ไม่พบผลการค้นหา
การล่าสัตว์ในหลายประเทศไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย แต่การล่าสัตว์เพื่อความบันเทิงกำลังเจอกระแสต่อต้านหนักขึ้นเรื่อยๆ ส่วนการล่าสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธ์ เข้าข่ายละเมิดข้อตกลงในอนุสัญญาไซเตสอย่างชัดเจน

การล่าสัตว์เพื่อความบันเทิง หรือ Trophy Hunting เป็นกิจกรรมที่หลายประเทศให้การรับรอง โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศในกลุ่มพัฒนาแล้วที่มีผู้นิยมล่าสัตว์มากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ตามด้วยประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ส่วนประเทศที่หารายได้จากการเปิดให้ล่าสัตว์ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประเทศด้อยพัฒนาและประเทศที่กำลังพัฒนาในทวีปแอฟริกา 

ผู้ที่นิยมล่าสัตว์เพื่อความบันเทิงมักจะเป็นผู้มีฐานะร่ำรวย ซึ่งพร้อมจะจ่ายเงินครั้งละประมาณ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1.7 ล้านบาท) ให้กับรัฐบาลในประเทศแถบแอฟริกา เพื่อแลกกับการล่าสัตว์ใหญ่อย่างสิงโต เสือ ช้าง หรือแรด ได้อย่างถูกกฎหมาย

นักล่าสัตว์เหล่านี้มักจะชำแหละสัตว์เพื่อนำกลับไปเป็นของรางวัลประดับบ้าน จึงถูกตั้งฉายาว่าเป็นการล่ารางวัล แต่หลายครั้งที่บรรดานักล่า 'ล้ำเส้น' จนเจอกับกระแสตอบโต้กลับอย่างรุนแรง โดยช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีคนดังหลายรายที่ถูกประณามอย่างหนักจากการล่าสัตว์เพื่อความบันเทิง 

1. เมลิสซา บาคแมน, พิธีกรรายการโทรทัศน์ของสหรัฐฯ

บาคแมนเป็นที่รู้จักในฐานะพิธีกรรายการแนวเข้าป่า ผจญภัย มานานหลายปี และไม่เคยปิดบังว่าตัวเองเป็นนักล่าสัตว์ตัวยง เพราะเชี่ยวชาญทั้งการล่าโดยใช้ปืนและหน้าไม้ แต่สัตว์ที่ล่าส่วนใหญ่เป็นกวางหรือหมาป่าที่สหรัฐฯ อนุญาตให้ล่าได้ตามฤดูกาล แต่ปี 2013 (พ.ศ. 2555) บาคแมนถูกโจมตีอย่างหนัก หลังจากเผยแพร่ภาพสิงโตที่ถูกเธอล่าสังหารในเซาท์แอฟริกาผ่านทวิตเตอร์ ซึ่งผู้จัดกิจกรรมล่าสัตว์ในครั้งนั้นยืนยันว่าการล่าสิงโตของบาคแมนได้รับอนุญาตจากรัฐบาลอย่างถูกต้อง และสิงโตที่ถูกฆ่าไม่ใช่สิงโตป่า แต่เป็นสิงโตที่เกิดในศูนย์เพาะพันธุ์ แต่กระแสโจมตีบาคแมนก็ยังไม่หยุด 

ประชาชนจำนวนมากมองว่าการล่าสิงโตครั้งนี้เป็นความสูญเปล่า เพราะไม่ใช่การล่าเพื่อเป็นอาหาร ทั้งยังไม่ใช่การป้องกันตัว แต่เป็นการล่าเพื่อสนองความต้องการของตัวเองล้วนๆ บาคแมนได้รับคำขู่ฆ่าและถ้อยคำคุกคามจนต้องปิดบัญชีทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กไประยะหนึ่ง แต่เธอไม่ตอบโต้ใดๆ ต่อกรณีนี้ และระบุเพียงว่า การกระทำใดๆ ก็ตาม ย่อมมีทั้งคนที่พอใจและไม่พอใจ 

2. วอลเทอร์ พาล์มเมอร์, ทันตแพทย์ชาวอเมริกัน

พาล์มเมอร์เป็นทันตแพทย์ธรรมดาๆ คนหนึ่ง แต่โด่งดังไปทั่วโลกชั่วข้ามคืน หลังจากถูกสื่อเปิดโปงว่าเขาเป็นชาวอเมริกันผู้สังหารสิงโต 'เซซิล' ซึ่งเป็นสิงโตเจ้าป่าในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ อุทยานแห่งชาติฮวางเกในซิมบับเว เมื่อเดือน ก.ค. 2015 (พ.ศ. 2558) และเซซิลถือเป็นสิงโตที่มีคนรักและชื่นชมทั่วโลก เนื่องจากมันเป็นสิงโตในโครงการศึกษาติดตามชีวิตสัตว์ป่าของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ซึ่งมีการบันทึกและรายงานความเคลื่อนไหวของเซซิลผ่านทางสื่อออนไลน์อยู่เป็นประจำ 

เซซิลถูกติดตั้งระบบติดตามตัวเอาไว้ ทำให้นักวิจัยของมหาวิทยาลัยตามไปพบซากเซซิลอยู่นอกเขตอนุรักษ์ฯ ซึ่งผู้จัดกิจกรรมล่าสัตว์ รวมถึงพาล์มเมอร์ ยืนกรานว่าพวกเขาไม่รู้ว่าเซซิลเป็นสิงโตจากเขตอนุรักษ์ จึงล่าสังหารตามปกติ แต่คำอธิบายนี้ไม่ช่วยระงับความโกรธของกลุ่มคนรักเซซิลและนักอนุรักษ์สัตว์ทั่วโลกได้

ผู้ใช้สื่อออนไลน์ประณามพาล์มเมอร์อย่างรุนแรง และมีผู้ตามไปชุมนุมประท้วงวอลเทอร์หน้าคลินิกทันตกรรมของเขาในสหรัฐฯ จนเขาต้องจ้างบอดีการ์ดมาคุ้มกันอยู่ระยะหนึ่ง และจนถึงวันนี้่ชื่อของเขาก็ยังถูกนำไปกล่าวโจมตีทุกครั้งที่มีการรณรงค์ต่อต้านการล่าสัตว์

3. จิมมี่ จอห์น ลิโอโทด, ผู้บริหารธุรกิจเบอร์เกอร์แฟรนไชส์จิมมี่จอห์นในสหรัฐฯ

จอห์นเป็นอีกคนหนึ่งที่ถูกโจมตีในสื่อออนไลน์ หลังจากภาพที่เขายิงสังหารแรดในแอฟริกาถูกนำไปเผยแพร่ผ่านทวิตเตอร์ และมีการเปิดโปงว่าเขามักจะเดินทางไปล่าสัตว์ที่แอฟริกาอยู่เสมอ ทำให้เกิดกระแสต่อต้านกิจการร้านเบอร์เกอร์ของเขาในสหรัฐฯ เมื่อปี 2015 และเว็บไซต์บิสซิเนสอินไซเดอร์รายงานว่า ภาพลักษณ์ส่วนตัวของผู้บริหาร ส่งผลกระทบต่อกิจการมากกว่าที่คิด

ผู้ใช้ทวิตเตอร์บางรายทวีตข้อความว่านอกจากจะต่อต้านด้วยการเลิกกินเบอร์เกอร์ของจิมมี่จอห์น พวกเขายังจัดกิจกรรมต่อต้านด้วยการตระเวนไปหน้าร้านเบอร์เกอร์ของจอห์นแล้วเล่าพฤติกรรมล่าสัตว์เพื่อความบันเทิงเพื่อให้คนที่คิดจะเข้าร้านเบอร์เกอร์ฟัง พบว่าคนจำนวนหนึ่งหันหลังให้กับร้านเบอร์เกอร์แห่งนี้ทันทีที่ทราบเรื่อง

4. โดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์ และอีริก ทรัมป์

เมื่อเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เตรียมพิจารณาข้อเสนอของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งต้องการให้รัฐบาลผ่อนผันข้อห้ามเรื่องการนำเข้าสัตว์เพื่อการล่าในสหรัฐฯ หลังจากที่เมื่อปี 2014 (พ.ศ. 2557) อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา สั่งห้ามนำเข้าแรดหรือช้างจากต่างประเทศมาใช้ในการจัดกิจกรรมล่าสัตว์ในสหรัฐฯ และรัฐบาลทรัมป์ยังเสนอให้ผ่อนผันกฎควบคุมการนำเข้าซากสัตว์ที่ได้จากการล่าเพื่อความบันเทิงในต่างประเทศด้วย

ข้อเสนอดังกล่าวจุดชนวนให้ชาวอเมริกันจำนวนมากออกมาเดินขบวนประท้วง พร้อมทั้งมีการเปิดโปงด้วยว่า ทรัมป์ จูเนียร์ และอีริก ทรัมป์ ลูกชายของ ปธน.ทรัมป์ เป็นนักล่าสัตว์ตัวยง และพวกเขาเดินทางไปต่างประเทศเพื่อล่าสัตว์เป็นประจำ รวมถึงล่าเสือดาว ซึ่งผู้ใช้ทวิตเตอร์ได้นำภาพที่ลูกชาย ปธน.เคยเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียลของตัวเองมาตีแผ่กันเป็นจำนวนมาก ทำให้ ปธน.สั่งระงับการพิจารณาข้อเสนอผ่อนผันกฎนำเข้าสัตว์เพื่อการล่าเพื่อความบันเทิงออกไปก่อน

5. สมเด็จพระราชาธิบดีฆวน การ์ลอส แห่งสเปน

บุคคลสำคัญเพียงหนึ่งเดียวที่ถูกโจมตีเรื่องล่าสัตว์และไม่ได้อยู่ในสหรัฐฯ คือ อดีตกษัตริย์พระองค์ก่อนของสเปน โดยพระองค์ทรงถูกสื่อในประเทศและต่างประเทศโจมตีอย่างหนักเมื่อพระองค์ทรงบาดเจ็บจากการล่าช้างที่ประเทศบอตสวานาเมื่อปี 2012 (พ.ศ. 2555) โดยแพทย์ได้ถวายรักษาด้วยการผ่าตัดให้ แต่เมื่อข่าวเผยแพร่ออกมาก็ทำให้ชาวสเปนไม่พอใจ เพราะพระองค์เสด็จไปล่าช้างในขณะที่ประเทศกำลังประสบวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหนัก

สำนักพระราชวังสเปนแถลงว่า สมเด็จพระราชาธิบดีฆวน การ์ลอส เสด็จประพาสเป็นการส่วนพระองค์ และทรงใช้จ่ายทรัพย์สินส่วนพระองค์ ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้งบของรัฐบาลแต่อย่างใด แต่ก็เกิดกระแสต่อต้านจากองค์กรบางส่วนที่พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษา รวมถึงองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จึงมีเสียงเรียกร้องให้พระองค์ทรงลาออกจากตำแหน่ง 

000_DP9XY.jpg

หลังจากกระแสต่อต้านการล่าสัตว์เพื่อความบันเทิงถูกจุดขึ้นในโลกออนไลน์ ก็ทำให้หลายประเทศตื่นตัวในเรื่องนี้มากขึ้น เช่น สหภาพยุโรปมีกฎห้ามนำเข้าหรือส่งออกซากสัตว์ที่ได้จากการล่าเพื่อความบันเทิง และ 40 สายการบินทั่วโลกห้ามผู้โดยสารนำซากสัตว์หรือสิ่งของแปรรูปที่เกี่ยวกับการล่าสัตว์เพื่อความบันเทิงขึ้นเครื่องบิน

อย่างไรก็ตาม การล่าสัตว์เพื่อความบันเทิงก็ยังคงได้รับความสนับสนุนจากคนจำนวนมากเช่นกัน โดยฝ่ายสนับสนุนยืนยันว่า การล่าสัตว์รัฐบาลควบคุมดูแลอย่างเป็นระบบ จะช่วยลดการลักลอบล่าสัตว์ลงได้ เพราะรัฐจะเป็นผู้กำหนดให้ล่าสัตว์ที่เหมาะสม เช่น สัตว์ที่มีอายุมากแล้ว และการจ่ายเงินค่าธรรมเนียมในการล่าก็เป็นรายได้ที่มากพอจะนำไปกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศและสนับสนุนโครงการอนุรักษ์สัตว์ป่าได้อีกต่อหนึ่ง เรียกได้ว่าเป็น การอนุญาตให้ฆ่าเพื่อต่ออายุให้แก่สัตว์อื่นๆ

ส่วนนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและองค์กรพิทักษ์สัตว์ระหว่างประเทศยืนยันว่า การเปิดให้ล่าสัตว์อย่างถูกกฎหมายไม่ได้ช่วยในเรื่องการกระจายรายได้ให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น โดยเฉพาะในประเทศแถบแอฟริกาที่มีปัญหาเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น

ประเทศกำลังพัฒนามักขาดระบบตรวจสอบและกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ เงินจำนวนมหาศาลที่ได้จากกิจกรรมล่าสัตว์จึงมักจะตกอยู่ในกระเป๋าของผู้มีอำนาจเพียงไม่กี่กลุ่ม ทั้งยังเปิดโอกาสให้ขบวนการค้าสัตว์ป่าข้ามชาติทำงานได้ง่ายขึ้น เพราะสามารถอ้างอิงหรือสร้างหลักฐานปลอมเพื่อรับรองการล่าสัตว์ผิดกฎหมายให้กลายเป็นเรื่องถูกกฎหมายได้ ทั้งยังเป็นการละเมิดข้อตกลงในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) ซึ่งรัฐบาล 182 ประเทศทั่วโลกร่วมเป็นภาคี