ไม่พบผลการค้นหา
ผู้เชี่ยวชาญด้านทะเล เล่าตำนาน 'น้ำตาพะยูน มหาเสน่ห์' ความเชื่อผิดๆ ที่คนบางกลุ่มหลงเชื่อ พร้อมฉายภาพสถานการณ์พะยูนไทยและข้อเสนอแนะเพื่อยกระดับสัตว์สงวนแห่งท้องทะเล

นับตั้งแต่ต้นปี 2562 ถึงวันนี้ ‘พะยูน’ ตายไปแล้ว 15 ตัว สูงกว่าค่าเฉลี่ยตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา พบลอยตายในทะเลกระบี่และตรังมากถึง 7 ตัว บางตัวมีสภาพถูกลักลอบตัดเขี้ยว

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกำลังกลายเป็นที่หวั่นใจของนักอนุรักษ์และคนไทยจำนวนไม่น้อย เมื่อเกรงว่าอาจจะเป็นการไล่ล่าของกลุ่มคนที่มีความเชื่อว่าเขี้ยวพะยูนและน้ำตาสามารถนำไปทำเครื่องรางของขลังได่้


ตำนานพะยูน – นางเงือก 

สัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมอย่าง ‘พะยูน’ อยู่ในเรื่องเล่าเกี่ยวเนื่องกับมนุษย์มาอย่างยาวนาน 

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านทะเลไทย เล่าว่า ความเชื่อตำนานเกี่ยวกับนางเงือกน่าจะมีที่มาจากพะยูน (Dugong) ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยในทะเลใกล้ชายฝั่ง และบางครั้งจะโผล่ขึ้นเหนือน้ำในลักษณะตั้งฉากกับผิวน้ำ เมื่อมองไกลๆ จึงคล้ายคนที่ลอยอยู่ โดยในไทย นางเงือกที่เรารู้จักอยู่ในวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี ของสุนทรภู่ กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์นั่นเอง 

“พะยูนกับนางเงือกมีความสัมพันธ์กันมาช้านาน ทำให้หลายคนรู้สึกมีความใกล้ชิด” 

ส่วนที่ว่าทำไมจึงจินตนาการเป็นผู้หญิง มีการคาดกันว่า ในอดีตคนที่จะเห็นพะยูนได้ก็คือชาวเรือ ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้ชายและห่างบ้านห่างครอบครัวเป็นเวลานาน พอเห็นพะยูนในระยะไกล จึงอดไม่ได้ที่จะจินตนาการเป็นผู้หญิงสาวสวย

พระอภัยมณีกับนางเงือก พ.ศ. ๒๕๑๔ สีน้ำมันบนผ้าใบ ผลงานของ อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต

( ภาพ : “พระอภัยมณีกับนางเงือก” พ.ศ. 2514 สีน้ำมันบนผ้าใบ ผลงาน อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต - นิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2562 )


เหลือ 250 ตัวในไทย 

ผศ.ดร.ธรณ์ บอกว่า ในอดีตนั้นพะยูนพบได้ในหลายพื้นที่ของไทย เช่น อ่าวคุ้งกระเบน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี แต่ปัจจุบันสามารถพบได้ที่ จ.ตรัง จ.กระบี่ และ จ.พังงา พวกมันใช้ชีวิตซื่อๆ หากินหญ้าทะเลและอยู่ประจำถิ่น ไม่ใช่สัตว์ที่อพยพไปมา

ด้วยความที่แหล่งอาศัยของพะยูนคาบเกี่ยวกับพื้นที่หากินของชาวบ้าน ทำให้ ช่วงปี พ.ศ. 2540–2550 ปริมาณพวกมันลดน้อยลงเรื่อยๆ คาดกันว่าเหลือเพียง 100 กว่าตัว ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 53-55 ก่อนจะมีการดูแลรักษากันอย่างจริงจัง

ปัจจุบันมีพะยูนในไทยอยู่ราว 250 ตัว 70 เปอร์เซ็นต์อาศัยอยู่ที่ทะเลตรัง 

อัตราการตายของพะยูน เฉลี่ยปีละ 10-12 ตัว การตายที่ผ่านมาประมาณ 89 เปอร์เซ็นต์ เกิดจากเครื่องมือประมง 

ผศ.ดร.ธรณ์ ระบุว่า สถานการณ์ระยะหลังเรียกว่าเป็นเหตุการณ์ที่ผิดปกติ เนื่องจากอัตราการเกยตื้นของพะยูนเพิ่มสูงกว่าค่าเฉลี่ย หากนับตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค. หรือเพียงแค่ 2 สัปดาห์ มีพะยูนเกยตื้นแล้วถึง 5 ตัว และเสียชีวิต 4 ตัว เหลือรอดเพียงตัวเดียวคือ ‘ยามีล’ ซึ่งพลัดหลงจากแม่ 

“หลังการชันสูตรพบว่า บางส่วนตายเฉียบพลัน ซึ่งอาจหมายถึงการติดเครื่องมือประมงก็เป็นไปได้ เครื่องมือที่อาจมีปัญหา เช่น อวนลากคู่ อวนลากกระเบน เบ็ดราว” 

 ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

ทั้งนี้ พะยูนมีอายุประมาณ 70 ปี ลำตัวยาวประมาณ 2.5 – 3 เมตร และมีน้ำหนักราว 230 – 500 กิโลกรัม ใช้เวลาตั้งท้อง 13-18 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว และออกทุก 3 ปีต่อพะยูน 1 ตัว หากไม่ถูกเครื่องมือประมงทำลายจะเฉลี่ยออกลูกประมาณตัวละ 10 ตัว ในช่วงตลอดอายุ 70 ปี


น้ำตาพะยูนไม่ใช่ยาเสน่ห์ 

ความเชื่อที่ว่าน้ำตาและเขี้ยวของพะยูนเป็นเครื่องรางของขลังที่ให้คุณทางด้านเมตตา มหาเสน่ห์ "ผู้ใดมีน้ำตาดุหยงหรือน้ำตาพะยูนครอบครองผู้นั้นจักมีเสน่ห์ แม้ต้องการหญิงใด ชายใดก็มักสมหวังดังใจที่ปรารถนา" ในทางวิทยาศาสตร์ถือเป็น 'เรื่องลวงโลก' 

ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวว่า พะยูนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเหมือนกับมนุษย์ สารประกอบในน้ำตาก็มีความเหมือนกัน ไม่มีความพิเศษหรือมีความสามารถอื่นใดๆ 

“ถ้ามันพิเศษ ผมน่าจะเป็นคนแรกๆ ที่ใช้ก่อน ผมเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลมาหลายสิบปี ถ้ามันใช้ได้ผมเอาหน้าไปซุกตั้งนานแล้ว”

น้ำตาพะยูน

(ภาพน้ำตาพะยูนที่ถูกส่งต่ออย่างกว้างขวางในอินเทอร์เน็ต)

ความเชื่อในด้านมหาเสน่ห์ เกิดจากตำนานในอดีตที่ว่าพะยูนคือนางเงือก ขณะที่ในเรื่องเล่าของหลายชนชาติรวมถึงวรรณกรรมของยุโรปนางเงือกก็นับเป็นอมนุษย์ที่มีเสน่ห์ 

“ผมสงสัยเหมือนกันว่าทำยังไงให้พะยูนร้องไห้ ต้องนั่งเรือออกไปจับพะยูนเขย่าหรือตบหน้ามันจนกว่ามันจะร้องไห้หรอ” เขาตั้งคำถามว่า “เป็นไปได้หรอ น้ำที่เอามาขายกันคือน้ำตาพะยูน”

“ยาเสน่ห์คือความรักความจริงใจ น้ำตาเสือโคร่ง น้ำตาหมีขาวหรือพะยูน ไม่มีอะไรที่เป็นยาเสน่ห์ได้” ผู้เชี่ยวชาญด้านทะเลไทยเปรียบเทียบ 

 ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

ขณะที่ขบวนการล่าเขี้ยวพะยูน แม้จะมีการพูดถึง แต่ยังไม่มีการจับได้ได้อย่างจริงจัง โดยในแง่ปฏิบัติ ผศ.ดร.ธรณ์ เชื่อว่า ยากมากที่จะมีใครลงทุนออกเรือเพื่อไปล่าเขี้ยวของพวกมันโดยตรง เป็นไปได้อาจจะกระทำภายหลังจากพบพะยูนลอยติดอวนตายแล้ว 

“อาจมีกระบวนการแบบนั้น การชำแหละทำอย่างชำนาญ ไม่ควรทิ้งประเด็นของการล่า ควรมีการใช้สายข่าวในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง”

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา จตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมทีมงาน ประชุมสรุปสาเหตุการตายของพะยูนที่พบในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่มีอาการตายแบบเฉียบพลันไม่ทราบสาเหตุ บางตัวมีร่องรอยถูกรัดด้วยเชือกตามลำตัวก่อนจะตาย ขณะที่บางตัวพบร่องรอยถูกตัดเขี้ยวไปจากช่องปาก ซึ่งการตรวจพิสูจน์ยืนยันได้ว่าเขี้ยวจถูกตัดภายหลังพะยูนตายแล้ว โดยพะยูนที่พบลอยตายในทะเลตรัง และกระบี่ รวม 7 ตัว มี 2 ตัวที่ถูกลักลอบตัดเขี้ยวไป

พะยูน.jpg

สมการพัฒนาท้องทะเล 

ผศ.ดร.ธรณ์ ให้ข้อเสนอพัฒนาท้องทะเลดังนี้

  • การกำหนดพื้นที่ในการอนุรักษ์ ทั้งพื้นที่ปลอดการประมง การอนุญาตทำประมงบางเครื่องมือที่ไม่ทำร้ายพะยูน ฯลฯ ถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งปัจจุบันก็มีการดูแลระดับหนึ่ง แต่จำเป็นต้องยกระดับให้ดีขึ้น
  • พิจารณาเรื่องการประกาศพื้นที่คุ้มครองทางทะเล โดยประสานงานกันระหว่างกรมอุทยาน และกรมทรัพยากรทางทะเล สำหรับพื้นที่นอกเขตอุทยาน/เขตห้ามล่า
  • กำหนดมาตรการท่องเที่ยวดูพะยูนให้ชัดเจน และทำให้เกิดระบบที่สมบูรณ์ เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งพื้นที่ใน/นอกอุทยาน
  • สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อดูแลพื้นที่ เช่น เรดาห์ชายฝั่ง (GISTDA) จะสามารถติดตามเรือในพื้นที่ ตลอดจนเก็บข้อมูลที่มีประโยชน์
  • สนับสนุนการวิจัยขนาดใหญ่ โดยทำให้ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งเรื่องพะยูน กระแสน้ำ คุณภาพน้ำ ข้อมูลสิ่งแวดล้อม เครือข่าย ประชาชน สังคม ประมงพื้นบ้าน ท่องเที่ยว ฯลฯ โดยกำหนดเป้าหมายที่จะได้รับจากการวิจัยที่ชัดเจน

“หากเราพัฒนาจุดนี้ได้จะมีผลอย่างมากต่อการตรวจหาพื้นที่การตายของพะยูน เช่น ศึกษากระแสน้ำว่าย้อนไป 3 วันมันเริ่มตายที่ไหน ถ้า 5 ตัวที่เกยตื้นมาจากที่เดียวกันหมดเลย เราก็จะได้รู้ว่า พื้นที่ตรงนั้นต้องเข้มงวดเป็นพิเศษ” 

  • ยกระดับการรณรงค์สร้างความเข้าใจ ให้เกี่ยวข้องกับภาพลักษณ์ สินค้าโอทอป และโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชนท้องถิ่น
  • ผลักดันแผนอนุรักษ์พะยูน/สัตว์ทะเลหายาก ตามแผนปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะในด้านงบประมาณให้ทันตามแผน 
  • ประกาศ “วันพะยูนไทย” เพื่อรณรงค์ให้ทุกฝ่ายมาสนใจร่วมกัน


เขาบอกว่า สิ่งสำคัญที่ควรตระหนักคือ การอนุรักษ์ที่ไม่ทำร้ายหรือละเลยพื้นที่ของชุมชนเพราะหากคนอยู่ไม่ได้ ก็ไม่มีทางอนุรักษ์ได้ 

“ถ้าชาวกรุงเทพฯ รักมาก แต่ไปเข้มงวดกับการดูแลจนชาวบ้านแถวนั้นหากินไม่ได้ เขาก็ยิ่งเกลียด ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ สิ่งที่ต้องการคือ คนอยู่ได้ร่วมกันกับพะยูน ชาวบ้านมีรายได้ที่ไปได้ด้วย เราก็ต้องไปส่งเสริมวิถีการหากินของเขาแบบอื่นๆ เช่น พัฒนาสินค้าต่างๆ”


ล่าพะยูนโทษหนัก คุก 15 ปี 

พะยูนเป็นสัตว์สงวนชนิดหนึ่ง ตาม พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ช่วงเดือน พ.ย.นี้ บทลงโทษรุนแรงกว่าฉบับเดิมเมื่อปี พ.ศ. 2535 มาก 

ในกรณีล่า มาตรา 12 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดล่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง

“ล่า” หมายความว่า เก็บ ดัก จับ ยิง ฆ่า หรือทำอันตรายด้วยประการอื่นใดแก่สัตว์ป่า ที่ไม่มีเจ้าของและอยู่อย่างเป็นอิสระ และให้หมายความรวมถึงการไล่ การต้อน การเรียก การล่อ หรือการอื่น ๆ เพื่อเก็บ ดัก จับ ยิง ฆ่า หรือทำอันตรายแก่สัตว์ป่านั้น

หากพิสูจน์ได้ว่าเป็นการล่า โทษสำหรับสัตว์สงวนคือ จำคุก 3-15 ปี ปรับ 300,000-1,500,000 บาท

โทษสำหรับสัตว์คุ้มครองคือ จำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท

AFP-พะยูน-dugong dugon.jpg

ในกรณีครอบครอง มาตรา 17 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากสัตว์ป่า ดังกล่าว

“ซากสัตว์ป่า” หมายความว่า ร่างกาย หรือส่วนของร่างของสัตว์ป่าที่ตายแล้วหรือเนื้อของ สัตว์ป่า ไม่ว่าจะได้ป้ิง ต้ม รม ย่าง ตากแห้ง หมัก ดอง หรือทาอย่างอื่นเพื่อไม่ให้เน่าเปื่อย และ ไม่ว่าจะชำแหละ แยกออก หรืออยู่ใน��่างของสัตว์ป่านั้น และให้หมายความรวมถึงเขา หนัง กระดูก กะโหลก ฟัน งา ขนาย นอ ขน เกล็ด เล็บ กระดอง เปลือก เลือด น้ำเหลือง นำ้เชื้อ หรือ ส่วนต่าง ๆ ของสัตว์ป่าท่ีแยกออกจากร่างของสัตว์ป่าไม่ว่าจะยังมีชีวิตหรือตายแล้ว

โทษครอบครองคือจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท

สัตว์ทะเลที่เป็นสัตว์สงวน ได้แก่ พะยูน วาฬบรูด้า วาฬโอมูระ ฉลามวาฬ และเต่ามะเฟือง

สัตว์ทะเลที่เป็นสัตว์คุ้มครอง ได้แก่ เต่าทะเลที่เหลือทุกชนิด โลมา/วาฬทุกชนิด กระเบนแมนต้า/ปีศาจ โรนิน ฉนาก กระเบนเจ้าพระยา ปะการัง กัลปังหา หอยมือเสือ ฯลฯ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog