ไม่พบผลการค้นหา
หลายชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 'ล้มเหลว' ในการรับมือการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา นักวิชาการชี้ 'สิงคโปร์' ทำได้ดีสุด ส่วน 'ไทย' การจัดการเรื่องไวรัสฯ ค่อนข้างล้มเหลว

บทความของ โจซัว คูร์แลนต์ซิก นักวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เผยแพร่ในเดอะโกลบอลลิสต์กล่าวว่า ภูมิศาสตร์ที่ติดต่อกับจีน รวมไปถึงการเดินทาง การค้าและการขนส่งที่เชื่อมต่อกับจีนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ภูมิภาคนี้จะเป็นภูมิภาคแรกที่พบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสนอกประเทศจีน

นอกจากนี้ ภูมิภาคนี้ยังเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาเยือนมากที่สุดแห่งหนึ่งในช่วงเทศกาลตรุษจีน และมีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลแต่ละประเทศไม่ได้มีการเตรียมป้องกันการระบาดในระดับภูมิภาค ก่อนที่รัฐบาลจีนจะสั่งปิดเมืองอู่ฮั่น 

โจซัวกล่าวว่า ‘ประเทศไทย’ เป็นตัวอย่างของประเทศที่ 'สอบตก' ในเรื่องไวรัสโคโรนา เนื่องจากความล่าช้าในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวให้ประชาชนรับทราบ รวมไปถึงการตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสารเพื่อแจ้งวิธีการป้องกันตัวเองให้กับประชาชนได้รับทราบและเข้าใจเพื่อรับมือกับการระบาดที่อาจเกิดขึ้นในไทย 

ทั้งนี้ ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตว่า การที่ไทยดำเนินมาตรกาiสกัดกั้นการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาช้านั้น เป็นเพราะไทยกลัวกระทบความสัมพันธ์ที่มีกับจีน รวมไปถึงกระทบการท่องเที่ยวของไทย เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวของไทยต่างพึ่งพิงนักท่องเที่ยวจีนเป็นหลัก และบริษัทใหญ่ๆ ของไทยยังมีการค้าและการลงทุนที่เชื่อมโยงกับจีนอีกด้วย ซึ่งมาตรการต่างๆ ที่ออกมาล่าช้าของรัฐบาลไทยนั้นอาจจะส่งผลให้เกิดการระบาดในประเทศได้ 

บทความระบุว่า 'สิงคโปร์' เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการรับมือกับไวรัสโคโรนา โดยส่วนหนึ่งมากจากการเป็นชาติที่มีรายได้สูง มีพื้นที่ขนาดเล็ก และมีประวัติการจัดการสาธารณสุขที่ดีอีกด้วย

ประยุทธ์ อนุทิน สุวรรณภูมิ โคโรนา 53808000000.jpg

ขณะที่ชาติอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเป็นชาติที่ยากจนและขาดแคลนทรัพยากร อย่าง 'กัมพูชา' และ 'เวียดนาม' ที่มีข้อจำกัดในเรื่องของทรัพยากรทางสาธารณสุข และใน 'เมียนมา' เองที่มีชายแดนติดต่อกับจีนและเป็นที่มีมีการเคลื่อนย้ายของประชาชนตามชายแดน แต่พื้นที่ดังกล่าวอำนาจของรัฐบาลกลางกลับเอื้อมไม่ถึง 

นอกจากนี้ผู้เขียนยังตั้งข้อสังเกตว่า 'ระบอบเผด็จการ' ในกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นตัวขัดขวางการจัดการรับมือกับปัญหาสาธารณสุข เนื่องจากหลายประเทศในภาคพื้นทวีปของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปกครองด้วยระบอบเผด็จการและไม่คุ้นเคยกับการแชร์ข้อมูลต่างๆ โดยในสภาพความเป็นจริงรัฐบาลเผด็จการมักกลัวว่าข้อเท็จจริงจะทำให้ประชาชนลุกฮือไม่พอใจ ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลมีความหวาดกลัวประชาชนของตนมากกว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา

อย่างไรก็ตาม การไม่สามารถแชร์ข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชนรับทราบและไม่มีมาตรการจัดการอย่างเร่งด่วนต่อการแพร่ระบาดของไวรัส ก่อให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชนแทน ทำให้การควบคุมข่าวสารนั้นมีความน่ากลัวเทียบชั้นกับการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส

ปัจจุบัน หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างออกมาตรการคุมเข้มนักท่องเที่ยวจีน โดยใน 'สิงคโปร์' ไม่อนุญาตให้ผู้เดินทางจากจีนเข้าประเทศ ยกเว้นชาวสิงคโปร์ และจะต้องถูกกักตัวเป็นเวลา 14 วันเพื่อสังเกตอาการ ขณะที่ 'ลาว' และ 'เวียดนาม' ยกเลิกการออกวีซ่าหน้าด่าน รวมถึงปิดพรมแดนที่เชื่อมต่อกับจีนด้วยเช่นกัน 

นอกจากนี้ 'มาเลเซีย' ก็ไม่อนุญาตให้ผู้ที่ถือหนังสือเดินทางที่ออกโดยมณฑลหูเป่ยและอาศัยในมณฑลหูเป่ยช่วง 14 วันที่ผ่านมาเข้าประเทศ ทางด้าน 'อินโดนีเซีย' ก็ยกเลิกการออกวีซ่าหน้าด่านให้กับชาวจีน ส่วนผู้ที่อยู่อาศัยในจีนในช่วง 14 วันที่ผ่านมาไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศเช่นกัน

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานด้วยว่า การควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาในประเทศแถบเอเชียยังส่งผลให้เกิดการควคุมและปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนในสื่อสังคมออนไลน์อีกด้วย โดยประชาชน 16 รายถูกจับกุมในมาเลเซีย อินเดีย ไทย อินโดนีเซีย ฮ่องกง และสิงคโปร์ เพราะถูกตั้งข้อหาว่าเผยแพร่ข่าวปลอม แม้ว่าในความเป็นจริงยังต้องถกเถียงว่าเป็นการจงใจเผยแพร่ข้อมูลเท็จ หรือเป็นการตั้งคำถามหรือส่งต่อข้อมูลโดยไม่เจตนา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง