงินลงทุนต่างๆ ให้โครงการพัฒนาประเทศได้ขยับไปข้างหน้า

ฝ่ายค้านและรัฐบาลต่างเข้าชื่อส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาวินิจฉัย

พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้ร้อง คือ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านฯ และส.ส.เชียงใหม่ ยื่นคำชี้แจงเป็นหนังสือต่อศาลภายในวันที่ 4 ก.พ.นี้  

พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง คือ นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย น.ส.ภริม พูลเจริญ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ และนายสมบูรณ์ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย (ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีการเสียบบัตร ส.ส.แทนกันในสภาฯ) ยื่นคำชี้แจงเป็นหนังสือพร้อมข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 4 ก.พ.นี้ 

โดย 'วิรัช' ในฐานะประธานวิปรัฐบาลมองว่า กระบวนการตราร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเพื่อให้ร่าง พ.ร.บ. นี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและระเบียบการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร ตนและ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลได้เข้าชื่อเพื่อนำส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 1.กระบวนการตราร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา มาตรา 120

หากขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ จะถือว่าร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ตกไปทั้งฉบับหรือเฉพาะมาตราที่มีการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ลงคะแนนแทน และถือว่าการตราร่าง พ.ร.บ. ไม่แล้วเสร็จภายใน 105 วันตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ 

หากร่าง พ.ร.บ. ตกไปทั้งฉบับ หรือตกไปเฉพาะมาตรา ต้องดำเนินการต่อไปอย่างไร

วิรัช วิปรัฐบาล ศุภชัย .jpg

เมื่อเปิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 143 กำหนดให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎรจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 105 วันนับแต่วันที่ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมาถึงสภาผู้แทนราษฎร หากสภาฯ พิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้ถือว่าสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบกับ พ.ร.บ.นั้น และให้เสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวต่อวุฒิสภาเพื่อพิจารณา

เมื่อถึงขั้นตอนของวุฒิสภาจะต้องให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบภายใน 20 วันนับแต่วันที่ร่าง พ.ร.บ.มาถึงวุฒิสภา โดยจะแก้ไขเพิ่มเติมใดๆ มิได้ ถ้าพ้นกําหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าวุฒิสภาเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.นั้น ในกรณีเช่นนี้และในกรณีที่วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ

แต่ถ้าวุฒิสภาไม่เห็นชอบด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ให้นําความในมาตรา 138 วรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยให้สภาผู้แทนราษฎรยกขึ้นพิจารณาใหม่ได้ทันที

สำหรับมาตรา 138 วรรคสองกำหนดว่า ถ้าสภาผู้แทนราษฎรลงมติยืนยันร่างที่ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรหรือร่างที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ให้ถือว่าร่าง พ.ร.บ.นั้นเป็นอันได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา และให้ดําเนินการต่อไปตามมาตรา 81

อีกทั้ง มาตรา 148 ยังระบุด้วยว่า ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนําร่าง พ.ร.บ.ใดขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยตามมาตรา 81 หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันมีจํานวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี แล้วให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับความเห็นดังกล่าวส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยไม่ชักช้า

มาตรา 148 ยังกำหนดด้วยว่า ในระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีจะนําร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยมิได้ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.นั้นมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และข้อความดังกล่าวเป็นสาระสําคัญ ให้ร่าง พ.ร.บ.นั้นเป็นอันตกไป

แต่ในกรณีถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.นั้นมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่มิใช่กรณีที่เห็นว่าร่าง พ.ร.บ.นั้นมีข้อความขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และเป็นข้อความสาระสำคัญให้ข้อความที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป และให้นายกรัฐมนตรีดําเนินการต่อไปตามมาตรา 81

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญ นุรักษ์

สำหรับทางออกที่พอเป็นไปได้ในการวินิจฉัยชี้ขาดว่า ร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ พ.ศ.2563 จะเป็นโมฆะ หรือไม่เป็นโมฆะนั้น

นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ ซึ่งเชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายข้อกฎหมายและความเป็นไปได้ผ่าน 'วอยซ์ ออนไลน์'ว่า กระบวนการที่เกิดขึ้นมีภาพปรากฎผ่านสื่อมวลชนว่า ส.ส.รัฐบาลมีการเสียบบัตรแทนกัน ขณะเดียวกัน ส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐ ก็แถลงข่าวยอมรับว่ากระบวนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ นั้น เป็นการช่วยกันลงคะแนน

ซึ่งปรากฎเป็นหลักฐานจากคำแถลงของ 'ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์' ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งแถลงชี้แจงพร้อมกับ 'ภริม พูลเจริญ' ส.ส.สมุทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ ว่า 

"ไม่มีการเสียบแทนกัน แต่เพียงครั้งเดียว ถ้าไม่ได้เข้าไปนั่งด้วยตัวเองจะไม่มีทางรู้เลยว่าการกดมันยากจริงๆ เป็นอุบัติเหตุ ส่วนเรื่องข้อกฎหมายเป็นเรื่องของการตีความ เราไม่ได้ตัดสินว่าถูกหรือผิด ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการลงคะแนนแทนกันแต่เป็นการช่วยกันลงคะแนน"

ชัยวุฒิ ทศพล พรรคพลังประชารัฐ หุ้นสื่อ 221_560836202446454784_n.jpg

นักวิชาการคนดังกล่าว มองว่า ขั้นตอนการตรากฎหมายงบประมาณได้ผ่านทั้ง สภาผู้แทนราษฎร และผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภาไปแล้ว และเป็นขั้นตอนที่กำลังอยู่ระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย ซึ่งเป็นการพบปัญหาภายหลังที่มีการลงมติเห็นชอบผ่านสองสภาไปแล้ว

ซึ่งก่อนหน้าที่จะยื่นตีความศาลรัฐธรรมนูญ ทางรัฐบาลไม่เลือกใช้แนวทางให้วุฒิสภาโหวตคว่ำร่าง พ.ร.บ.แล้วตีกลับมาให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติยืนยันด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เพื่อให้รัฐสภาเห็นชอบกับร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ซึ่งเป็นการลงมติใหม่ ทำมติให้ถูกต้อง

"การตีความของศาลรัฐธรรมนูญ จึงไม่น่ามีทางออกให้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นโมฆะหรือตกเป็นไปทั้งฉบับ เพราะเท่ากับเริ่มต้นนับหนึ่งเสนอร่าง พ.ร.บ.งบฯ เข้าสู่สภาฯ ใหม่ แต่คาดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยโดยสั่งให้สภาผู้แทนราษฎรไปทำกระบวนการลงมติให้ถูกต้องเสียใหม่ คือให้แก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นให้ถูกต้องในวาระที่ 3 ด้วยการลงมติในวาระ 3 ใหม่อีกครั้ง เพราะการยื่นตีความครั้งนี้เป็นการตีความถึงกระบวนการตรากฎหมาย ไม่ใช่การลงในรายละเอียดของเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.ว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ" 

พลังประชารัฐ ประชุมสภา

นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ คนเดิม ยังมองว่า "ศาลคงไม่เล่นมัดคอตัวเองด้วยตีความให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ตกไปทั้งฉบับ เพราะจะเป็นเรื่องใหญ่มาก ซึ่งมีผลให้รัฐบาลถูกฝ่ายค้านนำมาเป็นประเด็นโจมตีให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกหรือยุบสภา รัฐบาลก็มองทางออกมาแล้วเลยต้องยืมมือศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้กลับมาลงมติให้ถูกต้อง"

ขณะเดียวกัน ศาลอาจมองอีกทางหนึ่ง ขั้นตอนการตรากฎหมายเสียตรงไหนก็ให้แก้ไขตรงนั้นแล้วให้สภาฯ โหวตใหม่ ก่อนนำมาเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อเห็นชอบ ซึ่งไม่ได้กระทบกับกรอบเวลา 105 วันที่ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จ แม้ตอนนี้ พ.ร.บ.งบฯ ปี 2563 จะยังไม่บังคับใช้ แต่กฎหมายก็กำหนดให้ใช้งบฯ ปี 2562 ไปพลางก่อนได้ในส่วนของเงินเดือนข้าราชการ แต่งบลงทุนจะไม่สามารถใช้ได้

"ต้องไม่ลืมว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 211 ให้คําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระและหน่วยงานของรัฐ"

นักวิชาการยังมองว่า ส่วนกรณีที่มี ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน และกรณีที่ ส.ส.มิได้อยู่ในที่ประชุมสภาฯ แต่มีชื่อปรากฎว่าลงมติในร่างพ.ร.บ.งบฯ นั้น กรณีนี้เป็นเรื่องที่จะต้องว่ากันต่อไปในส่วนคดีทางอาญา ซึ่งในอดีตก็เคยมีบรรทัดฐานในการวินิจฉัยว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของ ส.ว. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จากการที่ ส.ส.มีการเสียบบัตรแทนกันในรัฐสภา

งบประมาณ ประชุมสภา_200108_0008.jpgอุตตม ชลน่าน กรรมาธิการ งบประมาณ ประชุมสภา_200108_0010.jpg

เพราะหากดูตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 114 กำหนดไว้ว่า "สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงําใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์"

ขณะที่มาตรา 120 กำหนดด้วยว่า สมาชิกคนหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งในการออกเสียงลงคะแนน ถ้ามีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธาน ในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

นี่จึงเป็นบทบัญญัติที่ต้องได้รับการพิสูจน์อีกครั้งจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ถึงเหตุแห่งการกระทำที่ส.ส.ซีกรัฐบาลได้ยอมรับแล้วว่า เป็นการช่วยกันลงคะแนนเท่านั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง