ไม่พบผลการค้นหา
แกนนำคณะก้าวหน้าลงพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ย้ำส่งผู้สมัครชิงท้องถิ่นแน่ หวังสร้างความเปลี่ยนแปลง ชวนผู้สนใจร่วมสมัครทีมก้าวหน้าลงสู้ศึกท้องถิ่น จ.นครศรีธรรมราช เชื่อคนนครศรีฯ เบื่อการเมืองแบบเก่า

เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2563 น.ส.พรรณิการ์ วานิช พร้อมด้วยนายเจนวิทย์ ไกรสินธุ์ กรรมการบริการคณะก้าวหน้า เปิดเวที “ร่วมหาทางออก ท้องถิ่น-ปากท้อง-โควิด 19” ที่สวนปัณฑริกา อ.ลานสกา นครศรีธรรมราช โดยมีตัวแทนจากโรงเรียน ผู้ประกอบการวิสาหกิจแปรรูปผลไม้ ยางพารา และท่องเที่ยว รวมถึงประชาชนทั่วไปเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก

น.ส.พรรณิการ์กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 ไม่ใช่แค่เรื่องสาธารณสุข แต่คือวิกฤตเศรษฐกิจ ตอนนี้มีคนตกงานแล้ว 3 ล้านคนจากการปิดเมืองและการท่องเที่ยวที่หยุดชะงัก ภายในสิ้นปีนี้ จะมีคนตกงานถึง7-8 ล้านคน มากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของกำลังแรงงานในประเทศ แต่สิ่งที่รัฐบาลทำกลับยังไม่มีความชัดเจนว่าจะแก้ปัญหาตกงานได้อย่างไร และคนที่ตกงานจะต้องกลับบ้านมาอยู่ในบ้านเกิดของตนเอง เป็นความท้าทายว่าแต่ละท้องถิ่นจะก่อให้เกิดการจ้างงานได้อย่างไร

น.ส.พรรณิการ์ย้ำว่า ท่ามกลางวิกฤตยังมีโอกาสดีที่รออยู่ คือการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้นปลายปีนี้ หากรัฐบาลไม่ผิดคำพูด โดยจะเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี ประชาชนต้องการความเปลี่ยนแปลง คณะก้าวหน้าตั้งใจจะใช้โอกาสนี้ ส่งทีมลงสมัครชิงชัยในสนามเลือกตั้ง เพื่อเปลี่ยนประเทศจากท้องถิ่น จากรากฐาน ใช้นโยบายในการเป็นจุดขาย โดยเฉพาะนโยบายสร้างเศรษฐกิจชุมชน โดยยกตัวอย่าง อบจ.นครศรีธรรมราช ซึ่งมีรายได้ปีละกว่า 1,400 ล้านบาท เงินจำนวนนี้หากถูกใช้อย่างมีวิสัยทัศน์ สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น ก็จะสร้างความเจริญและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนนครฯได้อย่างก้าวกระโดด

ด้านนายเจนวิทย์ ระบุว่าในนครศรีธรรมราชมีองค์กรปกครองท้องถิ่น 185 แห่ง คณะก้าวหน้าตั้งใจจะส่งลงสมัครอย่างน้อย 90 แห่ง เพื่อให้สร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง โดยตนมั่นใจว่าคนนครศรีธรรมราช ที่เบื่อหน่ายระบบการเมืองแบบเก่า และต้องการให้โอกาสคนรุ่นใหม่ๆ หน้าใหม่ๆมาทำงาน ยังมีอีกมาก

นายเจนวิทย์ยังระบุอีกว่า ในขณะนี้คณะก้าวหน้าเปิดรับสมัครผู้สนใจลงเลือกตั้งท้องถิ่น ใครที่สนใจก็สามารถสมัครออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์ http://progressivemovement.in.th/local-election

นอกจากนี้ ในวงพูดคุยยังมีการสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจและโอกาสในการสร้างการท่องเที่ยวที่ชุมชนจะได้รับประโยชน์ โดย ปัณฑริดา ไชยจิตร เจ้าของสวนปัณฑริดา เล่าว่าตนพบว่าปัญหาขอสวนผลไม้นครศรีธรรมราช คือเรื่องการขนส่ง เพราะปกติสวนผลไม้ในภาคตะวันออกจะส่งออกผ่านท่าเรือมาบตาพุด แต่มังคุดจากใต้มีต้นทุนขนส่งแพงกว่าโลละเป็นสิบบาท นอกจากนี้ยังมีปัญหาพ่อค้าคนกลางกดราคา จึงได้คิดจัดการสวนใหม่เป็นเชิงการท่องเที่ยว ในช่วงโควิดธุรกิจไม่กระทบมากเพราะเป็นคนไทย หลังเปิดเมืองรายได้ก็เพิ่มขึ้นมาก เพราะคนหาที่เที่ยว แต่การจับจ่ายใช้สอยน้อยลง ยอดขายลดลง คนเที่ยวจำนวนเท่าเดิม แต่รายได้ร้านค้าลดจากวันละ 10,000 เหลือเพียง 5,000-7,000 บาท 

ด้านนายเกียรติศักดิ์ อุตรฤทธิ์ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวอ.ลานสกา กล่าวว่าสมาคมใช้วิธีชวนชาวบ้านในชุมชนทำธุรกิจท่องเที่ยว พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ช่วยวางแผน ทำให้ได้สถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นมิตรและสอดคล้องกับชุมชน รายได้หมุนเวียนไปสู่ชุมชน พร้อมสะท้อนว่าอปท.ส่วนใหญ่มุ่งแต่สร้างถนน สิ่งก่อสร้าง แต่ไม่มองเรื่องสร้างอาชีพ รายได้ให้ชุมชน การแปรรูปและเพิ่มมูลค่า หลักคิดคือ การสร้างสถานที่ท่องเที่ยวต้องอิงกับชุมชน เริ่มจากชุมชน เพราะหากมีแต่งบเข้ามา ทำจนหมดงบก็จบ เพราะไม่ได้สอดคล้องกับความต้องการในชุมชน ไม่ใช่การทำด้วยใจ และต้องให้ทุกส่วนในชุมชนได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว ไม่เช่นนั้นจะเกิดแรงต้าน 

ส่วนนายปรีชานนท์ สรรพจิต ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน ไวน์มังคุด เล่าว่าธุรกิจของตนเองเริ่มจากปัญหามังคุดขายไม่ได้ราคา เพราะผิวลาย ไม่สวย โดนพ่อค้าคนกลางกดราคา จึงทำไวน์มังคุด เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า แต่พอสินค้าติดตลาด ก็เริ่มมีหน่วยงานราชการเข้ามา ให้ขออนุญาต มีระเบียบข้อบังคับต่างๆมากมาย ซึ่งทำให้เสียเวลา กีดกันผู้ประกอบการรายย่อย พร้อมทั้งระบุว่าโครงการรัฐมีแต่บอกให้คนเดิน แต่ไม่เคยบอกว่าให้เดินยังไง ถึงจะถึงเป้าหมาย มีแต่ประชาชนต้องคิดเองทำกันเอง ดิ้นรนกันเอง หากมีอปท.หรือหน่วยงานมาสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนมากกว่านี้ ก็จะทำให้ธุรกิจชุมชนเกิดได้ง่ายขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง