ไม่พบผลการค้นหา
บรูไนเพิ่มความแรงบทลงโทษ ก.ม.อาญา ทำให้นักสิทธิมนุษยชนรวมตัวคัดค้าน โดยเฉพาะบทลงโทษ 'ปาหินประหารชีวิต' ผู้ที่รักเพศเดียวกัน-ผู้คบชู้ ส่วน 'ขโมย' ถูกลงโทษตัดมือ-ตัดเท้า และทางการไทยเตือนคนจะไปบรูไนให้ระวังความประพฤติในที่สาธารณะ

กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศของไทย เผยแพร่คำเตือนประชาชนไทยที่จะเดินทางไปบรูไน โดยระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย .2562 เป็นต้นไป บรูไนจะเริ่มบังคับใช้กฎหมายอาญาภายใต้กฎหมายชาริอะ ซึ่งเป็นกฎหมายทางศีลธรรมของศาสนาอิสลามที่ควบคุมความประพฤติส่วนตัวและการกระทำต่อสาธารณชน โดยจะมีผลบังคับใช้ต่อชาวบรูไนทั้งหมด ทั้งที่นับถือศาสนาอิสลามและศาสนาอื่นๆ รวมทั้งชาวต่างชาติที่พำนักอาศัยในบรูไน

มาตรการลงโทษจะพิจารณจากฐานความผิด พฤติกรรม และการกระทำผิด เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การหมิ่นศาสนา การลักทรัพย์ การข่มขืน การผิดรักกับคนเพศเดียวกัน เป็นต้น โดยจะมีบทลงโทษจากสถานเบาไปสู่สถานหนัก ทั้งการปรับ การจำคุก การเฆี่ยนตี การตัดมือและอวัยวะอื่นๆ การปาหินใส่ผู้กระทำผิด และการแขวนคอ เป็นต้น

กรมการกงสุลแจ้งเตือนคนไทยที่จะเดินทางไปบรูไน หรือพำนักอาศัยในบรูไน ให้ทราบถึงบทลงโทษของกฎหมายดังกล่าวที่มีความรุนแรง โปรดปฏิบัติตามกฎหมายของบรูไนอย่างเคร่งครัด และหลีกเลี่ยงที่จะกระทำความผิด โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ฮอตไลน์สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน +673 876 2849 และ Facebook ของสถานเอกอัครราชทูต Royal Thai Embassy, Bandar Seri Begawan หรือหมายเลขคอลเซ็นเตอร์ของกรมการกงสุล (+66) 2572 8442

https://scontent-kut2-2.xx.fbcdn.net/v/t1.0-9/55508060_1435968299873647_7753108601475956736_o.jpg?_nc_cat=106&_nc_eui2=AeGVwvU6DcE-jQXPft03uwqsj57Y8bM4DPaLsQ83c2wAJxwwVK9CRvN3Df4YmJtUn1lHMFADznvfU2HUE95iRcZ1A0IhNk3Jolf3GTuWnsK7Rg&_nc_ht=scontent-kut2-2.xx&oh=ee3cb943098e66fe1ef9ffb6ada2c81b&oe=5D14D25E

ทั้งนี้ สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า กฎหมายฉบับแก้ไขถูกระงับการพิจารณา และค้างอยู่ในสภานานกว่า 4 ปี จนกระทั่งสุลต่าน ฮัสซานัล โบลเกียห์ สมเด็จพระราชาธิบดีและนายกรัฐมนตรีแห่งบรูไน ทรงตัดสินพระทัยให้รัฐบาลเดินหน้าปัดฝุ่น นำกฎหมายดังกล่าวมาพิจารณาบังคับใช้อย่างเป็นทางการ โดยมีมติรับรองบทลงโทษดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2561 แต่กระทรวงยุติธรรมของบรูไนระบุว่า กฎหมายชาริอะที่เกี่ยวกับการลงโทษผู้รักเพศเดียวกันจะบังคับใช้กับผู้ที่เป็นชาวมุสลิมเท่านั้น

ขณะเดียวกัน องค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน 2 แห่ง ได้แก่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (AI) และฮิวแมนไรท์วอทช์ (HRW) ออกแถลงการณ์คัดค้านรัฐบาลบรูไน โดยชี้ว่า บทลงโทษการกระทำผิดตามกฎหมายอาญาฉบับแก้ไขของบรูไนหลายกรณีเข้าข่าย 'ไร้มนุษยธรรม' และ 'ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง' โดยเฉพาะบทลงโทษประหารชีวิตด้วยการปาหินผู้รักเพศเดียวกันและผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานคบชู้ รวมถึงบทลงโทษ 'ตัดมือขวา' ผู้กระทำผิดในคดีลักทรัพย์ครั้งแรก แต่ถ้าทำผิดเป็นครั้งที่สองจะถูกตัดเท้าซ้ายเพิ่ม

เอไอแถลงประณามบทลงโทษดังกล่าว โดยย้ำว่าสิ่งที่เป็นความผิดตามกฎหมายของบรูไน ไม่ถือว่าเป็นความผิดแต่อย่างใดในหลักการสากล การรักเพศเดียวกันถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล โดยเฉพาะถ้าหากความสัมพันธ์ดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างผู้บรรลุนิติภาวะที่ยินยอมพร้อมใจกัน ไม่ถือเป็นความผิด เพราะไม่ได้เข้าข่ายการล่วงละเมิด จึงเรียกร้องให้สุลต่าน ฮัสซานัล โบลเกียห์ ทรงประกาศยกเลิกกฎหมายดังกล่าวโดยเร็ว

AFP-เจ้าชายเจฟรี อนุชาสุลต่านบรูไนและพระชายา.jpg
  • เจ้าชายเจฟรี โบลเกียห์ แห่งบรูไน ทรงถูกสอบสวนคดีทุจริตและประพฤติตนไม่เหมาะสม

ขณะที่เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ (SCMP) สื่อฮ่องกง รายงานเพิ่มเติมว่า บรูไนปรับเปลี่ยนกฎหมายให้มีความเข้มงวดเพิ่มขึ้นช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเมื่อปี 2561 รัฐบาลบรูไนประกาศห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์และห้ามจัดงานฉลองวันคริสต์มาสภายในประเทศ และการบังคับใช้กฎหมายที่รุนแรงขึ้น สะท้อนให้เห็นความพยายามของราชวงศ์บรูไนที่จะลบล้างภาพลักษณ์อื้อฉาวของสมาชิกราชวงศ์บางราย 

SCMP รายงานพาดพิง 'เจ้าชายเจฟฟรี โบลเกียห์' พระอนุชาของสุลต่าน ฮัสซานัล โบลเกียห์ ซึ่งทรงถูกสอบสวนในคดีฉ้อโกงเงินกว่า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ทรงเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังช่วงปี 2533 ทั้งยังถูกกล่าวหาว่าทรงประพฤติตนไม่เหมาะสม ผิดหลักศาสนาอิสลาม เพราะพระองค์ทรงใช้ชีวิตหรูหราฟุ่มเฟือย ทั้งยังทรงตั้งชื่อเรือยอตช์ส่วนพระองค์ว่า 'Tits' (นม) และทรงถูกกล่าวหาว่าครอบครองฮาเร็มหรูไว้สะสมนางกำนัลที่เป็นผู้หญิงต่างชาติอีกหลายรายด้วย

โฆษกกระทรวงยุติธรรมของบรูไนระบุด้วยว่า ผู้มีสิทธิออกคำสั่งให้บทลงโทษดังกล่าวโมฆะได้มีเพียงพระองค์เดียว คือ สุลต่าน ฮัสซานัล โบลเกียห์ แต่ SCMP ชี้ว่า การปรับแก้กฎหมายครั้งนี้ทำให้บรูไนเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่บังคับใช้บทลงโทษรุนแรงและเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มคนรักเพศเดียวกันจนถึงขั้นประหารชีวิต ซึ่งถือว่าเข้มงวดกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถืออิสลามเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น มาเลเซียหรืออินโดนีเซีย