ไม่พบผลการค้นหา
ทีมสุราก้าวหน้าพรรคอนาคตใหม่ บุก จ.แพร่ เปิดเวทีแลกเปลี่ยนผู้ผลิตในท้องถิ่น -ย้ำเป้าทลายทุนผูกขาด-ปลดล็อกรายย่อยพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่ระดับโลก

ที่สวนอาหารบ้านฝ้าย อ.สูงเม่น จ.แพร่ คณะทำงานสุราก้าวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ร่วมกับผู้ผลิตสุราพื้นบ้านและองค์กรเครือข่ายภาคประชาชนส่วนต่างๆ จัดกิจกรรมนำเสนอและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ของพรรคอนาคตใหม่ โดยภายในงานมีทั้งกิจกรรมบรรยาย ดนตรี เสวนา และการร่วมชิมสุราพื้นบ้านที่ผู้ผลิตในท้องถิ่นมาร่วมกันออกซุ้มภายในงาน ทำให้บรรยากาศของงานเป็นไปอย่างคึกครื้น ท่ามกลางการแลกเปลี่ยนพูดคุยความคิดเห็นต่อ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าและอนาคตของสุราพื้นบ้านไทยอย่างคึกคัก โดยในช่วงเริ่มต้นของเวทีวันนี้ มีการกล่าวแนะนำ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าจากคณะทำงานสุราก้าวหน้า ประกอบไปด้วย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กรุงเทพ พรรคอนาคตใหม่ และนายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่

นายเท่าพิภพ กล่าวถึง จุดเริ่มต้นความสนใจในปัญหาของผู้ผลิตสุรารายย่อย ว่ามาจากตอนที่ตนถูกจับจากการทำเบียร์ขายเอง ซึ่งแม้ตนจะยอมรับว่าทำผิดกฎหมายจริง แต่ก็ได้เห็นว่ากฎหมายมีความไม่เป็นธรรมอยู่ จนเมื่อตนได้มาร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ เราเป็นพรรคที่ไม่เคยดูถูกความฝันของคน ไม่ว่าจะตัวเล็กหรือตัวใหญ่ ตนได้รับมอบหมายจากหัวหน้าพรรคให้ศึกษาเรื่องการปลดล็อกสุรา ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของตนที่อยากแก้กฎหมายให้การทำสุราไม่ต้องถูกผูกขาดโดยกลุ่มทุนใหญ่อยู่แล้ว พูดให้ถึงที่สุดแล้วกฎหมายเรื่องสุรานี้มีปัญหา คนออกกฎหมายไม่เข้าใจเราเลย ซึ่งพรรคอนาคตใหม่และตนจะพยายามเต็มที่ในการเป็นตัวกลางส่งความฝันของทุกคน จะทำอย่างไรไปสู่ความฝัน ในการปลด ปรับ เปลี่ยน ปั้น ให้เหล้าไทยเหล้าท้องถิ่นสามารถไปไกลกว่านี้ได้ ตนจะทำไปเรื่อยๆจนกว่าสุราพื้นบานสุราชุมชนมีที่ยืนในสังคมโลกให้ได้

เท่าพิภพ อนาคตใหม่ 040.jpg

ด้าน นายวรภพ กล่าวว่า ปัญหาอุปสรรคของผู้ผลิตสุราพื้นบ้าน เป็นปัญหาเดิมและปัญหาใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นจาก พ.ร.บ.สรรพสามิตร ที่ทำให้กำลังการผลิตถูกล็อคไว้สำหรับผู้ผลิตรายใหญ่เท่านั้น เช่นเบียร์ต้องผลิต 10 ล้านลิตรต่อปี เหล้าต้องผลิต 3 หมื่นลิตรต่อวัน นั่นคือผู้ประกอบการระดับพันล้านเท่านั้นที่สามารถทำได้ ส่วนสุราชุมชนกลับถูกจำกัดด้วยข้อห้ามที่ไม่ให้ผลิตเกิน 5 แรงม้า ใช้คนงานไม่เกิน 7 คน ทำให้ผู้ผลิตรายย่อยไม่สามารถทำตามกฎหมายได้ ดังนั้น พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าจะมี 3 ประเด็นสำคัญ ด้านแรก ปลดล็อคกำลังการผลิตตามมาตรา 153 ใน พ.ร.บ.สรรพสามิตร ให้ไม่มีการกำหนดกฎเกณฑ์จำกัดปริมาณแรงม้า กำลังการผลิต และจำนวนแรงงาน ด้านที่สอง ปลดล็อคอนุญาตให้ผู้ผลิตสามารถปรุงแต่งสุรา ช่วยส่งเสริมให้โอกาสกับผู้ประกอบการสุราและวัตถุดิบสินค้าเกษตรไทย ในการแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อจำหน่ายและส่งออกไปต่างประเทศได้

"และด้านที่สาม คือการปรับโครงสร้างภาษีให้เป็นธรรมมากขึ้นสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยมเช่นภาษีขั้นบันได ส่วนลดสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย ทั้งนี้ ถ้าเป็น พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับภาษีจะนับเป็น พ.ร.บ.การเงินที่นายกรัฐมนตรีจะต้องรับรอง เราต้องยอมรับว่าด้านภาษีโอกาสที่นายกจะรับรองยังน้อย แต่เรายืนยันว่าจะรับฟังความเห็นของผู้เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง และถ้ามีอำนาจก็จะผลักดันเรื่องนี้ต่อไป" นายวรภพ กล่าว

นายพิธา กล่าวว่า ตนเดินทางมาแพร่ในครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง โดยครั้งแรกเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ตนพาเพื่อนต่างชาติมาเที่ยวแพร่ จนได้เรียนรู้ว่าสุรามีค่ามากกว่าน้ำมัน คือประวัติศาสตร์ที่ดื่มได้ เต็มไปด้วยเรื่องเล่าในเรื่องเหล้า ที่ตนจำได้อยู่ประโยคหนึ่งคือคำว่า “เหล้าไหไก่คู่” ที่เป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นในการทำพิธีการทางศาสนา เพราะฉะนั้นสุราจึงเป็นมากกว่าน้ำเมา แต่เป็นประวัติศาสตร์ เป็นปัจจัยในการรักษาความเป็นมาของท้องถิ่นเอาไว้

หลังจากนั้นตนได้เดินทางไปศึกษาเรื่องสุราพื้นบ้านในอีกหลายประเทศ ไปเจอกับเหล้าอาวาโมริที่จังหวัดโอกินาว่า ประเทศญี่ปุ่น จนได้รู้ว่าเป็นสุราที่ใช้วัตถุดิบนำเข้าข้าวจากประเทศไทยไปกิโลละ 10-20 บาท ทำการผลิตและส่งกลับมาขายที่ไทยได้ขวดละ 2 พันกว่าบาท จนทำให้ตนพบว่าน่าจะมีอะไรที่ผิดปกติในกฎหมายไทยเกี่ยวกับเรื่องของสุรา สาเกของญี่ปุ่นมีมูลค่าตลาดถึง 2 แสนล้านบาทต่อปี

ในขณะที่สุรากลั่นไทยก็มีมูลค่าตลาด 2 แสนล้านบาทต่อปีเท่ากัน แต่ความแตกต่สงกันคือในประเทศไทยมีผู้ผลิตเพียง 7 รายเท่านั้น ส่วนที่ญี่ปุ่นมีถึง 5 หมื่นยี่ห้อ นี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นชัดเจนถึงคำว่าทุนผูกขาดในประเทศไทย จะเห็นได้ว่ามูลค่าตลาดที่เท่ากับญี่ปุ่นที่ 2 แสนล้านบาทต่อปี อยู่ในมือของผู้ผลิตแค่ 7 เจ้าเท่านั้น ดังนั้น นี่คือวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ในการทลายทุนผูกขาด ปกป้องสิทธิชุมชน และส่งคืนภูมิปัญญาพื้นบ้านคืนให้แก่คนไทย

"นอกจากนี้ เราจะยังเห็นได้ว่าปัญหาจากข้อจำกัดด้านการปรุงแต่งและเปลี่ยนสี ได้ทำให้ตลาดเหล้าไทยขาดความยุติธรรม ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่สามารถเพิ่มมูลค่าในสินค้าเกษตร และขาดความครอบคลุม แต่งสีกลิ่นไม่ได้ก็เพิ่มมูลค่าไม่ได้ สิ่งที่ตนได้ไปเห็นและได้ไปคุยมากับผู้ผลิตทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นคนทำเบียร์ คนทำเหล้าในภาคใต้ คนทำเหล้าในภาคเหนือ คนทำเหล้าในภาคอีสาน ทำให้ตนเห็นว่าเหล้าของทุกที่มีความแตกต่างหลากหลายกันอย่างน่าสนใจ นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ด้วย" นายพิธา กล่าว 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนั้น จึงเป็นช่วงของการเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ผลิตสุราพื้นบ้านในชุมชนภาคเหนือและตัวแทนจากภาคประชาสังคมกลุ่มต่างๆ ส่วนกิจกรรมในช่วงเย็นถึงค่ำ จะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานได้ทดลองชิมสุราพื้นบ้านที่ผู้ผลิตในท้องถิ่นได้นำมาเปิดซุ้มจัดแสดงภายในงาน ประกอบไปด้วย ซึ่งผลิตภัณฑ์แต่ละตัวต่างมีที่มาอันหลากหลาย และสะท้อนถึงความรุ่มรวยในภูมิปัญญาของคนท้องถิ่นที่สืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น