ไม่พบผลการค้นหา
หลังจากที่มีการแก้ไขวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีของจีน ซึ่งจะทำให้สีจิ้นผิงสามารถครองตำแหน่งผู้นำของจีนต่อไปอย่างไม่มีกำหนด ทำให้นักวิเคราะห์หลายฝ่ายกังวลถึงนโยบายและอนาคตที่จะตกอยู่ในมือของผู้นำเพียงคนเดียวหลังจากนี้

เมื่อวานนี้(11 มี.ค.) ที่ประชุมสภาประชาชนจีนรับรองการประกาศแก้ไขรัฐธรรมนูญขยายวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี ดัวยคะแนนเสียง 2,958 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง และไม่เห็นด้วย 2 เสียง ส่งผลให้นายสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนคนปัจจุบัน สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้จนกว่าจะตัดสินใจพ้นจากตำแหน่งเอง

การก้าวขึ้นสู่อำนาจของสีจิ้นผิงเป็นที่จับตามองของสื่อและนักวิชาการทั่วโลกในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา หลังจากที่ประชุมกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์เสนอมาตรการแก้ไขดังกล่าวเข้าที่่ประชุมสภาประชาชน

ขณะที่บทบรรณาธิการของสื่อในความควบคุมของรัฐบาลจีน ระบุว่า ทางการจีนเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าความเข้มแข็งของผู้นำพรรคอย่างสีจิ้นผิงจะเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จของประเทศชาติ พร้อมยกตัวอย่างสถานการณ์ย่ำแย่ในประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ทั่วโลกที่ใช้ระบบการเมืองตามแบบตะวันตกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บ่งชี้ได้ว่าระบบเหล่านั้นไม่สามารถปรับใช้ได้อย่างลงตัว จึงทำให้เกิดผลที่เลวร้ายอย่างที่เห็น

AP18070300741870.jpg

จุดเริ่มต้นทางการเมืองของสีจิ้นผิง

สีจิ้นผิง เกิดในตระกูลนักการเมือง โดยพ่อของเขาเป็นหนึ่งในรัฐมนตรีของรัฐบาลเหมาเจ๋อตุง แต่ภายหลังถูกถอดจากตำแหน่งทางการเมือง และถูกส่งไปใช้แรงงานหนักในชนบท และในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม สีจิ้นผิงถูกส่งไปอบรมการให้การศึกษาเยาวชนในเขตชนบท ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สมาชิกยุวชนของพรรคคคอมมิวนิสต์ต้องเข้าร่วม

ในปี 1979 สีได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เต็มตัว หลังจากที่เรียนจบและมีบทบาทในกองทัพปฏิวัติประชาชนจีน โดยเขาเป็นบุคคลที่มีผลงานที่โดดเด่นคนหนึ่งในกองทัพ และทางกองทัพเองก็คาดหวังว่า สีจิ้นผิงจะสามารถขึ้นเป็นผู้นำแถวหน้าของกองทัพได้ในอนาคต

ปี 1982 สี ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเลขาธิการพรรคในพื้นที่ชนบท ทางตะวันตกเฉียงเหนือของปักกิ่ง และที่นี่เองเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานการเมืองอย่างแท้จริงของสี

ในช่วงทศวรรษ 1990 ถึง 2000 เป็นช่วงที่สีมีบทบาททั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจของพรรค โดยเฉพาะในเขตชนบทที่สีเข้าไปประจำการ ทั้งมลฑลฝูเจี้ยน สีปฏิรูปเศรษฐกิจภายในพื้นที่ที่ตนเองประจำการจนทำให้ฝูเจี้ยนกลายมาเป็นเมืองท่าที่สำคัญทางเศรษฐกิจอีกครั้ง หลังจากที่ต้องเผชิญหน้าความขัดแย้งกับไต้หวันมาเป็นเวลานาน ด้วยผลงานที่โดดเด่นนี้ส่งผลให้สีได้รับเลือกขึ้นเป็นเลขาฯ พรรคประจำมณฑลฝูเจี้ยน ก่อนย้ายไปมณฑลเจ้อเจียงและนครเซี่ยงไฮ้ตามลำดับ

ในทางการเมือง สีมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ซึ่งในปี 2007 เขาได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในสมาชิกถาวรของกรมการเมืองจีน ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินและวางแผนนโยบายต่างๆ ของพรรคคอมมิวนิสต์ และในปี 2012 สีได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์และประธานคณะกรรมการพรรคที่ดูแลกองทัพ จนกระทั่งได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีของจีน ต่อจากหูจิ่นเทาที่หมดวาระลงในปี 2013

AP18069102425260.jpg

อนาคตของสีจิ้นผิง ผู้นำประชานิยม

รัฐธรรมนูญของพรรคคอมมิวนิสต์ปี 1982 บัญญัติวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีจีนว่าจะต้องไม่เกิน 10 ปี หรือ 2 สมัย เพื่อป้องกันการเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จของผู้นำพรรค เหมือนอย่างเหมาเจ๋อตุงเคยเป็นในอดีต จนนำไปสู่เหตุการณ์ทางการเมืองที่นองเลือดมากมาย แต่ในที่สุด ที่ประชุมพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาก็มีการเสนอให้แก้ไขวาระดังกล่าวออกไป ซึ่งเป็นไปตามที่ทุกฝ่ายคาดการณ์ สภาประชาชนจีนได้โหวตแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งดังกล่าวเพื่อให้สีจิ้นผิงครองอำนาจต่อไปได้อีกหลังปี 2023 ซึ่งเป็นกำหนดพ้นวาระเดิม

หลิว เจียนย้ง ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเหรินหมินของจีนกล่าวว่า การที่สีจิ้นผิงจะอยู่ในอำนาจนานกว่า 10 ปีนั้นจะสร้างความมั่นคงและนโยบายต่างๆ ที่สีได้ริเริ่มไว้ให้สามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับตั้งแต่การขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของสีจิ้นผิงในปี 2012 ได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ในการบริหารประเทศ โดยเขากลายมาเป็นผู้นำทั้งในด้านความมั่นคง การเงิน การปฏิรูปเศรษฐกิจและเป็นผู้ริเริ่มโครงการต่างๆ รวมไปถึงการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นในพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้สีจิ้นผิงได้รับความนิยมจากประชาชน และได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกพรรคคนอื่นๆ และทำให้เขาถูกขนานนามว่าเป็น 'ผู้นำประชานิยม'

ขณะที่ภาคธุรกิจ จ้าว หมิงลิน รองประธานบริษัทการลงทุนในปักกิ่ง กล่าวว่า ตราบใดที่สีจิ้นผิงยังคงครองอำนาจอยู่ในมือ วิสัยทัศน์ของสีจิ้นผิงจะสามารถยกมาตรฐานค่าครองชีพและความเป็นอยู่ของประชาชนได้ดีขึ้น

AP18070367081581.jpg

อย่างไรก็ตาม ผู้คัดค้านการขยายวาระดำรงตำแหน่งในสมัยสี้จิ้นผิงก็อยู่เช่นกัน โดยหลี่ต้าถง บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ที่เกษียณอายุแล้ว เขียนจดหมายเปิดผนึกระบุว่า นี่เป็นการทำลายประเทศจีนและประชาชนจีนของพรรคคอมมิวนิสต์ และการโหวตเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาจะนำประเทศกลับไปสู่ยุคของเหมาอีกครั้งหนึ่ง

นักวิเคราะห์การเมือง แครี่ หวง กล่าวว่า ความพยายามครั้งนี้ของสี ทำให้ดูเหมือนว่าจีนได้ฟื้นระบอบราชวงศ์กลับมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งขัดแย้งกับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์การเมืองของจีนสมัยใหม่

‘ประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่า ผู้นำทางการเมืองหลายคน ซึ่งประสงค์จะครองอำนาจตลอดชีวิตนั้น ไม่สามารถที่จะบริหารจัดการเรื่องราวต่างๆ ทั้งหมดได้ ขณะที่ผู้นำบางคนก็ถูกไล่ออกจากตำแหน่ง หรือถูกลอบฆ่าโดยศัตรูทางการเมือง และความขัดแย้งทางการเมืองหรือการปราบปรามฝ่ายตรงข้าม จะนำจีนไปสู่ความเสี่ยงที่จะเกิดโศกนาฏกรรมทางการเมืองดังเช่นยุคของเหมาอีกครั้ง’

ส่วนความเห็นทางด้านเศรษฐกิจ อเล็กซ์ วูล์ฟ นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันการลงทุนอะเบอร์ดีนสแตนดาร์ดประจำฮ่องกง กล่าวว่า ในอนาคต สีจิ้นผิงอาจจะไม่ใช่ผู้นำด้านเศรษฐกิจจีนอีกต่อไป เพราะตอนนี้จีนกำลังประสบปัญหาเรื่องแรงงานและประชากรในวัยทำงานที่ไม่สัมพันธ์กัน รวมไปถึงหนี้เสียที่เพิ่มมากขึ้นจากการลงทุนของรัฐบาลที่ผ่านมา และรัฐบาลจีนก็ไม่ได้แก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง ส่วนซีเอ็นเอ็นมันนี่วิเคราะห์ว่า นโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจของสีจิ้นผิงอาจนำไปสู่ความเสี่ยงทางการเงินของจีนในอนาคตได้

นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจที่ผ่านมาของสีจิ้นผิงสามารถแก้ไขปัญหาแรงงานขาดแคลนและกำลังการผลิตล้นเกินได้ อัตราความยากจนก็ลดลงจาก 10.2 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปี 2012 ลงมาเหลือ 3.1 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปี 2017 ภายใต้การบริหารงานที่เป็นเอกภาพและต่อเนื่อง เพราะมีผู้นำสูงสุดที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเพียงคนเดียว แต่ในระยะยาว การควบคุมเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ และใช้อำนาจรัฐแทรกแซงระบบเศรษฐกิจอย่างเข้มข้น จะทำให้จีนอยู่ในสภาวะที่เปราะบาง ไร้การตรวจสอบถ่วงดุล ทำให้ความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายเกิดขึ้นได้ง่าย และอาจเกิดความผิดพลาดครั้งใหญ่จนเกินเยียวยา 

อลิซาเบธ อีโคโนมี ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับนโยบายของสีจิ้นผิง และผู้อำนวยการด้านเอเชียศึกษาของสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กล่าวว่า "ความเสี่ยงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับเขาก็คือเขาทำให้ตัวเองเป็นสายล่อฟ้า ดังนั้นหากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงอย่างมากหรือเกิดปัญหาใหญ่ ๆ เขาจะต้องรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในจีนทั้งหมด"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง