ไม่พบผลการค้นหา
'พิธา' คาดวิกฤตโควิด-19 ในไทยส่อใกล้เข้าระยะที่ 3 แนะรัฐบาลพาคนไทยออกจากวิกฤตด้วยการใช้หลัก 5 ข้อ C-O-V-I-D แก้ปัญหา เน้นจัดคัดกรองเชิงรุก - สื่อสารเสียงเดียว -พัฒนาวัคซีน -มาตรการระยะห่างสังคม -บูรณาการข้อมูลตามโมเดลของไต้หวัน

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ต้องยอมรับความจริงว่าการแพร่ระบาดของ โควิด-19 อย่างไรก็เสียก็ต้องเข้าสู่การระบาดระดับที่ 3 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตนเชื่อว่าประชาชนตื่นตัว เตรียมพร้อมรับมือและดูแลตัวเองอย่างเต็มที่ตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญเพื่อผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานอย่างหนักมาโดยตลอด ตนขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่าน แต่อีกหนึ่งองค์ประกอบที่สำคัญคือรัฐบาลที่จะต้องพาคนไทยออกจากวิกฤตนี้ มีความพร้อมแค่ไหน การบริหารจัดการวิกฤตเป็นเรื่องของการรู้อดีต ทำปัจจุบัน และเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต ตนคิดว่าการบริหารจัดการวิกฤต โควิด-19 เราต้องใช้หลักการ 5 ข้อที่ตนย่อออกมาเรียกว่า C-O-V-I-D มาแก้ไขปัญหา

นายพิธา ระบุว่า “Check point – จุดตรวจคัดกรองโรค” โรคระบาดเป็นเรื่องภัยมั่นคงทั้งของประเทศชาติและมนุษยชาติ ซึ่งถือว่าเป็นภัยคุกคามไม่ต่างจากภัยอื่นๆ การที่รัฐมีจุดตรวจคัดกรองโรคจะเพิ่มความมั่นใจให้ประชาชนและสามารถคัดกรองผู้ป่วย ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเชิงรุกระหว่างการเดินทางจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่งได้ ดังนั้น รัฐบาลควรทำตอนนี้คือจัดตั้งจุดคัดกรองเชิงรุกอย่างกว้างขวาง โดยทำให้ผู้คนเข้าถึงการตรวจได้ง่ายที่สุด ค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง 

“One Voice – สื่อสารเสียงเดียว” การสื่อสารในช่วงการบริหารจัดการวิกฤติ (crisis management) เป็นสิ่งสำคัญเพราะในช่วงวิกฤติจะเต็มไปด้วยคำถาม ข้อสงสัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวลือที่จะสร้างความสับสน และตื่นตระหนก จนอาจนำไปสู่ความวุ่นวาย และความโกรธแค้นได้ ดังนั้น รัฐบาลจะต้องรวมศูนย์การสื่อสารอย่างเป็นทางการไว้ที่แหล่งเดียวหรือคนเดียว

“Vaccine – พัฒนาวัคซีน” ในขณะที่ประเทศจีน สหรัฐอเมริกา และอิสราเอล กำลังทุ่มทุนค้นคว้าและผลิตวัคซีนต้านไวรัส ประเทศไทยกำลังทำอะไรอยู่ การลงทุนการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ในปีหนึ่งๆ มีงบเพียงแค่ 8,000 ล้านบาท ถ้าเริ่มเพิ่มงบฯ เท่าหนึ่งก็สามารถสร้างอุตสาหกรรมสุขภาพ มีงานเพิ่มขึ้น มีงบวิจัยเพิ่มขึ้น

“Isolation – การแยกตัว” หรือการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เป็นมาตรการหลักที่รัฐบาลทั่วโลกใช้เพื่อชะลออัตราการแพร่ระบาดไม่ให้รวดเร็วจนเกินศักยภาพของระบบสาธารณสุขหรือเรียกว่า “การทำให้กราฟชันน้อยลง” (Flatten the curve) ส่วน ส.ส. ส.ว. หรือรัฐมนตรี ควรปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของสังคมในการกักตัวเองและทำตามมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม

“Data – บูรณาการข้อมูล” รัฐบาลไต้หวันเป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีในการบริหารจัดการวิกฤติ ภายในวันเดียวรัฐบาลไต้หวันสามารถรวมข้อมูลจากสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (National Health Insurance Administration) และหน่วยงานตรวจคนเข้าเมือง (Immigration Agency) เพื่อค้นหาบุคคลและประวัติการเดินทาง 14 วันที่ผ่านมาของผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งให้รัฐสามารถระบุตัวตนของผู้ป่วยและสามารถให้คนที่มีความเสี่ยงสูงกักตัวเองอยู่ในบ้าน และติดตามความเคลื่อนไหวผ่านโทรศัพท์ นอกจากนี้ยังทำเว็บไซต์แผนที่แสดงจุดจำหน่วยหน้ากากอนามัยแบบเรียลไทม์ เพื่อช่วยให้ประชาชนหาซื้อหน้ากากอนามัยได้ง่ายขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง