ไม่พบผลการค้นหา
มาตรา 71 วรรค 4 "ในการจัดสรรงบประมาณ รัฐพึงคำนึงถึงความจำเป็น และความต้องการที่แตกต่างกันของเพศ วัย และสภาพของบุคคล ทั้งนี้เพื่อความเป็นธรรม"

เราเคยมองไหมว่าผู้หญิงที่ทำงานบ้าน ซักผ้า เลี้ยงลูก ทำอาหารเลี้ยงดูคนในบ้านนั้น ก็เป็นงาน แต่ผู้หญิงไม่เคยได้ค่าจ้าง เคยคิดหรือไม่ว่างานของผู้หญิงคือส่วนลดของค่าใช้จ่ายของผู้ชายที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโต มีเม็ดเงินขยายในระบบเศรษฐกิจ

เราเคยคิดหรือไม่ว่า ผู้หญิงคือคนที่เลี้ยงดูทรัพยากรที่มีค่าที่สุดคือ"มนุษย์" ที่เด็กๆ เหล่านั้นจะกลายเป็นกำลังสำคัญ กลายเป็นความคิดสำคัญในอนาคตที่จะสร้างให้ประเทศก้าวหน้าในมิติต่างๆ

เราเคยคิดหรือไม่ว่า ในทางปัจเจก ผู้หญิงก็ถูกกันออกจากพื้นที่เศรษฐกิจของผู้ชาย ด้วยวัฒนธรรม ประเพณีหลายอย่าง ที่ทำให้ผู้หญิงไม่ได้เติบโตในสิ่งที่ตนเองต้องการจริงๆ 

นี่คือการยกตัวอย่างของเพศหญิงเท่านั้น และในสังคม เรายังมีเด็กหญิง เด็กชาย เยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่มีความจำเป็น ความต้องการการเข้าถึงโอกาสและการพัฒนาแตกต่างกัน

มันก็ขึ้นอยู่กับว่า รัฐมองกลุ่มคนเหล่านี้อย่างไร

ทำไมเด็กผู้หญิงในต่างจังหวัดหลายแห่งจึงเรียนจบเพียงแค่ประถม ทำไมเด็กผู้ชายจึงไม่อยากเรียนหนังสือ และมีพฤติกรรมในการโดดเรียน หรือข้องเกี่ยวยาเสพติด ทำไมผู้สูงอายุหลายท่าน ต้องทำหน้าที่เลี้ยงหลานแทน หรือไม่อยู่ในวงจรที่มีมูลค่าเศรษฐกิจ ทำไมผู้พิการจึงเป็นภาระสังคม ทั้งที่มีความสามารถหลายอย่างที่ทำงานในระบบเศรษกิจได้ ทำไมกลุ่มชาติพันธ์ุจึงมีอัตราฆ่าตัวตายสูงขึ้นในบางแห่ง หรือผู้มีความหลากหลายทางเพศยังถูกเลือกปฏิบัติในการเข้าทำงานหรือความก้าวหน้าในอาชีพ เราจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร

การจัดสรรงบประมาณจึงต้องตั้งคำถามว่า รัฐมองคนเป็น "ภาระ" หรือ "ทรัพยากร"

ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกเผชิญความท้าทายในการออกแบบนโยบาย และจัดสรรงบประมาณ ที่คำนึงถึงความแตกแต่งสภาพบุคคล เรียกว่า "Gender Responsive Budgeting" (GRB) แปลว่า การสร้างนโยบายและงบประมาณที่สอดคล้องและตอบสนองต่อเพศสภาพ และต้องมีเครื่องมือและข้อมูลปัญหาต่างๆ ในการวิเคราะห์ และที่สำคัญที่สุดต้องจัดทำตัวชี้วัด เพื่อประเมินว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ 

หลักการสำคัญของ GRB คือ 

1. ให้พิจารณาผลทางเศรษฐกิจจากการดูแลครัวเรือนที่ไม่ได้รับค่าจ้างด้วย

2. ให้มองที่ผลกระทบทั้งระดับปัจเจกบุคคลและครัวเรือน

3. ใช้มิติตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต (Lifetime Perspective) ทุกครั้งเท่าที่ทำได้

4. ให้หาค่าเชิงปริมาณ (ที่คำนวณได้) ของผลความไม่เสมอภาค และประโยชน์ที่จะได้รับเป็นตัวเลข

5. ใช้มุมมองตัดขวาง (An Inter-sectional Lens) เพราะผู้หญิงไม่ได้เหมือนกันทั้งหมด

6. ใช้เครื่องมือที่เหมาะสมมากที่สุดกับกระบวนการทางงบประมาณ และสภาพแวดล้อมทางการเมือง

ในการเปลี่ยนแปลงและผลักดันนโยบายให้มีแนวคิด GRB นั้น ต้องส่งผล 3 ด้านคือ การเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรม ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงในครอบครัว การทุจริตคอร์รัปชัน การละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงด้านสถาบัน เช่น การกำหนดสัดส่วนเพศ การแต่งตั้งรัฐมนตรี หรือ เจ้าหน้าที่รัฐคนใหม่ การขยายแผนงานรัฐตัวอย่างด้านการศึกษา การเปลี่ยนผ่านระบบตำรวจมาเป็นตำรวจชุมชน หรือ การเปิดเผยข้อมูล และสุดท้ายเปลี่ยนแปลงสภาพในการดำเนินชีวิต เช่น โครงสรางพื้นฐานระบบขนส่งทั่วถึง หรือรถไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต อาชญากรรมลดลง การเมืองที่มีเสถียรภาพ 

