ไม่พบผลการค้นหา
กรมควบคุมมลพิษ เผยผลตรวจสอบระดับเสียงในพื้นที่กรุงเทพฯ พบ "การเคหะชุมชนดินแดง" เสียงดังเกินค่ามาตรฐานเป็นอันดับ 1 รองลงมา "สถานีไฟฟ้าย่อยธนบุรี" และ "สนามกีฬาการเคหะชุมชนห้วยขวาง" ชี้แหล่งเกิดเสียงมาจากดัดแปลงท่อไอเสียรถ

นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า คพ. ได้ตั้งสถานีติดตามตรวจสอบระดับเสียงในสิ่งแวดล้อมแบบอัตโนมัติต่อเนื่องตลอดทั้งปี บริเวณพื้นที่ริมถนนและพื้นที่ทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจำนวน 12 สถานี และในส่วนภูมิภาคที่เป็นเมืองท่องเที่ยวและเขตอุตสาหกรรม 15 สถานี รวมทั้งสิ้น 27 สถานี เพื่อประเมินสถานการณ์และแนวโน้มของปัญหามลพิษทางเสียง ทั้งนี้ คพ. ได้พัฒนาเว็บไซต์รายงานผลการตรวจวัดระดับเสียงจากสถานีตรวจวัดแบบอัตโนมัติ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถเข้าดูได้ผ่านเว็บไซต์ www.noisemonitor.net โดยรายงานข้อมูลผลการตรวจวัดแบบเรียลไทม์

นายประลอง กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบระดับเสียงเฉลี่ยโดยรวมของ ปี 2561 กับข้อมูลในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2551 – 2560) พบว่าสถานการณ์ระดับเสียงมีค่าเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก โดยปัญหาหลักในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลยังคงเป็นปัญหามลพิษทางเสียงริมเส้นทางจราจร สำหรับครึ่งปีแรกของปี 2562 พื้นที่ริมถนนที่มีระดับเสียงเฉลี่ยเกินมาตรฐาน 3 ลำดับแรก ได้แก่

  • 1) สถานีการเคหะชุมชนดินแดง ริมถนนดินแดง แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร จำนวนวันที่ระดับเสียงเกินค่ามาตรฐานเท่ากับร้อยละ 100 (182 จาก 182 วัน) ค่าระดับเสียงเฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ในช่วง 71.6 – 81.6 เดซิเบลเอ
  • 2) สถานีไฟฟ้าย่อยธนบุรี ริมถนนอินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร จำนวนวันที่ระดับเสียงเกินค่ามาตรฐานเท่ากับร้อยละ 82 (146 จาก 179 วัน) ค่าระดับเสียงเฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ในช่วง 69.3 – 72.1 เดซิเบลเอ
  • 3) สถานีสนามกีฬาการเคหะชุมชนห้วยขวาง ริมถนนประชาสงเคราะห์ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร จำนวนวันที่ระดับเสียงเกินค่ามาตรฐานเท่ากับร้อยละ 23 (42 จาก 182 วัน) ค่าระดับเสียงเฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ในช่วง 63.1 – 83.4 เดซิเบลเอ โดยค่ามาตรฐานของระดับเสียงเฉลี่ย 24 ชั่วโมง กำหนดไว้ไม่เกิน 70 เดซิเบลเอ
Screenshot (4).png

นายประลอง กล่าวว่า แหล่งกำเนิดเสียงที่เป็นปัญหามากที่สุดในเขตเมือง คือ เสียงจากรถจักรยานยนต์ รถยนต์ และรถยนต์ประเภทอื่น ที่มีการดัดแปลงท่อไอเสีย ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ อาทิ ก่อให้เกิดความรำคาญ ความเครียด และเสียสุขภาพจิต รวมไปจนถึงหูหนวกชั่วคราวหรือหูหนวกถาวร โดยเกิดจากการอยู่ในที่มีเสียงดังเป็นเวลานาน ดังนั้น กรมควบคุมมลพิษจะได้นำเสนอรายงานไปทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย

Screenshot (1).png

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวต่อว่า วิธีการที่ดีที่สุดคือการป้องกันและแก้ไขจากต้นเหตุ จึงขอความร่วมมือผู้ใช้ยานพาหนะ ไม่ดัดแปลงสภาพรถโดยเฉพาะท่อไอเสียให้เกิดเสียงดัง หมั่นดูแลรักษาให้มีระดับเสียงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และเลือกใช้ท่อไอเสียที่ได้มาตรฐานตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) รวมทั้งนำรถของท่านเข้ารับการตรวจสภาพรถประจำปีเพื่อตรวจสอบการระบายไอเสียและระดับเสียง ในขั้นตอนของการต่อทะเบียนประจำปีตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้ทั้งด้านอากาศและเสียงให้มีคุณภาพที่ดีต่อสุขภาพอนามัยของทุกคน โดยท่านสามารถนำรถของท่านเข้ารับการตรวจสภาพได้ที่สถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) และสำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-5 สำนักงานขนส่งจังหวัด กรมการขนส่งทางบก