ไม่พบผลการค้นหา
นายทะเบียนพรรคเพื่อไทย ยืนยันรัฐบาลยิ่งลักษณ์ลดภาษีเพื่อช่วยผู้ประกอบการแข่งขันต่างชาติได้ ซัด “อุตตม” เลิกโบ้ยความผิดทั้งที่บริหารเศรษฐกิจพลาด

นายจักรพงษ์ แสงมณี นายทะเบียนพรรคเพื่อไทย ระบุถึงกรณี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวพาดพิงในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ว่า "รัฐบาลช่วงปี 2556 ปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล และต่อเนื่องมาจากผลกระทบราคาน้ำมันลดลงรุนแรงในปี 2558 และ 2559 ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ภาษีอากร" โดยระบุผ่านเฟซบุ๊กว่า 

การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนปัจจุบันกล่าวว่า การจัดเก็บภาษีปี 2563 ไม่เข้าเป้าเกิดจากการที่ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ลดอัตราภาษีลงมาก ซึ่งคงหมายถึงการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากอัตรา 30 % มาที่ 23% และลดอีกครั้งจนมาอยู่ที่ 20% นั้น เป็นการ "รำไม่ดี โทษปี่โทษกลอง" ตามถนัด

การเข้ามาของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในปี 2554 ประเทศไทยมีอัตราภาษีนิติบุคคลสูงถึง 30% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ในเอเซีย ถือเป็นอุปสรรคสำคัญ ที่ทำให้บริษัทที่ประกอบการโดยสุจริตในประเทศไทย เสียเปรียบบริษัทในต่างประเทศ เป็นอัตราที่สูงจนจูงใจให้เกิดการหลบเลี่ยงภาษี และคุ้มค่ากับกิจกรรมการโอนกำไรออกไปนอกประเทศ ซึ่งส่งผลเป็นการปล้นเงินภาษีไทยไปเอื้อเป็นรายได้ภาษีให้ชาติอื่นด้วยสารพัดวิธีการโดยเฉพาะ transfer pricing อย่างน่าเสียดาย 

โดยรัฐบาลยิ่งลักษณ์มุ่งสร้างความสามารถ ในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการในประเทศไทย ลดอัตราภาษีที่สูงลิ่วอันเป็นภาระของผุ้สุจริต แต่เปิดช่องให้กลุ่มที่คุ้มจะหลบเลี่ยงภาษี ซึ่งการลดอัตราภาษีสามารถสนับสนุนการขยายฐานภาษีให้กว้างขวาง ส่งเสริมให้บริษัทในประเทศให้สามารถแข่งขันกับบริษัทต่างชาติได้

จึงทำให้การลดภาษีนิติบุคคลลงจาก 30 % มาเป็น 23 % ในปี 2555 และลดลงเป็น 20 % ในปี 2556 ดังกล่าว ยังส่งผลให้รัฐบาลมีรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้นจากปีก่อน และสูงตามประมาณการเป้าหมาย โดยไม่ต้องไปเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง หรือไปเอาเงินจากการประมูลคลื่นความถึ่ หรือรีดเอาเงินนำส่งจากรัฐวิสาหกิจอย่างที่ทำอยู่ในเวลานี้

ส่งผลให้ เศรษฐกิจเติบโต ผู้คนมีงานทำ รายได้จากภาษีชนิดอื่นๆ ล้วนเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีสรรพสามิต ภาษีศุลกากรโดยไม่ต้องคิดไแเพิ่มอัตราภาษีให้เป็นภาระกับภาคเอกชน และประชาชน GDP ปี 2555 หลังน้ำท่วมใหญ่ เติบโตต่อเนื่องไปในปี 2556 ก่อนการ shut down กรุงเทพฯ

"ยอมรับความจริงเถอะครับว่าการจัดเก็บที่ไม่เป็นไปตามเป้า ส่วนสำคัญมาจากนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดซ้ำผิดซาก ขาดความรู้ความเข้าใจในการบริหารงาน ส่วนถ้าจะหนีไปโทษโรคระบาดโควิท 2019 คงต้องปุจฉาวิสัชนากันยาวหน่อย แต่ถ้าจะเอาสั้นๆ ขอชี้ว่าลดเป้าเพราะโควิดยอมรับได้ครับ แต่ที่ลดเป้าตั้งมากมายแล้วยังทำได้ไม่ถึงเป้าน่ะ "ไม่มีฝีมือ" ต่างหาก"

อ่านเพิ่มเติม