"หรือมีการเลือกตั้งอย่างปกติที่ทั่วโลกเขาทำกัน"

ฉันได้มีโอกาสอ่านงบประมาณเป็นครั้งแรกในชีวิตในช่วงนี้ ฉันพบว่ารัฐมีแนวคิด GRB สอดแทรกอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีในการจัดสรรงบประมาณ แต่ในช่วงที่ผ่านมาฉันได้มีโอกาสพูดคุย พบปะบุคคลหลายคนซึ่งมีความเกี่ยวข้อง และอยู่ในตำแหน่งปฏิบัติการ ฉันพบว่า GRB ยังไม่เป็นที่เข้าใจในวงกว้าง รวมถึงในระดับการปฏิบัติการ เพราะงบประมาณจะถูกใช้ทำกิจกรรม แต่ไม่ใช่นโยบาย

กิจกรรมนั้นส่งผลระยะสั้น เป็นครั้งคราว อาจมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย แต่ไม่เปลี่ยนแปลงนโยบาย ขณะที่ 'นโยบาย' นั้นหมายถึง การมองระยะยาว มีความเป็นทางการ และส่งผลต่อแนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐต่อประเด็นปัญหา ส่งผลต่อการเปลี่ยนกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ รวมถึงการบังคับใช้

Gender Responsive Budgeting : GRB ไม่ใช่การจัดทำงบพิเศษเพื่อผู้หญิง เป้าหมายการใช้จ่ายไม่ใช่เจาะจงเฉพาะเพศหญิง แต่เป็นการวิเคราะห์ว่า การใช้จ่ายงบประมาณด้านต่างๆ ส่งผลกระทบต่อชายและหญิงแตกต่างกันอย่างไร ใครบ้างที่เข้าถึงหรือได้รับประโยชน์จากการบริการของรัฐ และมีส่วนร่วมอย่างไร 

ฉันขอยกตัวอย่างเรื่องผู้หญิงโดยคำนึงถึงตลอดชีวิตตามแนวคิด GRB ตั้งแต่เกิดจนตาย ผู้หญิงได้รับความไม่เป็นธรรมอย่างไรบ้าง

- ผู้หญิงไม่มีโอกาสเรียนสูงเพราะความเชื่อทางวัฒนธรรมบางอย่าง ทำให้ไม่มีความรู้มากพอที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผู้ชาย คำถามคือ ค่าธรรมเนียมการศึกษา ควรเสียเท่ากันหรือไม่ หรือควรทำอย่างไรเพื่อจูงใจให้ผู้หญิงเข้าสู่การศึกษามากขึ้น

- เมื่อผู้หญิงมีความรู้และพึงพาเศรษฐกิจได้แบบผู้ชาย คำถามคือ รายได้ของผู้หญิงเท่าเทียมผู้ชายหรือไม่ และควรเสียภาษีเงินได้ที่การคำนึงถึงมิติทางเพศหรือไม่ เพราะในทางกลับกัน ผู้หญิงเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในการใช้จ่ายทั้งของส่วนตัว และของในครัวเรือนมากกว่าผู้ชาย

- นโยบายธนาคารในสังคมที่ผู้หญิงแต่งงานและมีลูกน้อยลง การกู้เงินและดอกเบี้ยควรเท่ากับคู่สมรสหรือไม่ และควรตอบสนองในชีวิตผู้หญิงเดี่ยวอย่างไร 

แต่ทั้งหมดทั้งปวงนี้ สังคมต้องมีความเข้าใจในความไม่เท่าเทียมทางเพศที่แฝงอยู่ในวัฒนธรรมเสียก่อน เพราะยังมีคนอีกส่วนใหญ่ในประเทศที่เชื่อว่าความไม่เท่าเทียมเหล่านี้คือสิ่งที่ต้องเป็นไป นั่นคือความยากยิ่งที่จะเปลี่ยนแปลง และก็ยังคงสร้างนโยบายเดิมๆ ด้วยความคิดแบบเดิม ที่ยิ่งวันยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ ที่ยิ่งวันยิ่งห่างออกในระหว่างชนชั้น

มาตรา 142 การเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณต้องแสดงแหล่งที่มาและประมาณการรายได้ ผลสัมฤทธิ์หรือประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการจ่ายเงิน และความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาต่าง ๆ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ 

และฉันรอดูว่าจะคุ้มค่ากับการใช้จ่ายแค่ไหน ในฐานะ 'ฝ่ายที่ต้องตรวจสอบ'

ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์
ครูธัญ - ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ นักเต้น นักออกแบบท่าเต้น นักกิจกรรมส่งเสริมความหลากหลายทางเพศ และสส ปาร์ตี้ลิส ลำดับที่ 25 พรรคอนาคตใหม่
1Article
0Video
14Blog