ไม่พบผลการค้นหา
ภายหลังจากองค์การอนามัยโลกได้นิยามและจัดกลุ่มประเภทของโรคฉบับใหม่ขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาแล้ว การรักษาใดบ้างของกลุ่มประชากรเพศทางเลือกควรถูกบรรจุอยู่ในสิทธิประโยชน์ 30 บาทรักษาทุกโรค?

ในสังคมที่ศิวิไลซ์และหลากหลาย การรังเกียจ หวาดกลัว และเกลียดชังกลุ่มคนเพศทางเลือกเป็นสิ่งที่รับไม่ได้และควรถูกต่อต้าน จึงเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งเมื่อองค์การอนามัยโลกได้ถอดสภาวะเพศสภาพไม่สอดคล้องกับสภาพร่างกายกำเนิดออกจากกลุ่มความผิดปกติของโรคทางจิตในคู่มือวินิจฉัยและจัดประเภทของโรคระหว่างประเทศฉบับล่าสุด (ICD-11) เพื่อมิให้กลุ่มประชากรดังกล่าวถูกตีตราเป็นผู้ผิดปกติในสังคมอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็อาจส่งผลต่อระบบสุขภาพไทย ทั้งทางด้านเตรียมความพร้อมบุคลากรการแพทย์ งบประมาณ ตลอดจนระบบกฎหมาย 

กลุ่มประชากรเพศทางเลือกยังคงต้องการการบริการทางแพทย์

ในวงการศึกษาเรื่องความยุติธรรมสุขภาพมีแนวความคิดที่ยอมรับความคิดหนึ่งคือ Substantive Equality of Opportunity โดยที่ทุกคนในสังคมควรเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายในชีวิตที่วางไว้และทุกคนเองก็ต้องมีความพยายามเพื่อไปถึงจุดหมายที่วางไว้ หน้าที่ของรัฐและสังคมต้องขจัดปัจจัยที่นอกเหนือการควบคุมของปัจเจกชนที่ส่งผลต่อความไม่เท่าเทียมกันทางโอกาส ความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากปัจจัยดังกล่าวเป็นความไม่ยุติธรรม และในทางตรงกันข้าม ถึงแม้เกิดความเหลื่อมล้ำจากปัจจัยที่บุคคลควบคุมได้นั้น ความเหลื่อมล้ำดังกล่าวย่อมเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เช่น การมีสุขภาพดีนั้นรัฐต้องดำเนินนโยบายให้ทุกคนเข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียมกัน แต่ทุกคนก็ต้องรับผิดชอบในการดูแลสุขภาพตนเองด้วย


"...บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ตามที่กฎหมาย บัญญัติ..." มาตรา52รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540


เมื่อสภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับร่างกายมิใช่เป็นอาการเจ็บป่วย ความหลากหลายกลายเป็นทางเลือกของปัจเจกชน รสนิยม และความชอบส่วนตัว ผลที่เกิดจากเพศสภาพย่อมเป็นความรับผิดชอบส่วนตัวของปัจเจกชน รวมถึงผลกระทบสุขภาพ ความเหลื่อมล้ำดังกล่าวย่อมเป็นความยุติธรรมตามมาด้วย แต่เรามิอาจปฏิเสธว่าพวกเขายังต้องการการบริการการแพทย์อย่างต่อเนื่อง เช่น การรักษาอย่างต่อเนื่องด้วยฮอร์โมน การปรึกษากับจิตแพทย์อย่างต่อเนื่อง หรือกระทั่งการผ่าตัดเปลี่ยนเพศสภาพและการดูแลรักษาต่อเนื่องหลังผ่าตัด ซึ่งล้วนเป็นการรักษาที่มีราคาทั้งสิ้น แต่ทว่าสภาวะเพศสภาพเลื่อนไหลมิใช่พบได้เฉพาะในกลุ่มประชากรรายได้ปานกลางหรือรายได้สูงเท่านั้น ในกลุ่มยากจนบางคนเลือกแอบซื้อฮอร์โมนโดยไม่มีใบสั่งแพทย์หรือไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องมาตรฐาน

คำถามที่ตามมา คือ เฉพาะกลุ่มเพศสภาพทางเลือกที่ยากจนเท่านั้นหรือ ที่การมีสุขภาพสมบูรณ์เป็นเพียงแค่ความฝันที่เอื้อมไม่ถึง? 

เมื่อมิใช่การป่วยแล้วการบริการการแพทย์เพื่อประชากรเพศทางเลือกยังถือเป็นการรักษาหรือไม่?

หลายๆ คนอาจเข้าใจว่าการตั้งครรภ์เป็นสภาวะตามธรรมชาติและไม่ใช่การเจ็บป่วยใดๆ แต่ทราบหรือไม่ว่า ตามการจัดกลุ่มโรคขอองค์การอนามัยโรคฉบับปัจจุบันถือว่า การตั้งครรภ์เป็นหนึ่งในกลุ่มของโรคชนิดหนึ่ง เพราะถึงแม้จะมีความเป็นไปได้น้อย แต่เราอาจพบสภาวะผิดปกติระหว่างตั้งครรภ์และส่งผลต่อสุขภาพ ตลอดจนการเสียชีวิตของมารดาและเด็ก ในมุมมองด้านเศรษฐศาสตร์การให้บริการการแพทย์เพื่อลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียเหล่านี้มีความคุ้มทุนจนรัฐบาลหลายๆ ประเทศดำเนินนโยบายให้มารดาเข้าถึงการรักษาตั้งแต่ตั้งครรภ์ตลอดจนหลังคลอดอย่างทั่วถึงและไม่คิดมูลค่า การคงสภาพการตั้งครรภ์ว่าเป็นกลุ่มโรคชนิดหนึ่งกลับกลายเป็นผลดีต่อระบบกฎหมายเมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติให้รัฐมีหน้าที่จัดหาบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง เมื่อการตั้งครรภ์เป็นโรคแล้ว รัฐจักต้องผูกผันในการให้บริการการแพทย์ตามความหมายของ "บริการสาธารณสุข" ตาม พรบ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550


"...บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ..." มาตรา47รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560


คำถามที่ตามมา คือ ถ้าเพศสภาพทางเลือกมิใช่การเจ็บป่วยแล้ว รัฐจักต้องมีหน้าที่ผูกผันในการจัดหาบริการสาธารณสุขแก่ประชากรกลุ่มนี้หรือไม่? ซึ่งถ้าตีความตามกฎหมายอย่างแคบแล้วย่อมส่งผลให้การบริการการแพทย์ของกลุ่มเพศสภาพทางเลือกย่อมไม่ถูกร่วมอยู่ใน 'บริการสาธารณสุข' ผลที่ตามมาคือ ปัจเจกชนต้องรับผิดชอบต่อค่ารักษาด้วยตนเองทั้งสิ้น   


...'สุขภาพ' หมายความว่า ภาวะของมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางปัญญา และ ทางสังคม เชื่อมโยงกันเป็นองค์รวมอย่างสมดุล... มาตรา 3 วรรค 1พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550


การผ่าตัดเปลี่ยนเพศสภาพให้เหมาะสมควรถูกบรรจุในสิทธิประโยชน์ 30 บาทรักษาทุกโรคหรือไม่?

การขยายสิทธิผ่าตัดเปลี่ยนเพศในระบบประกันสุขภาพภาคบังคับเป็นประเด็นใหม่และเริ่มพบในประเทศรายได้สูง เช่น ระบบประกันสุขภาพ NHS ของประเทศอังกฤษได้สร้างคลินิกอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender identity clinics) 7 แห่งโดยให้บริการการแพทย์โดยทีมสหวิชาชีพแก่เด็กอายุต่ำกว่า 17 ปี การรักษารวมถึงการให้คำปรึกษากับครอบครัว การให้คำปรึกษาทางจิต หรือการรักษาด้วยฮอร์โมน แต่เฉพาะผู้ใหญ่บรรลุนิติภาวะเท่านั้นถึงมีสิทธิในการผ่าตัดแปลงเพศได้

อย่างไรก็ตาม สิทธิดังกล่าวมิได้เป็นสิทธิตามอัตโนมัติ ผู้เข้ารับการผ่าตัดต้องผ่านกระบวนการพิจารณาจากแพทย์และแพทย์เฉพาะทางก่อน การผ่าตัดต้องดำเนินการโดยแพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมด้วยเช่นกัน ส่วนศาลยุโรปได้มีคำตัดสินให้รัฐมีหน้าที่จัดหาการรักษาทางการแพทย์ด้วยฮอร์โมนและการผ่าตัดแปลงเพศแก่บุคคลเพศทางเลือก อย่างไรก็ตาม การศึกษา EuroStudy กลับพบว่ากว่าร้อยละ 80 ของผู้รับการรักษาด้วยฮอร์โมน และร้อยละ 86 ของผู้รับการผ่าตัดแปลงเพศ ถูกปฏิเสธจากรัฐต่างๆ ในการอุดหนุนค่ารักษา 

ผลที่ตามมาคือการบริการทางการแพทย์ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ในประเทศอังกฤษผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องรอถึง 2 ปีเพื่อนัดพบหมอเฉพาะทาง ในบางกรณี ผู้มีภาวะหลากหลายทางเพศเลือกที่จะมาผ่าตัดแปลงเพศในประเทศที่มีกฎหมายหละหลวมกว่าและมีค่าผ่าตัดแปลงเพศที่ถูกกว่า


...“บริการสาธารณสุข” หมายความว่าบริการต่างๆ อันเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันและควบคุมโรคและปัจจัยที่คุกคามสุขภาพ การตรวจวินิจฉัยและบำบัดสภาวะความเจ็บป่วย และการฟื้นฟูสมรรถภาพของบุคคลครอบครัวและชุมชน... /มาตรา 3 วรรค 4 พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550


ส่วนประเทศไทย สปสช. พิจารณาบรรจุสิทธิการรักษาและการผ่าตัดแปลงเพศในชุดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นภาวะกะเทยแท้ (True Hermaphrodite) กล่าวคือบุคคลที่เกิดมามีอวัยวะเพศทั้งสองเพศในคนเดียวกัน ทั้งนี้ ต้องได้รับการวินิจฉัยทางการแพทย์เพื่อยืนยันให้มีการผ่าตัดเลือกเพศชนิดที่เหมาะสมกับอัตลักษณ์ของบุคคลดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม สิทธิประโยชน์ 30 บาทยังมิรวมกลุ่มประชากรเพศทางเลือกที่มีอวัยวะเพศชนิดเดียว และต้องรอการพิจารณาจาก สปสช. อีกครั้งในปีต่อไป ซึ่งถ้า สปสช. ขยายสิทธิมากขึ้น คำถามที่ตามมาคือ การขยายสิทธิดังกล่าวจะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือ พรบ. สุขภาพหรือไม่? โรงพยาบาลรัฐมีความพร้อมด้านบุคลากรและงบประมาณรองรับหรือไม่? ในขณะที่โรงพยาบาลเอกชนเล็งเห็นการรักษากลุ่มเพศทางเลือกเป็นกลุ่มลูกค้ารายใหม่ และมีการพัฒนาการบริการดังกล่าวมาเนิ่นนานแล้ว การที่รัฐขยายสิทธิดังกล่าวจะเป็นการแข่งขันแย่งรายได้กลุ่มโรงพยาบาลเอกชนหรือไม่?

นอกจากนี้ การขยายสิทธิการผ่าตัดแปลงเพศเป็นเรื่องเร่งด่วนหรือไม่เมื่อเปรียบเทียบโรคอื่นๆ เช่น โรคไต โรคหัวใจ โรคตับ ที่คร่าชีวิตคนไทยจำนวนมากและสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจมากกว่า?

การขยายสิทธิการผ่าตัดแปลงเพศในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจึงเป็นประเด็นสำคัญ และต้องการความเห็นของทุกฝ่ายในสังคม

ภาคภูมิ แสงกนกกุล
นักวิชาการผู้ศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข และวิจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำในระบบสาธารณสุขไทย
1Article
0Video
21Blog