ไม่พบผลการค้นหา
สถานการณ์ตึงเครียดทางการเมือง-สิ่งแวดล้อม-เศรษฐกิจ เป็นสาเหตุหลักที่ผลักดันให้คนหลายประเทศออกมารวมตัวประท้วงช่วงเดือนตุลาคม โดยบางกรณีเกิดการปะทะรุนแรงตามมา จนมีผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บจำนวนมาก

เดือนตุลาคม 2019 เป็นช่วงที่มีการชุมนุมเรียกร้องเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ เกิดขึ้นหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งการรวมตัวในแต่ละที่ก็มีเหตุผลเบื้องหลังที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นความไม่พอใจต่อการแทรกแซงทางการเมือง ความไม่เอาจริงเอาจังเรื่องการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจชะลอตัว การใช้อำนาจในทางมิชอบของรัฐบาล รวมถึงความไม่พอใจต่อกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม

สื่อต่างประเทศรายงานสถานการณ์เหล่านี้อย่างเกาะติด เพราะบางเรื่องดำเนินมาอย่างต่อเนื่องหลายสัปดาห์ จนกระทั่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน และบางเหตุการณ์เป็นการรวมตัวกันครั้งใหญ่ของเครือข่ายประชาชนในหลายประเทศ ขณะที่บางกรณีเป็นการปะทุความรุนแรงซึ่งต้องจับตามองว่าจะลุกลามไปเป็นความขัดแย้งและการสูญเสียเลือดเนื้อในอนาคตหรือไม่ 


การประท้วง 'ฮ่องกง' ยกระดับจนต้องประกาศกฎหมายฉุกเฉิน

กลุ่มผู้ชุมนุมชาวฮ่องกงที่เริ่มต้นจากการรวมตัวต่อต้านกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อเดือน มิ.ย. ได้ขยายข้อเรียกร้องไปสู่การปฏิรูปประชาธิปไตยและต่อต้านการแทรกแซงของรัฐบาลจีนที่มีต่อคณะผู้บริหารฮ่องกง ทำให้เกิดการปะทะรุนแรงระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากรัฐบาลฮ่องกงยืนกรานไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้องต่างๆ ของผู้ชุมนุม

'แคร์รี่ หล่ำ' ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง ได้ประกาศใช้บทบัญญัติมาตรการฉุกเฉินเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ตรงกับวันครบรอบ 70 ปีการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน Reuters-ผู้สื่อข่าวได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยางในการประท้วงฮ่องกง.JPG

  • ผู้สื่อข่าวถูกลูกหลงได้รับบาดเจ็บจากการชุมนุมประท้วงในฮ่องกง

สิ่งแรกที่รัฐบาลฮ่องกงทำหลังประกาศใช้มาตรการฉุกเฉิน คือ การสั่งแบนหน้ากาก ซึ่งเท่ากับเป็นการบีบให้ผู้ชุมนุมกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยเปิดเผยใบหน้าของตัวเองขณะชุมนุมเรียกร้องต่อรัฐบาล ทำให้มีผู้เกรงว่ารัฐบาลจีนและฮ่องกงจะเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ประท้วงเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ซึ่งเป็นก้าวแรกที่อันตราย เพราะหากการห้ามหน้ากากใช้ไม่ได้ผล ก็อาจมีการยกระดับไปใช้มาตรการที่เข้มงวดขึ้น เช่น การเคอร์ฟิวห้ามออกจากที่พักอาศัยในเวลาที่กำหนด และการจำกัดเสรีภาพพลเมืองอื่นๆ 

นอกจากนี้ นักวิชาการด้านความสัมพันธ์จีน-ฮ่องกง ยังเตือนด้วยว่า บทบัญญัติมาตรการฉุกเฉินเป็นมรดกตกทอดมาจากช่วงอาณานิคม จึงให้อำนาจกับผู้บริหารฮ่องกง 'มากเกินไป' ในการกำหนดมาตรการฉุกเฉินต่างๆ และหล่ำก็ตอบสนองข้อกังวลนี้ด้วยการประกาศว่า รัฐบาลฮ่องกงอาจพิจารณาเปิดทางให้หน่วยงานความมั่นคงของจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามา 'ควบคุมความสงบ' ในกรณีที่ผู้ชุมนุมก่อเหตุ 'จลาจล'

Reuters-ประท้วงฮ่องกง.JPG

กลุ่มขบถต้านการสูญพันธ์ 'Extinction Rebellion' รวมตัว (เกือบ) ทั่วโลก

การรวมตัวของเครือข่าย Extinction Rebellion หรือ XR ถือเป็นขบวนการทางสังคมที่เกิดจากกลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งเริ่มรวมตัวเคลื่อนไหวพร้อมกันตั้งแต่ 7 ต.ค. เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลของแต่ละประเทศบังคับใช้หรือเสนอมาตรการอย่างจริงจังในการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ยังมีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลแต่ละประเทศจริงจังเรื่องการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนซึ่งถูกปล่อยจากโรงงานต่างๆ ไปสู่ชั้นบรรยากาศ รวมถึงมาตรการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และการแก้ปัญหาตัดไม้ทำลายป่าเพื่ออุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งถือเป็นต้นตอของการเผาทำลายพื้นที่ป่าเพื่อเตรียมเพาะปลูก

ขบวนการ XR ขับเคลื่อนโดยกลุ่มนักสิ่งแวดล้อมในสหราชอาณาจักร ซึ่งส่งต่อแนวคิดและหาเครือข่ายในประเทศต่างๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนมีกลุ่มนักอนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อมในหลายประเทศร่วมขบวนประท้วงด้วยจำนวนมาก โดยจุดที่จัดการชุมนุมในปีนี้เกิดขึ้นตามสถานที่สำคัญของมหานครใหญ่หลายแห่งใน 60 ประเทศทั่วโลก เช่นนิวยอร์ก (สหรัฐอเมริกา) เวียนนา (ออสเตรีย) ซิดนีย์ (ออสเตรเลีย) ปารีส (ฝรั่งเศส) เบอร์ลิน (เยอรมนี) โตรอนโต (แคนาดา) มาดริด (สเปน) โรม (อิตาลี) บัวโนสไอเรส (อาร์เจนตินา) อิสตันบูล (ตุรกี) อัมสเตอร์ดัม (เนเธอร์แลนด์)

Reuters-เกรตา ธันเบิร์ก-เกรียตา ธืนแบร์ก-นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม.JPG
  • เกรียตา ธืนแบร์ก ร่วมการชุมนุมด้านสิ่งแวดล้อมที่สหรัฐฯ (บน) และกลุ่มผู้ชุมนุมเครือข่าย XR ในกรุงลอนดอนของอังกฤษเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ (ล่าง)
Reuters-ผู้ชุมนุมกลุ่ม Extinction Rebellion เครือข่ายสิ่งแวดล้อม รวมตัวเรียกร้องการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงและภาวะโลกร้อนหน้าอาคารเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน UK.JPG

จุดที่มีการเคลื่อนไหวมากที่สุดคือกรุงลอนดอนของอังกฤษ ซึ่งนักเคลื่อนไหวชุมนุมหน้ารัฐสภาและสถานที่สำคัญต่างๆ รวม 11 แห่ง 

ส่วน 'เกรียตา ธืนแบร์ก' หรือ 'เกรตา ธันเบิร์ก' นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดน วัย 16 ย่าง 17 ปี ยังอยู่ระหว่างเดินทางเยือนสหรัฐฯ และเป็นผู้หนึ่งที่เข้าร่วมการรณรงค์เรียกร้องความเปลี่ยนแปลงทางนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ให้กลับเข้าสู่กรอบความตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงและภาวะโลกร้อน

ส่วนการชุมนุมที่มีผู้สนใจมากที่สุดคือการรวมตัวของเครือข่าย XR ที่ย่านวอลล์สตรีท ซึ่งเป็นถนนสายเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ และถูกเปรียบว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งโลกทุนนิยมที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม

กลุ่ม XR ระบุด้วยว่า ผู้จัดกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมถูกจับกุมในหลายประเทศ รวมแล้วหลายร้อยคน แต่ยืนยันว่าเครือข่ายที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลกจะเดินหน้ารณรงค์ให้สังคมของตนได้ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ต่อไป


'เอกวาดอร์' ประท้วงใหญ่ในรอบทศวรรษ จนรัฐบาลต้อง 'หนี'

คนขับแท็กซี่ รถเมล์ และรถบรรทุก หลายพันคน รวมตัวปิดถนนในกรุงกีโต เมืองหลวงของเอกวาดอร์ และเมืองกัวยากิล เมื่อ 3 ต.ค. เพื่อประท้วงที่รัฐบาลประกาศยกเลิกการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงในประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิรูปการคลังของรัฐบาล

มาตรการดังกล่าวมีผลให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นกือบเท่าตัว โดยราคาน้ำมันดีเซลจากเดิมอยู่ที่แกลลอนละ 1.03 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 31.33 บาท) สูงขึ้นเป็น 2.30 ดอลลาร์ฯ (ราว 69.97 บาท) ส่วนราคาแก๊สโซลีนหรือน้ำมันเบนซินทั่วไป สูงขึ้นจาก 1.85 ดอลลาร์ฯ (ราว 56.28 บาท) เป็น 2.40 ดอลลาร์ฯ (ราว 73.01 บาท) 

หลังจากนั้นไม่นาน ประชาชนกลุ่มอื่นๆ ทั้งนักเรียน นักศึกษา และสมาชิกสหภาพแรงงาน ทยอยเดินทางมาร่วมการชุมนุม ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมาของเอกวาดอร์

ผู้ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนคำสั่งยกเลิกการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิง เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจของประเทศหยุดชะงัก

Reuters-ชาวเอกวาดอร์รวมตัวประท้วงต่อต้านรัฐบาล.JPG
  • ผู้ชุมนุมชาวเอกวาดอร์นำรถบรรทุกขนาดใหญ่มาจอดขวางเพื่อปิดกั้นการจราจร ไม่ให้ตำรวจเข้าใกล้

การรวมตัวครั้งนี้ทำให้เกิดการเผาทรัพย์สินสาธารณะ รวมถึงการขว้างปาของแข็งใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ นำไปสู่การตอบโต้ด้วยแก๊สน้ำตาและการส่งรถหุ้มเกราะไปตรึงกำลังตามท้องถนนต่างๆ แต่ผู้ขับขี่ยานยนต์จำนวนมากนำรถบรรทุกมาจอดขวางทาง ทำให้ 'เลนิน โมเรโน' ประธานาธิบดีเอกวาดอร์ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

นอกจากนี้ ปธน.โมเรโนยังออกคำสั่งให้รัฐบาลย้ายที่ทำการชั่วคราวจากกรุงกีโตไปยังเมืองกัวยากิลในวันที่ 8 ต.ค. เพื่อหลีกเลี่ยงแรงกดดันจากกลุ่มผู้ชุมนุมที่บุกเข้าไปยังทำเนียบรัฐบาล พร้อมทั้งประกาศว่าจะรวมตัวเคลื่อนไหวต่อไปจนกว่ารัฐบาลจะระงับแผนยกเลิกมาตรการอุดหนุนเชื้อเพลิง

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ประเมินว่ารัฐบาลเอกวาดอร์ไม่สามารถทำตามข้อเสนอของผู้ชุมนุมได้ เพราะการยกเลิกการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงเป็นหนึ่งในเงื่อนไขในการกู้ยืมเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ซึ่งระบุว่ารัฐบาลเอกวาดอร์จะต้องปฏิบัติตาม และการย้ายที่ทำการรัฐบาลเพื่อหลบเลี่ยงผู้ชุมนุม อาจนำไปสู่การก่อรัฐประหารโดยเครือข่ายอดีต ปธน.ที่เคยดำรงตำแหน่งมาก่อนโมเรโน


เกษตรกรยุโรปรวมตัวต่อต้านมาตรการสิ่งแวดล้อม 'เลือกปฏิบัติ'

เมื่อวันที่ 1 ต.ค. เครือข่ายเกษตรกรในเนเธอร์แลนด์หลายพันคน ขับรถแทร็กเตอร์และรถบรรทุกพืชผลทางการเกษตรจากหลายพื้นที่ทั่วประเทศ มุ่งหน้าไปยังรัฐสภาในกรุงเฮก เพื่อจะเรียกร้องให้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ทบทวนมาตรการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่พุ่งเป้าไปยังมาตรการลดการปล่อยก๊าซที่เป็นสาเหตุของภาวะเรือนกระจกและภาวะโลกร้อน ซึ่งกลุ่มเกษตรกรมองว่าเป็นนโยบาย 'เลือกปฏิบัติ'

การเคลื่อนขบวนยานยนต์เหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อการจราจรในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน 

Reuters-เกษตรกรชาวดัตช์ขับแทร็กเตอร์เข้ากรุงเฮกประท้วงนโยบายสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลที่เสนอปรับลดฟาร์มเลี้ยงวัว
  • เกษตรกรฟาร์มปศุสัตว์เคลื่อนขบวนไปยังกรุงเฮกเพื่อกดดันรัฐบาลให้ทบทวนมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม

เป้าหมายหลักที่เกษตรกรชาวดัตช์รวมตัวในครั้งนี้ เป็นการตอบโต้ที่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ประกาศว่าจะพิจารณาปรับลดหรือปิดฟาร์มเลี้ยงวัวขนาดใหญ่ในประเทศ เพราะฟาร์มวัวเป็นต้นตอปล่อยก๊าซมีเธนจำนวนมหาศาลต่อปี แต่การสั่งปิดฟาร์มปศุสัตว์จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของฟาร์มเลี้ยงวัวโดยตรง เกษตรกรที่ปลูกพืชที่เป็นอาหารสัตว์ และผู้ประกอบการร้านอาหารที่ใช้เนื้อเป็นวัตถุดิบหลัก 

กลุ่มผู้ประท้วงกล่าวว่า'อุตสาหกรรมการบิน' ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกและภาวะโลกร้อน แต่รัฐบาลกลับไม่มีมาตรการควบคุมหรือปรับลดปริมาณการบิน ถือว่าเข้าข่ายเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม

ขณะที่เครือข่ายเกษตรกรในฝรั่งเศสประกาศจว่าจะรวมตัวเคลื่อนไหวต่อต้านนโยบายตัดงบประมาณสวัสดิการสังคมของรัฐบาลฝรั่งเศสในวันที่ 8 ต.ค. โดยจะเป็นการเข้าร่วมประท้วงกับ 'กลุ่มเสื้อกั๊กเหลือง' ซึ่งชุมนุมต่อเนื่องเข้าสู่สัปดาห์ที่ 47 หลังจากที่ตอนแรกเป็นการประท้วงต่อต้านนโยบายขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของรัฐบาลฝรั่งเศส ก่อนจะลุกลามไปสู่การต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดทางเศรษฐกิจอื่นๆ

Reuters-ตำรวจฝรั่งเศสตรึงกำลังรักษาความสงบในกรุงปารีส หลังกลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองชุมนุมต่อเนื่อง
  • ตำรวจฝรั่งเศสที่เคยรับมือผู้ชุมนุมเสื้อกั๊กเหลือง ฆ่าตัวตายแล้ว 49 นายในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2019

นอกจากนี้ ตำรวจฝรั่งเศสนับร้อยนายประกาศเพิ่มเติมว่าจะจัดการชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยเช่นกัน หลังสถิติตำรวจฆ่าตัวตายในปีนี้เพิ่มเป็น 49 นายทั่วประเทศ และอาจมีสาเหตุเกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่ระหว่างการชุมนุมของกลุ่มเสื้อกั๊กเหลือง เพราะรัฐบาลไม่มีมาตรการคุ้มครองผู้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเพียงพอ เช่นเดียวกับกำลังพลที่มีจำนวนน้อย ทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บหลายราย 

ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อกั๊กเหลืองก็ใช้วิธีการหลายอย่างที่เข้าข่ายก่อกวนและก่อความไม่สงบ นำไปสู่การบาดเจ็บและเสียชีวิตของผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่ง


อิรักไล่นายกฯ บริหารล้มเหลว...

หลังจากผ่านสงครามต่อต้านก่อการร้ายและการก่อเหตุของกลุ่มติดอาวุธมานานกว่าทศวรรษ ประชาชนชาวอิรักก็ปะทุความไม่พอใจที่มีต่อรัฐบาลชุดล่าสุด ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอะเดล อับดุล มาห์ดี และมีการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบสิบปีเกิดขึ้นที่กรุงแบกแดดเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยสื่อต่างประเทศประเมินว่ามีผู้ร่วมการประท้วงหลายพันคน 

การรวมตัวเดินขบวนในตอนแรกทวีความรุนแรงขึ้น หลังจากที่กลุ่มผู้ประท้วงและตำรวจปะทะกัน โดยเจ้าหน้าที่ใช้กระสุนจริงยิงเข้าใส่กลุ่มผู้ประท้วง และมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2 ราย บาดเจ็บอีกประมาณ 286 ราย รวมถึงผู้ถูกจับกุมอีกประมาณ 40 คน 

Reuters-ประท้วงใหญ่ต้านรัฐบาลอิรัก ครั้งแรกในรอบสิบกว่าปี
  • ผู้ประท้วงในอิรักถูกเจ้าหน้าที่ตอบโต้ด้วยกระสุนจริง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย

ส่วนสาเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวอิรักรวมตัวประท้วงรัฐบาลและขับไล่นายกฯ อะเดล อับดุล มาห์ดี เป็นเพราะไม่พอใจที่รัฐบาลมีคำสั่งปลดนายพลซึ่งรับผิดชอบหน่วยต่อต้านก่อการร้าย และเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชน รวมถึงปัญหาเรื้อรังอื่นๆ ด้านเศรษฐกิจและภาวะว่างงาน ทั้งยังไม่สามารถฟื้นฟูระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้ดีขึ้นได้ตามที่เคยให้คำมั่นสัญญาไว้


และยังมีการลุกฮือเกิดขึ้นอีกหลายประเทศ...

ก่อนหน้านี้ในเดือนกันยายน ยังมีเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงในประเทศแถบตะวันออกกลางอื่นๆ อีก ได้แก่ เลบานอน เกิดการประท้วงรัฐบาลครั้งใหญ่ เพราะประชาชนไม่พอใจที่รัฐบาลที่ไม่สามารถควบคุมค่าเงินผันผวนได้ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

ขณะที่ประชาชนในกรุงไคโรของอียิปต์รวมตัวต่อต้านการใช้อำนาจในทางมิชอบของรัฐบาลอำนาจนิยม ภายใต้การนำของจอมพลอับเดล ฟัตตาห์ เอล-ซิซี ซึ่งก่อรัฐประหารและอยู่ในอำนาจมาตั้งแต่ปี 2556 แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและเศรษฐกิจชะลอตัวได้ ทำให้ประชาชนประสบภาวะว่างงานจำนวนมาก

ส่วนที่ประเทศอินโดนีเซีย เกิดเหตุประท้วงต่อต้านกฎหมายห้ามหญิงและชายอยู่กินโดยไม่ได้แต่งงาน และผู้ที่ออกมารวมตัวประท้วงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้ เพราะมองว่าเข้าข่ายละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและ 'ล้าหลัง' แต่สถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อเกิดการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งยังมีการเดินขบวนเกิดขึ้นในหลายเมืองใหญ่ของอินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1998 ที่มีการรวมตัวประท้วงหลายจุดพร้อมกันทั่วประเทศ

Reuters-ชาวอินโดนีเซียประท้วงกฎหมายห้ามชายหญิงอยู่กินก่อนแต่งที่เมืองบันดุง
  • ชาวอินโดนีเซียในเมืองบันดุงหนีแก๊สน้ำตาที่ตำรวจยิงสลายการชุมนุมต่อต้าน กม.ห้ามอยู่กินโดยไม่ได้แต่งงาน