ไม่พบผลการค้นหา
เคยสงสัยหรือไม่ว่า หากพรรคทหารแข็งแกร่งไร้เทียมทาน มีอุดมการณ์ร่วมกัน และอยากตั้งเป็นสถาบันจริงๆ เหตุใดถึงทุกวันนี้ จึงไม่มีพรรคทหารในอดีตพรรคใดเลยที่เหลือรอดมาให้ประชาชนได้กาเลือกในบัตรเลือกตั้ง “แม้แต่พรรคเดียว”

ไม่ว่าจะเป็น พรรคเสรีมนังคศิลา (ก่อตั้งปี 2498) พรรคสหภูมิ (2500) พรรคชาติสังคม (2500) พรรคสหประชาไทย (2511) และ พรรคสามัคคีธรรม (2535)

อาจจะมียกเว้น พรรคมาตภูมิ (2551) ที่แม้ปัจจุบันจะยังคงสภาพพรรคอยู่ แต่แทบไม่ได้ดำเนินกิจกรรมในนามพรรคแล้ว กระทั่งเว็บไซต์ของพรรคก็ยังไม่มี

ต่างกับพรรคของนักการเมืองมืออาชีพ-อย่างพรรคประชาธิปัตย์ (2489) และพรรคที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นของนายทุน-อย่างพรรคเพื่อไทย (รุ่นหลานของพรรคไทยรักไทยซึ่งก่อตั้งปี 2541) ที่อยู่มานาน ผลัดกันแย่งชิงอำนาจอย่างเข้มข้นจนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันต้องกำหนดข้อจำกัดต่างๆ สลายความแข็งแกร่งของ 2 พรรคใหญ่นี้

ความพยายามของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.กับคณะในการ “ดูด” นักการเมืองท้องถิ่นรุ่นเก่าๆ เพื่อนำไปเป็นฐานสนับสนุนทางการเมืองให้ตัวเองได้กลับมามีอำนาจอีกครั้ง ไม่ใช่เรื่องแปลก เป็นที่จับตาของนักกการเมือง นักวิชาการ คอการเมือง ไปจนถึงชาวบ้านทั่วๆ ไปอยู่แล้วว่า จะทำอย่างไรให้ “เนียน” แต่ก็ต้องผิดหวัง เมื่อวิธีการที่ทหารยุค คสช.ใช้ กลับ “ไม่เนียน” เอาซะเลย

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังออกมาแฉว่า มีความพยายามในบีบไม่ให้ภาคธุรกิจสนับสนุนนักการเมือง หรือใช้ตำแหน่งแลกกับการดึงคนเข้ามาเป็นพวก

ซึ่งเป็นวิธีการอันสุดแสนจะคลาสสิก

 พูดภาษาชาวบ้าน คือ โบราณมากๆ

แต่สิ่งสำคัญ เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์จะต้องหาพรรคใดพรรคหนึ่งสิงสถิต เป็นศูนย์บัญชาการหลัก ไม่เช่นนั้นจะเกิดสภาวะ “ขาลอย” และคงไร้เดียงสาเกินไป หากหวังว่านักการเมืองรุ่นเก่าๆ เหล่านั้นจะภักดีกับหัวหน้า คสช. ไปตลอด

เป็นที่มาของความเชื่อว่า “พรรคทหาร” เวอร์ชั่นปี 2561 จะเกิดขึ้นแน่ๆ อยู่ที่ว่าจะใช้ชื่อใด

แต่ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์กับพวก จะดำเนินการใดๆ อยากให้กลับไปดูงานวิจัยเก่าๆ ว่าด้วยการเกิดขึ้น - คงอยู่ – ดับไป ของพรรคทหารในอดีต ว่ามีสาเหตุจากอะไรบ้าง ทำไมพรรคทหารส่วนใหญ่เป็น “พรรคต่ำห้า” ไม่ใช่ว่า ได้ ส.ส.ไม่ถึง 5 คนนะ แต่อยู่ไม่เคยเกิน 5 ปี

แถมบางพรรคอยู่ได้ไม่ถึงขวบปีดีด้วยซ้ำ

งานวิจัยเกี่ยวกับพรรคเสรีมนังคศิลา ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และพรรคสหประชาไทย ของจอมพลถนอม กิตติขจร จัดทำโดย ร.ต.ต.ธงไชย แสงประดับ (เมื่อปี 2517) ส่วนงานวิจัยเกี่ยวกับพรรคสามัคคีธรรม ที่สนับสนุน พล.อ.สุจินดา คราประยูร จัดทำโดยศุภชัย แสนยุติธรรม (เมื่อปี 2537) ทั้งสองชิ้นเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์เพื่อจบการศึกษาในระดับปริญญาโท ของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย

จุดเริ่มต้นของทั้ง 3 พรรคทหารแทบไม่ต่างกัน คือต้องการใช้การเลือกตั้งเป็นเวที “ฟอกตัว” ให้นายทหารใหญ่มีความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ

แม้วิธีการรวบรวมสมาชิกในการจัดตั้งพรรคจะ “แตกต่าง” กันพอสมควร เพราะมีวิวัฒนาการไปตามกาลเวลา กล่าวคือในขณะที่พรรคเสรีมนังคศิลาประกอบด้วยทหารเป็นส่วนใหญ่ พรรคสหประชาไทยกลับมีทั้งทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน นักธุรกิจ และนักการเมือง ส่วนพรรคสามัคคีธรรม อาศัยดึงนักการเมืองหน้าเก่าๆ มาร่วมทีม ส่วนทหารจะคอยประสานงานหรือให้ “อ้างชื่อ” อยู่เบื้องหลัง

อีกจุดร่วมของทั้ง 3 พรรคทหารที่มีเหมือนกัน คือแม้จะ “ชนะการเลือกตั้ง” และได้จัดตั้งรัฐบาล แต่ก็อยู่ได้ไม่นานนัก

รัฐบาลพรรคเสรีมนังคศิลา (ชนะเลือกตั้งปี 2500) ถูกยึดอำนาจ จนจอมพล ป.ต้องลี้ภัยไปถึงแก่อสัญกรรมที่ญี่ปุ่น

รัฐบาลพรรคสหประชาไทย (ขนะเลือกตั้งปี 2512) ต้องยึดอำนาจตัวเอง หลังคุม ส.ส.ไม่อยู่ และนำไปสู่การถูกนักศึกษาชุมนุมขับไล่ในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ปี 2516 จนจอมพลถนอมต้องลี้ภัยเช่นกัน

รัฐบาลพรรคสามัคคีธรรม (ชนะเลือกตั้งปี 2535) ถูกประชาชนออกมาชุมนุมใหญ่ขับไล่ เพื่อนำผู้นำ “เสียสัตย์เพื่อชาติ” พล.อ.สุจินดา คราประยูร มาเป็นนายกฯ เกิดเป็นเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” และบิ๊กสุได้นั่งบนเก้าอี้นายกฯ แค่ 47 วันเท่านั้น

ต้นสายปลายเหตุที่นำไปสู่ความล่มสลายของ “พรรคทหารและพันธมิตร” เหล่านั้นเกิดจากคำ 2 คำ คือ อำนาจและผลประโยชน์

วิทยานิพนธ์ของ ร.ต.ต.ธงไชยแจกแจงถึงจุดจบของพรรคเสรีมนังคศิลา ว่าเกิดจากการแย่งชิงอำนาจภายในพรรคระหว่าง “ฝ่ายทหาร” ที่นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับ “ฝ่ายตำรวจ” ที่นำโดย พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ทั้งการขัดกันระหว่างประโยชน์ในธุรกิจสีเทาบางอย่าง การแย่งชิงการนำภายในพรรค ที่ฝ่ายตำรวจได้ควบคุมกิจกรรมต่างๆ มากกว่าฝ่ายทหาร โดยมีการเลือกตั้งสกปรกมาเป็นเชื้อที่ฝ่ายทหารใช้โหมความไม่พอใจต่อจอมพล ป. และฝ่ายตำรวจ กระทั่งสถานการณ์สุกงอม จอมพลสฤษดิ์จึงเข้ายึดอำนาจในท้ายที่สุด

ส่วนจุดจบของพรรคสหประชาไทย เกิดจากการแย่งชิงอำนาจ 2 ในระดับ ทั้งระหว่าง “ฝ่ายทำเนียบ” กับ “ฝ่ายมหาดไทย” ภายในพรรค ทั้งเรื่องการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. และการหาผู้นำพรรคต่อจากจอมพลถนอม ยังรวมถึงการเล่นเกมการเมืองระหว่าง “คณะรัฐมนตรี” กับ “บรรดา ส.ส.” โดยมีการใช้การพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญมากๆ เป็นเครื่องต่อรอง ในการของบประมาณไปลงพื้นที่ ส.ส.แต่ละคน (ใช้เวลาแปรญัตติถึง 6 เดือนเต็มๆ) ท้ายสุด เมื่อคุมไม่อยู่ จอมพลถนอมเลยประกาศยึดอำนาจตัวเองผ่านทางวิทยุ ในปี 2514

ขณะที่วิทยานิพนธ์ของศุภชัย บอกถึงจุดจบของพรรคสามัคคีธรรม ซึ่งแม้จะพยายามเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคเทิดไทหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ก็ไปไม่รอด และมีอายุรวมกันเพียง 8 เดือนเศษเท่านั้น เพราะหัวใจสำคัญที่ทำให้นักการเมืองเก่าๆ มารวมกันในพรรคนี้ คืออำนาจ (ที่มาจากฝ่ายทหาร) และเงิน พอทั้ง 2 สิ่งนี้หมดไป พรรคก็ล่มสลาย

ศุภชัยได้ไปสัมภาษณ์แกนนำพรรคสามัคคีธรรมหลายคน ทั้งณรงค์ วงศ์วรรณ อดีตหัวหน้าพรรคที่บอกว่า พรรคมีสภาพเหมือน “ตลาดหุ้น” มีราคาขึ้น-ลงตามสถานการณ์ ขณะที่บุญเท่ง ทองสวัสดิ์ อดีต ส.ส.คนสำคัญที่บอกว่า “พรรคนี้ไม่เป็นเอกภาพ..บางคนโง่ บางคนฉลาด บางคนโลภ บางคนกิเลศหนา..ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นพรรคเฉพาะกิจ เป็นธุรกิจชั่วคราว”

ที่สุด พรรคทหารทั้ง 3 รวมถึงพันธมิตร ก็สูญสลายหายไปตามกาลเวลา

ทิ้งไว้เพียงบทเรียน ที่หลายคนไม่รู้จักจำ และไม่ยอมที่จะจดจำ

พงศ์ บัญชา
0Article
0Video
0Blog