ไม่พบผลการค้นหา
เบื้องหลังการพักชำระหนี้ คืออัตราดอกเบี้ยที่ยังคงเดินไปทุกวัน ลูกหนี้จำเป็นต้องเลือกว่าจะถือสภาพคล่องในช่วงวิกฤตและไปแบกภาระดอกเบี้ยในอนาคต หรือจะยอมแบกภาระดอกเบี้ยตอนนี้ให้เงินต้นลดลง

มาตรการล่าสุดที่ออกมาจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อช่วยเหลือด้านระบบการเงินของประเทศ อาจแบ่งง่ายๆ ได้เป็น 3 ประเภทใหญ่คือ มาตรการช่วยเหลือระดับครัวเรือน มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กหรือเอสเอ็มอี และมาตรการรักษาเสถียรภาพการเงินผ่านกองทุนดูแลตราสารหนี้เอกชน

เมื่อมองลงมาให้ฝั่งความช่วยเหลือที่มีให้กับภาคประชาชน แนวนโยบายที่ ธปท.นำเสนอและส่งผ่านการปรับใช้จริงไปยังธนาคารพาณิชย์รวมถึงธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ล้วนเน้นไปที่ 'การพักชำระหนี้' เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับครัวเรือนเป็นหลัก 

อย่างไรก็ตาม แม้สภาพคล่องจะเป็นสิ่งจำเป็นกับประชาชนที่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาการขาดรายได้จากภาวะวิกฤตโรคระบาดที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน แต่มาตรการดังกล่าวก็มีผลข้างเคียงร้ายแรงที่ต้องทำความเข้าใจเช่นเดียวกัน


พักหนี้ไม่ดี ดอกบาน เงินต้นเพิ่ม

ตามปกติแล้ว ลูกหนี้มี 3 ทางเลือกสำหรับการพักชำระหนี้ คือ เลือกพักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เลือกพักชำระเงินต้นอย่างเดียวแต่ยังจ่ายดอกเบี้ยอยู่ หรือชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยตามปกติ

  • กรณีที่ 1

ถ้าลูกหนี้เลือกพักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย สมมติลูกหนี้มีหนี้บ้านกับธนาคารวงเงิน 1 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี และที่ผ่านมาลูกหนี้ผ่อนเดือนละ 10,000 บาท ในงวดเดือน เม.ย.ที่ต้องผ่อนจ่าย เมื่อคำนวณจากสูตร (เงินต้นคงเหลือ*อัตราดอกเบี้ย *จำนวนวัน) / 365 จะได้ว่า จากเงินผ่อน 10,000 บาท/เดือน คิดเป็นเงินต้น 4,246.58 บาท และเป็นดอกเบี้ย 5,753.42 บาท 

แต่เนื่องจากลูกหนี้ประสบปัญหาทางการเงินจึงขอเข้ารับสิทธิพักเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งสถาบันการเงินสามารถคิดดอกเบี้ยระหว่างการพักชำระหนี้นั้นได้ แต่เป็นการคิดดอกเบี้ยบนยอดเงินต้นเท่านั้น จึงหมายความว่าเมื่อหมดระยะเวลาพักหนี้ ลูกหนี้จะมีดอกเบี้ยค้างชำระทั้งสิ้น 34,520.52 บาท หรือเป็นยอดที่เกิดจากจำนวนดอกเบี้ย 5,753.42 คูณ 6 เดือน จึงเป็นเหตุผลให้เมื่อหมดระยะเวลาการพักชำระหนี้ลูกหนี้กลับมียอดหนี้เพิ่มสูงขึ้นจากดอกเบี้ยที่คงค้างไว้ขณะที่ยอดเงินต้นยังคงเท่าเดิมไม่ได้ลดลง

  • กรณีที่ 2

ในกรณีที่สอง ถ้าลูกหนี้พักจ่ายเงินต้นแต่ยังคงจ่ายดอกเบี้ยเสมอ แปลว่าลูกหนี้จะจ่ายดอกเบี้ยในอัตราส่วนคงที่เนื่องจากเงินต้นที่ใช้คิดดอกเบี้ยมีมูลค่าเท่าเดิม กรณีที่ ณ เวลาเริ่มต้นของการพักหนี้ ลูกหนี้มียอดหนี้ 1 ล้านบาท เมื่อครบเวลาพักหนี้ ลูกหนี้ก็จะยังมียอดหนี้เท่าเดิม

ธอส.-ที่อยู่อาศัย-บ้าน-อสังหาริมทรัพย์
  • กรณีที่ 3

ส่วนในกรณีที่ 3 เมื่อลูกหนี้จ่ายทั้งเงินต้นและดอกเยี้ยตามปกติ ในกรณีของสินเชื่อบ้านที่เป็นประเภทลดต้นลดดอก เมื่อเวลาผ่านไปอัตราดอกเบี้ยของลูกหนี้ก็จะลดลง เช่นเดียวกับที่เงินต้นลดลง

ทางเลือกทั้ง 3 ทาง ล้วนมีข้อดีและข้อเสียด้วยกันทั้งสิ้น ถึงแม้ว่ากรณีแรกลูกหนี้จะมียอดหนี้เพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป แต่ลูกหนี้จะมีเงินสดในมือที่ไม่ต้องเอาไปจ่ายค่างวดซึ่งสามารถเอามาช่วยต่อลมหายใจในยามวิกฤตเช่นนี้ได้ ขณะเดียวกันถ้าลูกหนี้ไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤตก็ไม่ควรพักการชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เพราะจะเป็นการเพิ่มพูมหนี้ที่มีอยู่โดยไม่จำเป็น


หลายธนาคารลดอัตราดอกเบี้ย

ล่าสุด หลังจากที่ ธปท.ออกมาประกาศมาตรการช่วยเหลือระยะที่ 3 ต่อมาไม่นานทั้งธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐก็ดำเนินการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 3 ประเภท ได้แก่ MLR (Minimum Loan Rate) อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี MOR (Minimum Overdraft Rare) อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี และ MRR (Minimum Retail Rate) หรืออัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี 

กล่าวกันตามจริง การปรับอัตราดอกเบี้ยลงย่อมเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว แต่ช่องโหว่จากการปรับดอกเบี้ยนี้ลงก็ยังมี เพราะไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยทุกประเภทจะอ้างอิงจากอัตราดอกเบี้ยทั้ง 3 ด้านบน ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตยังคงยืนอยู่ที่ร้อนละ 18 ต่อปี เท่าเดิม และวิธีการคิดดอกเบี้ยของบัตรเครดิตนั้นก็มีถึง 2 ทบ คือ คิดจากค่าใช้จ่ายทั้งหมดหนึ่งรอบ และไปคิดจากยอดคงค้างอีกหนึ่งรอบ


สรุปจะช่วยหรือไม่ช่วย ปชช.

มาตรการต่างๆ ที่ ธปท.ออกมาล้วนมีเป้าหมายเพื่อจะช่วยรักษาเสถียรภาพทางการเงินทั้งในส่วนภาคใหญ่ของประเทศรวมไปถึงฝั่งประชาชนทั้งสิ้น แต่ก็ยังมีอีกหลายมาตรการที่ทำเพิ่มได้ เช่น การบังคับใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบ (negative policy rate) ที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นหรือธนาคารกลางของสหภาพยุโรปใช้กัน โดยปัจจุบัน ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ Global-rates ญี่ปุ่นมีอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ติดลบร้อยละ 0.10 ขณะสวิสเซอร์แลนด์อยู่ที่ติดลบร้อยละ 0.75 

ธปท. - วิรไท - แบงก์ชาติ - AFP
  • วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

อัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบนั้นโดยตัวของมันเป็นโยบายการเงินไม่ปกติที่ธนาคารกลางจะหยิบมาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในเวลาที่ประชาชนหรือเอกชนไม่กล้าใช้เงิน เช่นในเวลานี้ 

รูปแบบของนโยบายคือสถานบันการเงินจะต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคารกลางเมื่อยอดเงินสำรองเกินระดับที่ธนาคารกลางกำหนดไว้ ก็แปลว่าธนาคารกลางต้องการบีบให้ธนาคารพาณิชย์ใช้เงินหรือปล่อยเงินออกไป และวิธีหลักๆ ก็คือการปล่อยกู้ให้กับธุรกิจหรือครัวเรือน ส่งผลให้ภาคธุรกิจที่เผชิญกับภาวะฝืดเคืองมีสภาพคล่องมากขี้นเช่นเดียวกับประชาชน

อย่างไรก็ตาม ‘เคนเนท โรกอฟฟ์’ ศาสตรจารย์ประจำมหาวิทยาลัยฮาเวิร์ดและอดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอฟชี้ว่า “เครื่องมือทางเศรษฐกิจที่เรากำลังใช้อยู่มันก็สำคัญ แต่เราอยู่ในหายนะทางธรรมชาติหรือสงคราม เราอยู่ท่ามกลางมันและการเอาตัวเองออกมาเป็นเรื่องสำคัญที่สุดตอนนี้”

สิ่งที่ดีที่สุดและมาตรการที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือการหยุดการแพร่ระบาดให้ได้เร็วที่สุด เพื่อให้สภาพเศรษฐกิจที่หยุดชะงักกลับมาเป็นปกติ เมื่อเป็นเช่นเน้นสถานการณ์ทางการเงินของประชาชนและธุรกิจก็จะค่อยๆ ฟื้นขึ้นมา 

อ้างอิง; Reuters, Politico

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;