ไม่พบผลการค้นหา
ศบค. จ่อเปิดตัวแอปฯ "ไทยชนะ" ควบคู่คลายล็อกระยะที่ 2 อำนวยความสะดวกผู้ประกอบการร้านค้า สแกนคนเข้า-ออกร้าน รู้ปริมาณความหนาแน่น รู้คิว ช่วยติดตามผู้เกี่ยวข้องผู้ติดเชื้อโควิด-19 'ดีอีเอส' ย้ำข้อมูลเป็นความลับส่วนบุคคลใช้สำหรับควบคุมโรคเท่านั้น

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. เปิดเผยว่า การประชุมศบค.ชุดเล็ก เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา (14 พ.ค.) ได้แจ้งว่าแอปพลิเคชัน "ไทยชนะ" ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มทางอิเล็กทรอนิกส์เสร็จแล้ว เพื่อให้ผู้ประกอบการ ร้านค้า หรือร้านตัดผม ลงทะเบียนเพื่อรับคิวอาร์โคด มาตั้งไว้หน้าทางเข้าออกร้าน จากเดิมที่ต้องลงทะเทียบด้วยการลงชื่อ มาเป็นการใช้โทรศัพท์มือถือของผู้ใช้บริการเช็กอินเข้าและออก

นอกจากนี้ ยังตรวจสอบความหนาแน่น หรือจองคิวรับบริการได้ ซึ่งเป็นมาตรการรองรับการคลายล็อกในระยะที่ 2 หากบริการต่างๆ เปิดให้บริการมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถให้เรตติ้ง หรือคะแนนพึงพอใจในการให้บริการต่างๆ เช่น ร้านตัดผม เพื่อเป็นการดึงลูกค้า และในอนาคตอาจจะมีแต้ม สะสมแต้ม ส่วนลดเกิดขึ้น ในฐานะคนใช้งานก็อาจได้ประโยชน์ด้วย ขณะที่เจ้าของกิจการต้องทำให้ดี เพราะว่าทำดีแล้วมีเรตติ้งเพิ่มขึ้นก็จะดึงลูกค้ามากขึ้น

"ท่านไม่ต้องกังวลความเป็นส่วนตัว เพราะเราไม่ต้องการอะไรมากมายไปกว่า เบอร์โทรศัพท์เท่านั้น แค่สแกนเข้ามาก็รู้ว่าท่านได้มาเช็กอิน แค่มีโทรศัพท์เท่านั้น หลายคนถามว่าหากไม่มีโทรศัพท์ ลูกเล็กๆ หากต้องพาไปนอกบ้าน หรือคนสูงอายุใช้ไม่เป็น ก็แนะนำไว้ก่อนเลยว่า อาจจะมี 2 ระบบ ลงรายมือชื่อควบคู่กันไป แม้อาจจะตอบโจทย์ได้ร้อยละ70-80 อีกร้อยละ 10-20 อาจจะขาดตกบกพร่องไปบ้างก็ต้องขออภัยไว้ตั้งแต่ล่วงหน้า แต่ทั้งหมดก็เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในระลอกที่สอง หากสามารถตามกันได้เร็ว โดยชุดข้อมูลเหล่านี้กระทรวงสาธารณสุข ดูแลเฉพาะเรื่องสุขภาพเท่านั้น" นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

IMG_20200514124118000000.jpg
  • นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิด ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิด ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวเพิ่มเติมว่า แอปพลิเคชัน "ไทยชนะ" จะทำหน้าที่จัดการดูแลเรื่องมาตรการ 5 ข้อของศบค. เริ่มต้นจากผู้ประกอบการ หรือร้านค้า จะต้องไปลงทะเบียนในเว็บไซต์ เพื่อให้ได้คิวอาร์โค้ดมาแปะที่หน้าร้าน และเมื่อประชาชนมาใช้บริการจะต้องสแกนคิวอาร์โค้ด ถือเป็นการเช็กอิน และเมื่อใช้บริการเรียบร้อยแล้วก็สแกนคิวอาร์โค้ดของร้านอีกครั้งเปรียบเหมือนการเช็กเอาท์ ซึ่งจะทำให้ทราบปริมาณความหนาแน่นของผู้ใช้บริการในร้านค้านั้นๆ และยังเป็นผลดีต่อการติดตามผู้ป่วยอีกด้วย

"จากเดิมที่มีผู้ป่วยแค่ 1 คน แต่ต้องติดตามคนจำนวนกว่า 2,000-3,000 คน ความยุ่งยากในประเด็นนี้ก็จะหมดไป ทางกรมควบคุมโรคจะสามารถติดตามผู้ป่วย หรือผู้ที่สงสัยเข้ามาตรวจได้ ซึ่งระบบจะมีการแจ้งเตือนไปยังเบอร์โทรศัพท์ที่ได้ลงทะเบียนไว้ ซึ่งผู้ที่ได้รับข้อความสามารถไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ฟรีทันที โดยยืนยันว่าข้อมูลทุกอย่างจะเป็นความลับ ไม่มีความซับซ้อนยุ่งยากอะไรในการใช้งาน " นพ.พลวรรธน์ กล่าว

สำหรับผู้ประกอบการทุกกิจการที่ศบค.ประกาศผ่อนคลาย สามารถไปลงทะเบียนในเว็บไซต์ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นร้านขนาดใหญ่ ร้านดัง หรือร้านรถเข็นริมทาง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการทดแทนการใช้สมุดจดที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เป็นการช่วยลดความยุ่งยาก และปกป้องความเป็นส่วนตัวของประชาชนอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงบ่ายวันพรุ่งนี้ (15 พ.ค.2563) เนื่องจากขณะนี้อยู่ระหว่างการทำให้แอปพลิเคชันมีความเสถียร ก่อนที่จะเปิดให้ลงทะเบียนกับประชาชนจำนวนมาก เพื่อป้องกันการผิดพลาด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :