ไม่พบผลการค้นหา
กฎหมายภาษีอีเพย์เมนต์ ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบของ สนช. และน่าจะมีผลบังคับให้สถาบันการเงินทั้งแบงก์และนอนแบงก์รายงานธุรกรรม 'ขารับ' โอน/ฝาก ในบัญชีลูกค้าแก่สรรพากร ในรอบปีภาษี 2563 กำลังจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือรัฐ เพื่อดักทางการหลบเลี่ยงภาษี และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี เหตุใดต้องมีกฎหมายฉบับนี้ และพ่อค้าแม่ขายรายย่อยตามเฟซบุ๊ก ไอจี ไลน์ จะต้องรับมืออย่างไร ติดตามจากรายงาน

ในที่สุด แนวทางการจัดเก็บภาษีที่บรรดาผู้ค้าขายออนไลน์กังวลกันมากที่สุด ก็ได้รับการผลักดันออกมา โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในยุครัฐบาล คสช. ได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรเพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ หรือ "กฎหมายภาษีอีเพย์เมนต์" เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2561 ที่ผ่านมา

สั่งแบงก์-นอนแบงก์ รายงานการ "รับเงิน" ในบัญชีเงินฝากลูกค้า

สาระสำคัญได้รับการพูดถึง อยู่ที่เรื่องการให้สถาบันการเงิน รวมถึงผู้ให้บริการการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) รายงานธุรกรรมบัญชีเงินฝากของลูกค้าที่มีลักษณะพิเศษต่อกรมสรรพากร คือ 1) การฝากหรือรับโอนเงิน (เฉพาะขารับ) รวมกันทุกบัญชีใน 1 ปี ตั้งแต่ 400 ครั้ง (เดิมในชั้นกฤษฎีกากำหนด 200 ครั้ง) และ มียอดรวมตั้งแต่ 2 ล้านบาท หรือ 2) การฝากหรือรับโอนเงิน (เฉพาะขารับ) รวมกันทุกบัญชีใน 1 ปี ตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไป

โดยกฎหมายกำหนดผู้มีหน้าที่รายงานธุรกรรมเหล่านี้คือ สถาบันการเงินทุกแห่ง และ ผู้ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-wallet) ซึ่งข้อมูลที่กรมสรรพากรจะได้รับคือ เลขประจำตัวประชาชน, ชื่อ-สกุล, เลขที่บัญชีเงินฝาก, จำนวนครั้งของการฝาก/รับโอนเงิน และ ยอดรวมของการฝาก/รับโอนเงิน ซึ่งตามข้อกฎหมายเช่นนี้ คนที่ค้าขายออนไลน์จึงกังวลว่า เมื่อถูกรายงานธุรกรรม คือ จะต้องเสียภาษีแน่นอน

ทว่า ภาครัฐดาหน้าออกมาปฏิเสธเรื่องนี้กันเป็นพัลวัน

'ปิ่นสาย สุรัสวดี' รักษาการที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร ยืนยันว่า ข้อมูลที่กรมสรรพากรได้รับจากแบงก์ ไม่ได้จะนำมาตรวจสอบเพื่อเก็บภาษีทันที โดยต้องนำมาประกอบกับข้อมูลอื่น ๆ อีกหลายส่วน เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมผู้เสียภาษี แล้วจัดกลุ่ม แยกเป็นกลุ่มผู้เสียภาษีที่ดี และ กลุ่มเสี่ยง ซึ่งกลุ่มที่ดีก็จะได้รับบริการที่ดีขึ้น เช่น คืนภาษีเร็ว เป็นต้น ส่วนกลุ่มเสี่ยงก็จะดูว่าเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน ถ้าเสี่ยงน้อย เจ้าหน้าที่ก็จะเข้าไปแนะนำให้ทำให้ถูกต้อง และ หากเสี่ยงมาก ก็จะมีหนังสือเชิญมาชี้แจง


"กรณีมีการระบุว่า กฎหมายดังกล่าวมีเจตนาเก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์ หรือ เอสเอ็มอี ขอยืนยันว่า กรมสรรพากรไม่ได้เจตนาเจาะจงโดยตรง เพราะปัจจุบันใครที่มีเงินได้ถึงเกณฑ์ก็ต้องยื่นแบบ ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว" นายปิ่นสายกล่าว


ขณะที่ 'อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์' รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า กฎหมายลักษณะนี้ในต่างประเทศ เช่น นิวซีแลนด์ จะให้มีการรายงานธุรกรรมที่เกิดขึ้นทุกธุรกรรม โดยรายงานเป็นปกติ ไม่ได้กำหนดเรื่องจำนวนครั้ง ซึ่งกรณีของไทย เดิมเสนอเช่นนั้น แต่พออยู่ในชั้นการพิจารณาของกฤษฎีกา ได้มีการกำหนดจำนวนครั้งขึ้นมา จึงทำให้เกิดเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันขึ้น

แม้จะบอกว่า ไม่ได้ออกกฎหมายนี้มาเพื่อจัดการเก็บภาษีกลุ่มอีคอมเมิร์ซ หรือผู้ค้าขายออนไลน์ แต่ 'อภิศักดิ์' ก็ยอมรับว่า เนื่องจากคนไทยมีการหลบภาษีกันมาก โดยเฉพาะการค้าขายออนไลน์ ซึ่งจะไม่เป็นธรรมกับผู้ค้าขายปกติทั่วไป ดังนั้นจึงต้องสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น


"มันต้องอยู่บนฐานเดียวกัน ไม่ใช่ปล่อยให้อีคอมเมิร์ซได้เปรียบ เลยหลบภาษี คนที่ค้าขายทั่วไปจะยิ่งเจ๊ง เพราะตอนนี้เขาเสียเปรียบอยู่ ดังนั้นต้องเอามาอยู่ฐานเดียวกัน" นายอภิศักดิ์กล่าว


ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปตั้งแต่คราวที่กระทรวงการคลังเริ่มต้นเสนอกฎหมายฉบับนี้ 'อภิศักดิ์' และกรมสรรพากรต่างหมายมั่นปั้นมือไว้ว่า กฎหมายฉบับนี้จะเข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญของกรมสรรพากร ให้สามารถจัดเก็บรายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องไปปรับขึ้นอัตราภาษี

ขณะที่ 'สมคิด จาตุศรีพิทักษ์' รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ได้สั่งให้กระทรวงการคลังเร่งเก็บภาษีค้าขายออนไลน์ เพราะมีการหลบภาษีกันมาก ซึ่งปัจจุบันการค้าขายออนไลน์เติบโตอย่างมาก เห็นได้จากข้อมูลของบริษัทรับส่งของแห่งหนึ่ง ที่เมื่อ 2 ปี เคยมียอดส่งของแค่วันละ 7-8 หมื่นกล่อง แต่ปัจจุบันยอดส่งของพุ่งเป็น 1-2 ล้านกล่องต่อวันแล้ว

สรรพากรใช้ดิจิทัล ทำบิ๊กดาต้าวิเคราะห์ข้อมูล ตามเก็บภาษีตรงคน ตรงเป้า

เร็ว ๆ นี้ 'เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ' อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวในงานสัมมนาเศรษฐกิจประจำปีสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ปี 2561 หัวข้อ "สรรพากรในยุคข้อมูลใหม่ ประชาชนได้อะไร" ว่า การดำเนินนโยบายด้านภาษีของกรมสรรพากรในระยะข้างหน้า จะอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ D2RIVE (Digital Transformation, Data Analytics, Revenue Collection, Innovation, Values, และ Efficiency) ซึ่งจะนำบิ๊กดาต้ามาวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้สามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างตรงจุด ตรงเป้าหมายมากขึ้น

โดยด้านการตรวจสอบภาษี กรมสรรพากรได้นำระบบการประเมินความเสี่ยง (RBA) มาใช้ในการเชื่อมโยงข้อมูล กระทบยอดภาษีแต่ละประเภทเข้าด้วยกัน ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น และ จะช่วยแยกคนดีกับคนไม่ดีออกจากกันได้ ทั้งนี้ กรมจะเน้นตรวจเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ส่วนคนที่ดีจะคืนภาษีให้เร็วขึ้น โดยคืนแบบอัตโนมัติ เพื่อตัดการใช้ดุลยพินิจเจ้าหน้าที่ออกไป

ปี 2563 ถึงเวลาบังคับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์รับมือกฎหมายใหม่

จึงเป็นที่แน่ชัดว่า กฎหมายนี้จะถูกบังคับใช้แน่นอน โดยจะเริ่มมีผล (ธุรกรรมที่เกิดขึ้น) ในปีภาษี 2563 ซึ่งผู้มีหน้าที่รายงานข้อมูลต้องรายงานต่อกรมสรรพากรในปี 2564 ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจ (ทั้งออฟไลน์-ออนไลน์) มีเวลาปรับตัว 1 ปี (2562) และต้องเตรียมความพร้อมรับมือ

โดยสิ่งที่กรมสรรพากรแนะนำ คือ ผู้ประกอบธุรกิจ ต้อง “จัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างถูกต้อง” ตรงไปตรงมา และ ยื่นภาษีให้ครบถ้วนตรงเวลา ซึ่งจะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ และหากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ก็ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ด้วย

ทั้งนี้ กรณีผู้ประกอบธุรกิจเป็นบุคคลธรรมดา ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่มีขั้นอัตราตั้งแต่ร้อยละ 5-35 โดยกฎหมายกำหนดให้หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาร้อยละ 60 ดังนั้น หากไม่ได้มีกำไรมาก ก็คงจะไม่คุ้ม ทั้งนี้ ก็มีคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญภาษีเอกชน ว่าผู้ประกอบธุรกิจควรหันไปจัดตั้งบริษัท ทำธุรกิจในรูปนิติบุคคลแทน ก็จะเสียภาษีในอัตราที่ถูกกว่าทำธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา       

เพราะด้วยระบบการตรวจสอบภาษีของกรมสรรพากรที่มีการใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาตรวจสอบ ร่วมกันการใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (บิ๊กดาต้า) จะทำให้การตรวจสอบภาษี มีความแม่นยำ และ ตรงตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ

ดังนั้น ใครยังคิด จะหลบ จะหลีก จะเลี่ยงภาษี... คงต้องคิดใหม่แล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :