ไม่พบผลการค้นหา
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน เดินสายพบ 'จุรินทร์' บ่าย ร่วมวงประชุม กรอ. ครั้งที่ 1 'รมว.พาณิชย์' ประกาศตั้งวอร์รูมรับมือสงครามการค้า ปักธงรุก 5 ตลาดส่งออกหลัก ปลดล็อกอุปสรรคค้าชายแดน เย็น ตบเท้าเข้าพบ 'ประยุทธ์-สมคิด' ชง 6 ข้อ แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ตั้งเลขาฯ สภาพัฒน์เป็นหัวหน้าคณะทำงานประสานภาครัฐกับภาคเอกชน

เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. วันที่ 14 ส.ค. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ครั้งที่ 1/2562 ว่า การหารือวันนี้เป็นการวิเคราะห์สถานการณ์การค้าและการส่งออกของประเทศ ท่ามกลางสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่กำลังมีผลกระทบไปทั่วโลก โดยในที่ประชุม ได้มีมติ 3 ด้าน ประกอบด้วย 

หนึ่ง ตั้งคณะวอร์รูม (War room) ซึ่งมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เป็นฝ่ายเลขานุการ ประกอบด้วยผู้แทนทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะไปหารือกำหนดมาตรการเชิงรุกเชิงรับร่วมกัน เพื่อปลดล็อกปัญหาและรักษาตลาดส่งออกของไทยในเวทีโลก

สอง เร่งรัดเจาะตลาดต่างประเทศ ตลาดส่งออกเร่งด่วน โดยกำหนดเป้าหมายการทำงาน 3-6 เดือนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ มีตลาดเร่งด่วนที่เห็นตรงกัน 5-6 ตลาดหลักในการผลักดันการส่งออก ได้แก่

  • ตลาด CLMV ซึ่งเป็นตลาดศักยภาพและใกล้ประเทศเรา และสามารถเพิ่มตัวเลขเร่งด่วน
  • ตลาดจีน ซึ่งยังเป็นตลาดที่มีศัยกภาพสูงมาก ที่ต้องมุ่งเน้นเพิ่มมูลค่าในพื้นที่ที่เราเข้าไปขยายตลาดแล้ว และขยายไปยังส่วนพื้นที่หรือมณฑลที่ยังเข้าไม่ถึง
  • ตลาดอินเดียและเอเชียใต้ ซึ่งอาจเรียกว่าตลาดใหม่ มีศักยภาพสูงมาก
  • ตลาดอาเซียน ที่ยังสามารถขยายตัวดี
  • ตลาดตะวันออกกลาง ซึ่งเคยเป็นตลาดข้าวเก่าของไทย เช่น อิรัก รวมทั้งตลาดอื่นๆ เช่น จอร์แดน กาตาร์ บาห์เรน คูเวต และตลาดอื่นๆ ก็สำคัญ ก็จะทำเช่นกัน 

โดยที่ประชุมกำหนดให้มีคณะทำงานรายตลาด ทั้งรายสินค้าและบริการ โดยมีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเป็นแม่งานประสานกับหน่วยต่างๆ ในการหาช่องทางการวางกลยุทธ์การผลักดันการส่งออกต่อไป

สาม ผลักดันการค้าชายแดน ซึ่งยังมีความสำคัญสำหรับการเพิ่มมูลค่าการค้าของไทยในปัจจุบัน และยังมีปัญหาอุปสรรคอยู่มาก โดยมีคณะกรรมการส่งเสริมการค้าชายแดนและการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน ชุดที่มีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นฝ่ายเลขานุการ จะหารือกับภาคเอกชน เพื่อเพิ่มมูลค่า และภาคเอกชนมีข้อเสนอให้เจรจาเพื่อเปิดด่านถาวรเพิ่ม เช่น ด่านสิงขร ด่านห้วยต้นนุ่น ช่องอานม้า ช่องสายตะกู ต้องหารือกับผู้เกี่ยวข้อง 

นอกจากนี้ ภาคเอกชนขอให้พิจารณาเรื่องการขยายเวลาปิดด่านจากเดิมเปิดเวลา 05.00 น. ถึง 23.00 น. ขอขยายเป็น 24.00 น. โดยเรื่องนี้จะนำไปเจรจาในการประชุมค้าชายแดน และภาคเอกชนยังเสนอให้เป็นการทะลวงด่านค้างท่อที่ได้ดำเนินการเปิดด่านแล้ว แต่ยังอาจมีโครงสร้างพื้นฐานไม่เสร็จสมบูรณ์ ทำให้ด่านยังเปิดไม่ได��หรือค้าขายไม่ได้ เช่น สะพานแม่สอดสองเสร็จแล้ว แต่การขนส่งสินค้าในทางปฏิบัติยังมีอุปสรรค โดยที่ประชุมได้รับไปหาหนทางแก้ปัญหาให้เปิดด่าน หรือกรณีด่านสะเดาใหม่ ยังติดขัดเรื่องถนนเชื่อมต่อระหว่างไทยกับมาเลเซีย ก็จะไปหารือในช่วงที่จะไปเจรจากับมาเลเซียที่ด่านชายแดน 

"ภาคเอกชนได้เสนอให้เปิดด่านการค้าชายแดนเพิ่มขึ้น เช่น ด่านสิงขร ด่านบ้านห้วยต้นนุ่น ด่านช่องอานม้า ด่านบ้านท่าเส้น และด่านช่องสายตะกู ซึ่งรับที่นำไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว และยังมีแผนที่จะทะลวงด่านค้างท่อ เช่น ด่านแม่สอด ที่ปัจจุบันสะพานแม่สอดแห่งที่ 2 สร้างเสร็จแล้ว แต่ยังไมได้เปิดให้ขนส่งสินค้าระหว่างไทย-เมียนมา และด่านสะเดา 2 ที่ยังติดปัญหาถนนเชื่อมต่อไทย-มาเลเซีย ก็จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาต่อไป" รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ระบุ

อย่างไรก็ดี ที่ประชุมวันนี้ ไม่ได้พิจารณาเป้าหมายส่งออกของไทยปีนี้ที่ตั้งไว้ร้อยละ 3 เนื่องจากเห็นว่าไม่ใช่เวทีพิจารณาเป้าหมายการส่งออก แต่เป็นเวทีหามาตรการเพื่อสนับสนุนการส่งออกให้ไปต่อได้ และให้มีผลลัพธ์ดีที่สุด พร้อมยืนยันว่าการเร่งรัดการส่งออก เป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ แต่การทำคนเดียวคงไม่พอ ต้องทำร่วมกับภาคเอกชนซึ่งเป็นทัพหน้า และยิ่งช่วงนี้เป็นช่วงที่สถานการณ์ไม่ปกติ เพราะมีสงครามการค้าก็ยิ่งต้องทำให้เข้มข้นขึ้นเพื่อช่วยคลี่คลายสถานการณ์

ทั้งนี้ การประชุม กรอ.พาณิชย์ ครั้งนี้ เป็นครั้งแรก มีคณะกรรมการภาครัฐจากหลายกระทรวง อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และภาคเอกชน เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย โดยการประชุมจะอีกประมาณเดือนละครั้ง 

กกร-ประยุทธ์-สมคิด-เอกชน-คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันตบเท้าเข้าพบประยุทธ์-สมคิด

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 14 ส.ค. 2562 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังนำคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นข้อเสนอของภาคเอกชนต่อรัฐบาลชุดใหม่ 6 เรื่อง เพื่อแก้ปัญหาร่วมกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ได้แก่ 

เรื่องที่ 1 การเสริมสร้างความร่วมมือภาครัฐและเอกชน อาทิ การปรับปรุงโครงสร้างและแนวทางการทำงานของกรอ. ระดับต่างๆ การมีส่วนร่วมในการจัดสรรงบประมาณในการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล และ Big Data

เรื่องที่ 2 การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภาคเอกชน อาทิ ขอให้ยกระดับ SMEs ทั้งในด้านสินค้าและบริการให้มีคุณภาพและมาตรฐานสากล การรณรงค์และสนับสนุนการซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย (Made in Thailand) การส่งเสริมการตลาดออนไลน์ และการเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เพียงพอ

เรื่องที่ 3 การพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ อาทิ ขอให้รัฐบาลพิจารณาอนุญาตให้ภาคเอกชนสามารถเข้าถึงข้อมูลของภาครัฐที่จำเป็น การปรับบทบาทภาครัฐโดยขอให้ถ่ายโอนงานบริการภาครัฐบางส่วนให้แก่เอกชนที่มีความพร้อมดำเนินการแทน

เรื่องที่ 4 สนับสนุนโครงการที่สำคัญของภาครัฐให้ดำเนินการต่อเนื่อง อาทิ การเร่งรัดการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการ Pattaya on Pier, Cruise Master Plan รวมทั้งเร่งรัดการแก้ปัญหาจากการออกประกาศผังเมือง เร่งปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ

เรื่องที่ 5 เสริมสร้างธรรมาภิบาล ความรับผิดชอบต่อสังคม เสนอให้รัฐพิจารณายกเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็น การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในทางปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมทั้งปรับปรุงวิธีการจ่ายเงินสวัสดิการของภาครัฐ

เรื่องที่ 6 ยกระดับทักษะ ความรู้ และคุณภาพชีวิตทรัพยากรมนุษย์ อาทิ การสร้างแรงจูงใจในการยกระดับฝีมือของบุคลากรทุกระดับ การสนับสนุนให้ทุกโรงเรียนจัดการเรียนภาษาอังกฤษอย่างจริงจัง และการเตรียมการรองรับสังคมผู้สูงอายุ ทั้งนี้ เสนอให้แก้ไขปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการปฏิรูปด้วย

อย่างไรก็ตาม นายสุพันธุ์กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกไม่ดีส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย เพราะฉะนั้นการร่วมมือกันเพื่อรับรู้ปัญหาโดยตั้งคณะทำงานขึ้นมาโดยมีนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (เลขาธิการสภาพัฒน์) เป็นหัวหน้าคณะทำงานภาครัฐกับภาคเอกชน เพื่อตั้งคณะย่อยเพื่อตั้งคณะกรรมการเพื่อประสานงานกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :