ไม่พบผลการค้นหา
ปิดท้ายปี ค.ศ.2018 ด้วยการจับตาความบาดหมางระหว่างประเทศอภิมหาอำนาจของโลก คือ สหรัฐฯ กับรัสเซีย ทั้งนี้ ตลอดปีนี้ ความบาดหมางระหว่างทั้งสองอภิมหาอำนาจนี้ร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ อย่างชัดเจน โดยมีเรื่องที่เป็นประเด็น 2 เรื่อง คือ การพัฒนาแสนยานุภาพของรัสเซีย กับ ปัญหาซีเรีย ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้เกิดขึ้นพร้อมๆกัน และเสริมความตึงเครียดแก่กันและกันอย่างน่าวิตก

สถานการณ์สงครามกลางเมืองในซีเรียยืดเยื้อมาหลายปี ในสนามรบแบ่งออกเป็นหลายฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐบาลของประธานอัล อัสซาส และบรรดาฝ่ายกองกำลังต่อต้านรัฐบาลอีกหลายฝ่าย รวมทั้งเกิดขบวนการก่อการร้ายไอซิส(ISIS) ขึ้นท่ามกลางความโกลาหลของสงครามกลางเมือง

ทั้งนี้ ฝ่ายรัฐบาลขอร้องรัสเซียให้ช่วยปราบกองกำลังต่อต้านรัฐบาล รัสเซียถือว่าคำขอนั้นสร้างความชอบธรรมให้กับการแทรกแซงของรัสเซียในซีเรีย ทำให้ฝ่ายรัฐบาลกล้าใช้ความโหดเหี้ยมเต็มที่ในการโจมตีพื้นที่ในความควบคุมของฝ่ายต่อต้าน เลยเถิดไปถึงการโจมตีเป้าหมายพลเรือน และการใช้อาวุธเคมี ทำให้ประชาชนธรรมดาบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก และที่รอดชีวิตก็ต้องพยายามหนีตายกลายเป็นผู้อพยพนับล้านคน

ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯ และชาติพันธมิตร คือ อังกฤษ กับ ฝรั่งเศส ก็ถือว่าตนมีความชอบธรรมในการเข้าแทรกแซงสถานการณ์ในซีเรีย เพราะต้องเข้าไปกวาดล้างขบวนการก่อการร้าย และเข้าไปปกป้องพลเรือนซีเรียจากการใช้อาวุธเคมีอย่างโหดเหี้ยมของฝ่ายรัฐบาลซีเรีย ทั้งนี้ สหรัฐฯ เริ่มส่งทหารเข้าไปในซีเรียอย่างเปิดเผยตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015 ส่วนมากเป็นหน่วยรบพิเศษ (Special Operations Troops) เพื่อทำลายฐานที่มั่นของผู้ก่อการร้าย

การที่อภิมหาอำนาจของโลกเข้าแทรกแซงสงครามกลางเมืองในซีเรีย ทำให้สถานการณ์มีความซับซ้อนยิ่งขึ้นอย่างมาก

เมื่อเดือนมกราคมปีนี้ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ แถลงว่าจะคงทหารไว้ในซีเรียอย่างไม่มีกำหนดเพื่อกำจัดขบวนการก่อการร้ายให้สิ้นซาก สร้างความไม่พอใจให้รัสเซียอย่างมาก และได้มีการแถลงตอบโต้ว่าสหรัฐฯ ไม่มีความชอบธรรมที่จะเข้าแทรกแซงสถานการณ์ในซีเรีย

ต่อมาในเดือนมีนาคม กระทรวงกลาโหมรัสเซียเผยแพร่คลิปวีดีโอเครื่องบินขับไล่ “มิก-31” (MiG-31) ยิงระบบอาวุธนำวิถีจากอากาศสู่พื้น “คินซาล” (Kinzhal) และเปิดตัวอาวุธรุ่นใหม่ของรัสเซียอีก 6 ชนิด ซึ่งรวมถึงระบบยิงแสงเลเซอร์ระยะไกล “เปเรสเวท” (Peresvet) ที่สามารถโจมตีดาวเทียมที่โคจรอยู่ในอวกาศ นักวิเคราะห์หลายสำนักมองว่านี่คือการที่รัสเซียพยายามส่งสัญญาณไปยังสหรัฐฯ ว่ารัสเซียไม่เกรงกลัวสหรัฐฯ

กลางเดือนเมษายน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้สั่งให้กองทัพสหรัฐฯ โจมตีซีเรียทางอากาศ ร่วมกับกองทัพของชาติพันธมิตร คือ อังกฤษ และ ฝรั่งเศส เพื่อตอบโต้การที่กองทัพรัฐบาลซีเรียใช้อาวุธเคมีกับประชาชน ทำให้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เรียกร้องให้มีการประชุมสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเพื่อประณามการโจมตีของสหรัฐฯ แต่ก็ไม่ได้ข้อยุติใดๆ

ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย ดำเนินต่อมาในรูปของการแถลงประณามกันไปมาโดยกระทรวงกลาโหมของทั้งสองฝ่าย และได้ทวีความตึงเครียดขึ้นอีกในเดือนสิงหาคม กระทรวงกลาโหมรัสเซียเผยแพร่คลิปวีดีโอเครื่องบินรบ ซู-34 ยิงขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง เคเฮช-31 (Kh-31) ทำลายเรือรบเป้าหมาย ขีปนาวุธนี้เคลื่อนที่ด้วยความเร็วถึง 2,685 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งทำให้สหรัฐฯ หวาดหวั่นอย่างมาก เพราะความเร็วระดับนี้ยากต่อการสกัดกั้น และต่อมาในเดือนกันยายน รัสเซียประกาศว่าเตรียมการส่งระบบต่อต้านขีปนาวุธรุ่นใหม่ เอส-300 (S-300) ไปซีเรีย เพื่อช่วยให้รัฐบาลซีเรียรับมือกับการถูกโจมตีทางอากาศได้ดีขึ้น ซึ่งเท่ากับประกาศตัวเป็นปรปักษ์กับสหรัฐฯและพันธมิตรอย่างเปิดเผย

ความตึงเครียดดูเหมือนจะจบลง เมื่อจู่ๆ กลางเดือนธันวาคม เมื่อโฆษกทำเนียบขาวได้รับคำสั่งของประธานาธิปดีทรัมป์ให้ประกาศว่าสหรัฐฯจะถอนทหารสหรัฐทั้งหมดออกจากซีเรียในปีใหม่นี้ ทำให้ประธานาธิบดีปูตินแสดงความยินดีอย่างมาก เขาได้แถลงต่อสื่อมวลชนจากทั่วโลกจำนวน 1,700 คน ในพิธีกล่าวปราศรัยส่งท้ายปีเก่า เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ว่ารัสเซียยินดีมากที่สหรัฐฯ ถอนทหารออกจากซีเรีย เพราะรัสเซียเห็นว่าสหรัฐฯ ไม่มีความชอบธรรมที่จะเข้าไปตั้งแต่ต้น

แต่ปรากฏว่า หลังจากนั้น โฆษกของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ออกมาแถลงว่า กองทัพสหรัฐฯ ในซีเรียยังคงปฏิบัติภารกิจปราบปรามขบวนการก่อการร้ายต่อไป และการต่อสู้ยังไม่ยุติ ซึ่งตีความได้ว่า กระทรวงกลาโหมปฏิเสธไม่รู้เรื่องที่รัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์จะทำการถอนทหาร ในขณะที่มีกระแสข่าวว่ารัฐสภาสหรัฐฯ ก็ไม่พอใจที่รัฐบาลไม่แจ้งและชี้แจงเหตุผลที่ประกาศการถอนทหารต่อรัฐสภาก่อนที่จะแถลงกับนักข่าว   

ไม่มีการแถลงจากรัสเซียว่ารัฐบาลรัสเซียคิดอย่างไร แต่ปรากฏว่า วันที่ 26 ธันวาคม กระทรวงกลาโหมรัสเซียได้เผยแพร่คลิปวีดีโอการทดสอบยานขับหัวรบความเร็วเหนือเสียง “อวานการ์ด” (Avangard) ซึ่งติดตั้งหัวรบขีปนาวุธนิวเคลียร์ข้ามทวีป เอสเอส-19 (SS-19)   ซึ่งสามารถเดินทางได้เร็วกว่าเสียงถึง 5 เท่า และยังไม่มีระบบป้องกันขีปนาวุธของประเทศใดในโลกที่มีเทคโนโลยีสูงพอที่จะสามารถรับมือกับความเร็วอัตรานี้ได้ กระทรวงกลาโหมรัสเซียประกาศว่ารัสเซียได้พัฒนาประสิทธิภาพของ “อวานการ์ด” จนสมบูรณ์แบบแล้ว และจะบรรจุ “อวานการ์ด” เข้าประจำการในกองทัพในปีใหม่นี้

แม้สหรัฐฯ จะไม่แถลงตรงๆ ว่ามีความรู้สึกอย่างไรต่อ“อวานการ์ด” แต่ ไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ได้แถลงว่า อวกาศกำลังจะกลายเป็นสนามรบ และกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กำลังเตรียมการจัดตั้ง “กองทัพอวกาศ” (Space Force) ให้ทันภายในปี ค.ศ. 2020 เพื่อป้องกันประเทศจากการถูกคุกคามทางอวกาศ

ภาพสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ ทำให้ย้อนระลึกถึงยุคสงครามเย็นระหว่างปี 1950 ถึง 1989 ที่สหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียต ต่างเกลียดชังและหวาดระแวงกัน แต่ไม่กล้าทำสงครามกันตรงๆ จึงได้หันไปพัฒนาแสนยานุภาพเพื่อข่มขู่ป้องปรามกัน และใช้ “สงครามตัวแทน” ซึ่งก็คือการถือหางประเทศอื่นกองกำลังอื่นในการสู้รบกับคู่ต่อสู้ที่ก็ถือหางโดยอีกฝ่าย จนกระทั่งสหภาพโซเวียตเผชิญกับภาวะล้มละลายทางเศรษฐกิจในปี ค.ศ. 1986 และปิดฐานทัพในต่างประเทศลงทั้งหมดในปี ค.ศ. 1989 ก่อนจะล่มสลายแตกออกเป็น 15 ประเทศ ในปี ค.ศ.1991 สงครามเย็นจึงได้ยุติลง

รัสเซีย เป็นประเทศใหญ่ที่สุดที่หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต และรับมรดกสถานภาพของสหโซเวียตในองค์การสหประชาชาติ ตลอดเวลาที่ผ่านมารัสเซียวุ่นวายกับการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจในประเทศ จึงไม่เกิดภาวะที่ท้าทายหรือแข่งขันกับสหรัฐฯ

แต่ปัจจุบัน รัสเซียกลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง จึงต้องจับตากันต่อไปในปีหน้าว่าความบาดหมางตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและรัสเซียจะดำเนินไปถึงจุดที่กลายเป็นสงครามเย็นรอบใหม่หรือไม่