ไม่พบผลการค้นหา
นักศึกษาหญิงอินเดียถูกอธิการสั่งให้ถอดกางเกงชั้นในเพื่อพิสูจน์ว่าไม่มีประจำเดือน หลังผู้ดูแลหอพักฟ้องว่า นศ.ไม่ยอมรายงานตัวเมื่อมีประจำเดือน ฝ่าฝืนกฎห้ามหญิงมีประจำเดือนเข้าพื้นที่ศาสนสถาน ห้ามใช้ห้องครัว และห้ามสัมผัสผู้อื่น เพราะเชื่อว่า 'ไม่บริสุทธิ์'

คณะกรรมาธิการด้านสตรีของรัชคุชราต ประเทศอินเดีย สั่งไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีนักศึกษาหญิงระดับปริญญาตรี 68 คน ของสถาบันสตรีศรีกาจานันด์ (SSGI) ในเมืองบุจ ถูกละเมิดสิทธิและทำให้ได้รับความอับอาย สืบเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา นักศึกษาหญิงกลุ่มดังกล่าวถูกอธิการของสถาบันสั่งให้ถอดกางเกงชั้นในเพื่อพิสูจน์ว่าแต่ละคนไม่ได้กำลังมีประจำเดือน

แม้เหตุการณ์จะเกิดขึ้นในห้องน้ำหญิง ต่อหน้าผู้มีอำนาจเกี่ยวข้องที่เป็นผู้หญิงทั้งหมด แต่การถูกบังคับให้ทำเรื่องดังกล่าวต่อหน้าผู้อื่น ทำให้ นศ.กลุ่มดังกล่าวได้รับผลกระทบทางจิตใจอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ผู้ดูแลหอพักและอธิการสถาบัน ยืนยันว่า นักศึกษาทุกคนรับทราบกฎของหอพักดีอยู่แล้ว เพราะมีการแจ้งให้ทราบตั้งแต่ลงทะเบียนเข้าพัก โดยเงื่อนไขระบุว่า นักศึกษาหญิงจะต้องรายงานตัวเมื่อมีประจำเดือนเพื่อให้ผู้ดูแลหอพักรับทราบ ขณะที่ผู้มีประจำเดือนจะถูกห้ามเข้าศาสนสถาน ห้ามใช้ห้องครัว รวมถึงต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้อื่น เพราะมีความเชื่อโบราณในสังคมฮินดูว่า ผู้มีประจำเดือน 'ไม่บริสุทธิ์'

นักศึกษาที่มีประจำเดือนจะต้องแยกตัวออกห่างจากผู้อื่น ไม่ทำกิจกรรมร่วมกับนักศึกษาคนอื่น ต้องนั่งเรียนแถวหลังสุด ต้องล้างจานชามที่ใช้แล้วด้วยตัวเอง และไม่มีสิทธิพักในห้องนอนตามปกติ แต่ต้องลงไปพักที่ห้องชั้นใต้ดิน ซึ่งถือว่าส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการเรียนรู้วิชาต่างๆ ของนักศึกษาหญิงอย่างมาก นักศึกษาทั้ง 68 ราย จึงตัดสินใจไม่ไปรายงานตัวเรื่องมีประจำเดือนต่อผู้ดูแลหอพักเป็นเวลา 2 เดือน ผู้ดูแลหอพักจึงนำเรื่องไปร้องเรียนต่ออธิการสถาบัน


ความเชื่อเก่าแก่ แต่กระทบชีวิตปัจจุบัน "สมควรเปลี่ยน"

ความเชื่อที่กีดกันผู้หญิงที่มีประจำเดือนออกจากชุมชน หยั่งรากลึกในสังคมอินเดียมานานหลายร้อยปี ขณะที่ SSGI เป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่ได้รับทุนจากผู้นับถือลัทธิสวามีนารายัณ ศาสนาฮินดู ซึ่งยึดมั่นในจารีตประเพณีและความเชื่อเก่าแก่มาแต่โบราณ แต่คณะกรรมาธิการด้านสตรีของรัฐคุชราตระบุว่า แนวคิดเรื่องนี้ต้องปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย และที่ผ่านมา ผู้หญิงอินเดียจำนวนมากได้รับผลกระทบและถูกเลือกปฏิบัติเนื่องจากมีประจำเดือน 

ผ้าอนามัย
  • ผ้าอนามัยแบบซักทำความสะอาดได้ ถูกคำนวณในระยะยาวว่าประหยัดกว่าผ้าอนามัยสำเร็จรูป

สารคดี Period. End of Sentence ซึ่งได้รับรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์สารคดีสั้นยอดเยี่ยมเมื่อปีที่แล้ว เป็นหนึ่งในความเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้คนทั่วโลกและในอินเดียปรับทัศนคติเรื่องประจำเดือนของผู้หญิง เพราะเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวของกลุ่มผู้หญิงอินเดียที่รวมตัวกันตัดเย็บผ้าอนามัยแบบซักทำความสะอาดได้ ช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายรายเดือน

นักวิชาการที่ช่วยรวบรวมข้อมูลเพื่อถ่ายทำสารคดีระบุว่า นอกจากผู้หญิงอินเดียจะต้องเผชิญกับความเชื่อว่าผู้ที่มีประจำเดือนคือความโชคร้ายและสกปรก พวกเธอยังประสบกับปัญหาผ้าอนามัยแพง ทำให้วัยรุ่นและผู้หญิงจากครอบครัวยากจนไม่สามารถเข้าถึงผ้าอนามัยได้ และเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้เด็กหญิงอินเดียในวัยเจริญพันธุ์ต้องเลิกเรียน เพราะครอบครัวไม่อาจจัดหาผ้าอนามัยให้ได้ และการขาดโอกาสทางการศึกษาก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อสังคมอินเดียในวงกว้าง

ส่วนผู้นับถือศาสนาฮินดูในพื้นที่ชนบทของเนปาล ก็มีความเชื่อเรื่องประจำเดือนไม่ต่างจากอินเดีย เพราะยังมีกฎในชุมชนที่ระบุว่า ผู้หญิงที่มีประจำเดือนจะต้องแยกตัวไปอยู่ในกระท่อมขนาดเล็กที่ห่างไกลผู้คนจนกว่าจะหมดประจำเดือน แต่ผู้หญิงที่พักอยู่ในกระท่อมเหล่านี้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เนื่องจากสภาพอากาศหนาวเย็น ทำให้ล้มป่วย

เมื่อเดือน ธ.ค. 2562 รัฐบาลเนปาลได้ประกาศลงโทษผู้ที่บังคับผู้หญิงให้แยกตัวไปอยู่ที่กระท่อมช่วงมีประจำเดือน จนเป็นเหตุให้เสียชีวิต พร้อมย้ำว่าความเชื่อและหลักปฏิบัติเหล่านี้ต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสังคมโลกปัจจุบัน โดยจะต้องให้ความสำคัญกับสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงด้วย

ที่มา: BBC/ NPR/ New York Times/ SBS

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: