ไม่พบผลการค้นหา
บนเวทีงาน 25 ปีสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือฯ ที่มีนักธุรกิจ ผู้ประกอบกิจการระหว่างประเทศร่วมฟัง 'วิรไท สันติประภพ' ผู้ว่าการ ธปท. ชี้กระแสสำคัญของโลก 5 เรื่อง ที่เป็นทั้งความท้าทายและโอกาสของภาคธุรกิจ-เศรษฐกิจไทย

'วิรไท สันติประภพ' ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. กล่าวปาฐกถาบนเวที 25 ปี สภาผู้ส่งออกทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สรท. เมื่อค่ำวันจันทร์ที่ 25 พ.ย. ที่ผ่านมา ในหัวข้อ 'ประเทศไทยในปี 2025 (พ.ศ.2568)' ชี้ถึง 5 เทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือ ปี 2025 (พ.ศ.2568)

มีใจความโดยสังเขปว่า วันนี้ขอชวนทุกคนพูดถึงเรื่องที่ไกลออกไปจากประเด็นระยะสั้น และจะไม่ได้พูดถึงเรื่องอัตราการขยายตัว (จีดีพี) ปีนี้ หรือจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาประเทศไทย หรืออัตราแลกเปลี่ยน ณ สิ้นปีนี้ ซึ่งก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็มีเรื่องสำคัญพอๆ กันคือการมองออกไปข้างหน้าในระยะยาว ที่ต้องทำให้มั่นใจว่าเรากำลังมุ่งหน้าไปถูกทาง

วิรไท สันติประภพ

ในเวลาที่พวกเรากำลังอยู่บนทางแยกที่สำคัญในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ จึงถึงเวลาที่จะคิดถึงเศรษฐกิจไทยในอีก 5 ปีข้างหน้า เมื่อนับจากวันนี้ ท่ามกลางช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ กับความเร่งของการเปลี่ยนแปลง และประเด็นเชิงโครงสร้างที่เรากำลังเผชิญอยู่ 

โดยผู้ว่าฯ ธปท. ได้กล่าวถึงแนวโน้มหรือเทรนด์ใหญ่ๆ 5 ด้านที่จะเกิดขึ้นและเป็นสิ่งท้าทายเศรษฐกิจไทยและภาคธุรกิจไทยในอีก 5 ปีข้างหน้า 

เทรนด์ที่ 1 : การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์ 

ประชากรไทยกำลังแก่ลง และแก่ลงด้วยอัตราเร่งที่สูงจนอีกเพียง 20 ปีข้างหน้า ประชากรกว่าครึ่งของประเทศจะมีอายุ 65 ปี ขึ้นไป เงื่อนไขอายุดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมที่พึ่งแรงงานเป็นหลัก เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ, เครื่องนุ่งห่ม, เครื่องหนัง, ไม้ และ เฟอร์นิเจอร์ อย่างรุนแรง

หากผู้ประกอบการยังไม่เตรียมพร้อมรับมือและมองหากลยุทธ์ใหม่ๆ ในการดำเนินธุรกิจ อาทิ การปรับใช้เครื่องจักรแทนแรงงานมนุษย์ ความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการต้องแบกอยู่บนบ่าก็จะหนักหนาไม่น้อย

ผู้สูงอายุ-สูงวัย-คนแก่-ถนน-ทางข้าม-สะพานลอย

พร้อมอ้างอิงผลศึกษาจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ที่สะท้อนความเสี่ยงในตลาดผู้บริโภคต้องเผชิญในอนาคต ซึ่งพบว่า เมื่อประชากรมีอายุ 60 ปี ขึ้นไป พวกเขาจะใช้จ่ายลดลงถึงร้อยละ 20 และย้ำว่า การรับรู้ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อให้ตลาดเกิดความตระหนก แต่แท้จริงแล้วเป็นการชี้ให้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่รออยู่ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ 

โดยในปี 2560 มูลค่าการใช้จ่ายเกี่ยวกับผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 50 ปี ขึ้นไปมีมูลค่าสูงถึง 2.8 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 18 ของจีดีพี ซึ่งเม็ดเงินในธุรกิจนี้ มีแต่จะโตขึ้นจากอุปสงค์ที่มากขึ้นจากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น

อีกทั้งโอกาสทางธุรกิจผู้สูงอายุเหล่านี้ก็ไม่ได้ปิดอยู่ที่ภายในประเทศเท่านั้น การเป็นประเทศแรกๆ ที่เข้ามาอยู่ในสนามการแข่งขันจะช่วยสร้างแต้มต่อให้กับผู้ประกอบการให้เกิดความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมและสามารถเข้าไปแข่งขันในตลาดระดับโลก ที่มีขนาดใหญ่มากถึงร้อยละ 10 ของจำนวนประชากรโลก ในอีกเพียง 5 ปีต่อจากนี้

เทรนด์ที่ 2 : การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

ภาวะโลกร้อนไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าเท่านั้น แต่อุตสาหกรรมการเกษตรที่เป็นแหล่งจ้างแรงงานกว่า 1 ใน 3 ของประชากรทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับการสูญเสียปัจจัยการผลิตสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ทั้งจากคุณภาพดินที่แย่ลง หรือแม้แต่ภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ

ภัยพิบัติรุนแรง เช่น ภาวะแล้ง หรือ น้ำท่วมฉับพลัน จะสร้างความเสียหายให้กับสังคมไทยอย่างรุนแรงเพราะพื้นที่เกษตรกรรมในประเทศไทยเพียง 1 ใน 5 เท่านั้นที่เข้าถึงระบบชลประทาน ซึ่งยังไม่พอ ประชาชนในภาคเกษตรนี้ยังเป็นกลุ่มที่มีรายได้ต่ำและต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดในสังคม

ปภ น้ำท่วม.jpg

อุตสาหกรรมการเกษตรไม่เพียงต้องปรับตัวให้ก้าวทันเทคโนโลยีที่จะเข้ามาแทรกแซง แต่ยังต้องคำนึงถึงผลกระทบทางสภาพภูมิอากาศเช่นเดียวกัน ทุกองค์ประกอบของนวัตกรรม ทั้งระบบรวบรวมข้อมูล การทำเกษตรแบบเฉพาะ แพลตฟอร์มแชร์ข้อมูล รวมถึงการพัฒนาสายพันธุ์พืชและสัตว์ที่ทนต่อทั้งสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงและโรคต่างๆ จำเป็นต้องนำมาปรับใช้ร่วมกัน 

การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ตัวเลือกของภาคธุรกิจ แต่จะกลายเป็นกลยุทธ์ในการผลักดันสินค้าของผู้ประกอบการ เพราะผู้คนต่างพากันหันมาดูแลและสนใจสภาพแวดล้อมมากขึ้น ผู้บริโภคจึงยินยอมที่จะจ่ายเงินสูงขึ้น เพื่อแลกมากับผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เชื่อถือได้ว่าไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรรุ่นใหม่

เทรนด์ที่ 3 : การเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่คุณค่า 

สงครามการค้าเป็นหนึ่งในเครื่องสะท้อนการเดินหน้าเข้าสู่ช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมการผลิตโลก ซึ่งแท้จริงแล้วมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี

เป็นความโชคดีไม่น้อยที่อุตสาหกรรมบริการไม่ได้กลายเป็นข้อต่อรองในความไม่ลงรอยกันระหว่างสหรัฐฯ และจีน เพราะแท้จริงแล้วตามรายงานจากแมคคินซีย์ โกลบอล สะท้อนว่า อุตสาหกรรมบริการกำลังเติบโตในสัดส่วนที่รวดเร็วกว่าอุตสาหกรรมสินค้าถึงร้อยละ 60 เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป รวมถึงการเป็นม้านอกสายตาของยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจโลก ก็ช่วยให้การเติบโตนี้ต่อยอดได้อย่างไม่สะดุด

แรงงาน ค่าแรงขั้นต่ำ ลูกจ้าง สวัสดิการสังคม ช่างเชื่อม ก่อสร้าง-การจ้างงาน

เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นยังส่งผลต่อการปฏิรูปทักษะแรงงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อุตสาหกรรมการผลิตโลกที่ขึ้นอยู่กับแรงงานค่าแรงต่ำมาตลอด กำลังถูกท้าทาย จากการมีระบบอัตโนมัติที่สามารถเข้ามาทดแทนเงื่อนไขดังกล่าวได้อย่างแยบยล ขณะที่การพึ่งพิงแรงงานค่าแรงต่ำเหล่านั้นคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 20 ของการค้าโลกในปัจจุบันแล้ว 

นอกจากนี้ ค่าแรงก็จะไม่เป็นเงื่อนไขในการตั้งโรงงานการผลิตอีกต่อไป การเข้าถึงตลาดปลายทางและการหลีกเลี่ยงการกีดกันทางการค้ากลายมาเป็นเงื่อนไขหลักที่โรงงานเหล่านี้มองหาพื้นที่เฉพาะที่สามารถตอบโจทย์ เพื่อเป็นแหล่งรวมโรงงานการผลิตของโลกในอนาคต 

การขึ้นค่าแรงในประเทศไทยอาจส่งผลกระทบต่อการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่ค่าแรงน้อยกว่าในอุตสาหกรรมที่ยังมองเช่นนั้น แต่ระบบเทคโนโลยีที่ดีขึ้นจะดึงอุตสาหกรรมที่มองหาสิ่งเหล่านี้เข้ามาเช่นเดียวกัน ซึ่งภาคธุรกิจจำเป็นต้องมองให้เห็นทั้งความเสี่ยงและโอกาสที่จะเกิดขึ้นในสายพานการผลิตที่กำลังเปลี่ยนแปลง 

เทรนด์ที่ 4 : การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล

โลกยุคใหม่ เศรษฐกิจจะถูกผลักดันให้ขึ้นไปอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ด้วยวิวัฒนาการของเทคโนโลยีสื่อสารที่เชื่อมทุกอย่างเข้าไว้ด้วยกัน ตั้งแต่โทรศัพท์ไปจนถึงการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเข้ากับอุปกรณ์ต่าง (IoT)

หัวเว่ย

สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคจากหน้ามือเป็นหลังมือ ทั้งการมาถึงของบริการเรียกรถอย่างอูเบอร์หรือแกร็บ ไปจนถึงการจองห้องพักกับแอร์บีแอนด์บี ซึ่งภาคธุรกิจไทยจำเป็นต้องปรับตัวตามให้ทันนิสัยของคนไทยที่นิยมใช้ชีวิตอยู่บนโลกแห่งแพลตฟอร์มเหล่านี้ โดยเฉพาะในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ที่ควรใช้โอกาสดังกล่าวในการพัฒนาการเข้าถึงสินค้าและบริการของตัวเอง ในยุคที่มีเครื่องมือสื่อสารเป็นตัวกลางการเชื่อมต่อและการเข้าถึง

เทรนด์ที่ 5 : สภาพคล่องล้นเกินในภาวะที่การก่อหนี้สูงเป็นประวัติการณ์

เพื่อบรรเทาพิษเศรษฐกิจที่เกิดจากผลของวิกฤตการเงินโลกในปี 2551 ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องใช้นโยบายการเงินเพื่อปรับให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ (normalization) ผ่านการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน

แต่ภาวะดอกเบี้ยต่ำนี้ก็ก่อให้เกิดสภาพคล่องล้นเกินที่สร้างความเปราะบางและความเสี่ยงทางโครงสร้างการเงินเช่นเดียวกัน

ความเสี่ยงแรกอยู่ในรูปของหนี้สินภาคเอกชน ในสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเช่นนี้ หนี้ภาคเอกชนตกอยู่ในความสุ่มเสี่ยงรุนแรงเกือบครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตการเงินโลก 2551 ตามข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) สะท้อนว่า ร้อยละ 40 ของหนี้ภาคเอกชนทั่วโลก หรือคิดเป็นมูลค่า 19 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (570 ล้านล้านบาท) ตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระ ซึ่งเทรนด์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นกับภาคเอกชนของไทยเช่นเดียวกัน 

AFP-กรุงเทพ-ฝนตก-พายุ-สภาพอากาศ-อาคาร-ตึกสูง

แม้การเป็นหนี้จะมีส่วนช่วยในการลงทุนและระบบการเงินของบริษัท แต่สัดส่วนหนี้ที่สูงเกินไปก็จะสร้างความเปราะบางให้กับธุรกิจเช่นเดียวกัน ดังนั้นระดับสภาพคล่องที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องที่ต้องควบคุมอย่างใกล้ชิด เพื่อให้แน่ใจว่าเมื่อมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันธุรกิจจะรับมือได้ 

ความเสี่ยงที่สองคือความผันผวนในกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งเป็นผลมาจากการปฏิบัติตามมาตรการการเงินแบบไม่ปกติที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและธรรมชาติของการไหลเข้าออกของเงินทุนของตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะในประเทศเศรษฐกิจเปิดขนาดเล็กอย่างประเทศไทย

ด้วยสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยที่ยังมีแนวโน้มต่ำต่อเนื่องและสภาพคล่องล้นเกินที่ยังไม่มีท่าทีจะหมดไปง่ายๆ ธรรมชาติของความเปราะบางในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนและราคาสินทรัพย์จึงมีแต่จะเพิ่มสูงขึ้น

ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะควบคุมปัจจัยภายในประเทศได้บางส่วน แต่ปัจจัยขับเคลื่อนความผันผวนเหล่านี้ก็มักเป็นปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันธุรกิจจากความผันผวนเหล่านี้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องหันมาศึกษาเครื่องมือป้องกันตัวเองอย่างการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อลดแรงปะทะจากความเสี่ยงเหล่านี้

'วิรไท' กล่าวสรุปว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องเผชิญหน้ากับการปรับตัวมากมายในอนาคตที่รออยู่ โดยเฉพาะในกลุ่ม 5 เทรนด์ ข้างต้น ซึ่งในมุมหนึ่งอาจบ่อนทำลายการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ก็มาพร้อมกับโอกาสมหาศาลเช่นเดียวกัน ถ้าเพียงแต่ภาคธุรกิจยอมปรับตัวและก้าวให้ทันกับเทคโนโลยีและเงื่อนไขทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป