ไม่พบผลการค้นหา
ร่างทรงที่โดนแหกไม่ใช่แค่ตอนนี้ แต่มีบันทึกไว้ตั้งแต่สมัยอยุธยา ติดตามได้ในคอลัมน์ ประวัติศาสตร์ปากว่าง

เมื่อคุณต้องสวมบทบาทเป็นเทพเจ้าจีน แต่เพลงที่ถูกเปิดให้รำดันเป็นเพลงแขก คุณจะ Keep concept อย่างไร ฟังแค่นี้ก็ดูยากมากแล้ว เพราะต้องแบ่งโสตประสาทให้ชัด ไม่แปลกนักที่เราจะเห็น 'ร่างทรง' บางคนหลุดท่าเซิ้งๆ สไตล์แฟนหมอลำรถแห่ออกมาให้เห็น เพราะก็อย่างที่บอกไปนั่นแหละ ว่าการเป็นร่างทรงไม่ใช่เรื่องง่าย...

ตลอดสัปดาห์ความฮอตฮิตของร่างทรงกลายเป็นที่พูดถึง โดยเฉพาะในแง่ความขบขับฟันนี่ตอนองค์ประทับ นี่ก็เป็นทักษะที่ยากยิ่งเช่นกัน ไหนจะเกร็งคอ เกร็งหน้า ปากเปิกหูตาทำหน้าที่สับสน และการพูดภาษาเทพที่ทำได้แค่รอบเดียว น่าแปลกที่ comment ในโลกโซเชียลส่วนใหญ่มองเรื่องนี้ "ไร้สาระ" และ "โคตรฮา"

แต่ทำไมหนาเหล่าร่างทรงกลับยังมีผู้คนเชื่อถือกราบไหว้ มีเจ้าพ่อเจ้าแม่หน้าใหม่ผุดกันเป็นดอกเห็ดหน้าฝน สังคมไทยเราไร้ที่พึ่งทางใจขนาดนั้นเลยหรือ?

อย่ากระนั้นเลย ในบทความนี้จึงจะขอรวบรวมการ 'จับโป๊ะร่างทรง' ที่มีบันทึกอยู่มากมายในเอกสารประวัติศาสตร์ นั่นแสดงให้เห็นว่า แม้จะร่างทรงจะ 'โดนแหก' และ 'รู้ทัน' มาตั้งแต่ยุคโบร่ำโบราณ แต่สังคมบ้านเราก็ยังไม่เคยขาดแคลนเหล่าเทพเจ้ากายหยาบพวกนี้


ร่างทรงต้องย้อมใจ

ความน่าสนใจของการเป็นร่างทรงอย่างหนึ่งคือ ระหว่างประกอบพิธีมักมีเครื่องเซ่นสรวง คือ ข้าวพล่าปลายำ และของมึนเมา เช่น บุหรี่ยาเส้น และ 'เหล้า' เป็นสิ่งสำคัญ บ่อยครั้งเมื่อองค์เริ่มประทับทรง ของมึนเมาเหล่านี้มักจะได้รับเชิญให้เป็นส่วนหนึ่งในการแสดงฤทธิ์ เช่น การดูดยาเส้นทีละหลายๆ มวน และการกินเหล้าแบบม้วนเดียวหมดขวด

ชาวฝรั่งเศสที่อาศัยในอยุธยานาม 'ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง' (Francois Henri Turpin) ดูเหมือนจะติดใจเรื่องร่างทรงมากเป็นพิเศษถึงกับบันทึกไว้อย่างละเอียดหลายหน้า โดยตอนหนึ่งได้เล่าว่า ร่างทรง (ที่มักเป็นเพศหญิง) จะบิดตัวสั่นสะเทิ้มแข็งเกร็งทั้งร่างกาย เมื่อได้ที่ก็จะดื่มเหล้าที่ทำจากข้าว เต้นไปตามดนตรีมโหรี ดาวน์โหลดองค์อยู่สักพักก็จะกลายเป็นเจ้าพ่อเต็มตัว พูดคุยกับสานุศิษย์ด้วยน้ำเสียงกระโชกโฮกฮาก

การย้อมใจด้วยเครื่องเมาดูจะเกี่ยวข้องกับการเข้าทรงเสมือนเนื้อเดียวกัน นอกจากในอยุธยาถ้าข้ามไปถึงวัฒนธรรมกรีก นักบวชหญิงไพธีอา (Pythia) ในวิหารเดลฟี (Delphi) ก่อนจะประทับทรงทำนายเทพพยากรณ์ได้ก็ต้องอาศัยความเมาเข้าช่วยเหมือนกัน ต่างกันเพียงว่าร่างทรงบ้านเรากินเหล้า แต่ไพธีอาจะใช้วิธีสูดควันที่พวยพุ่งจากสะดือโลก (Navel of the world) สันนิษฐานกันว่าคือควันจากหินหนืดใต้ผืนโลก นัยหนึ่งเป็นการลดทอนความเป็นตัวของตัวเองเพื่อเปิดโอกาสให้เทพได้ครอบงำได้เต็มที่ แต่อีกนัยหนึ่งก็คือเมานั่นแหละ เมาจนแสดงท่าเพี้ยนๆ ออกมา 

ในทำนองเดียวกัน ร่างทรงที่ตุรแปงได้พบเจอในอยุธยา ดูเหมือนจะเมาอย่างเต็มที่ ระหว่างองค์ลงแล้วยัง "ดื่มเหล้าและกินเนื้อดิบอย่างดุเดือด" ตุรแปงเล่าว่าร่างทรงนั้นมักขู่เข็ญว่าจะทำให้ชาวบ้านป่วยจนกลัวลาน ต้องประเคนของตามที่ถูกเรียกร้องนานา ดูไร้เหตุผลโคตรๆ ในสายตาฝรั่ง ขณะที่ชาวสยามเองก็ไม่ใช่รู้ไม่ทัน ถึงกับเคยเปรยให้ตุรแปงฟังว่า

"...การพูดหลอกลวงเช่นนี้เป็นที่เชื่อถือมาจนกลายเป็นเรื่องที่ทำให้คนทั่วไปล่มจม ชาวสยามเคยพูดว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลกับพวกผีนี่แหละที่กอบโกยเอาสมบัติที่เขาสะสมไว้ไปหมด..."  


ร่างทรงตามสั่ง

เรื่องจับโป๊ะเรื่องที่ 2 เป็นเรื่องของร่างทรง 'ตามสั่ง' ที่บอกว่าตามสั่งก็คือ เป็นไปตามคำสั่งของ 'ขุนชำนาญ' (ต่อมาเป็น 'พระชำนาญบริรักษ์' ว่าที่โกษาธิบดี) ทหารเอกของ 'สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ' ที่อยากกำจัดหอกข้างพระราชบัลลังก์ นั่นก็คือ 'เจ้าพระองค์แก้ว' พี่เขยของเจ้าฟ้าอภัย โอรสของพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ซึ่งพยายามชิงราชสมบัติกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

ครั้นจะหาเหตุลอยๆ ก็ดูไม่ค่อยเนียน ขุนชำนาญจึงออกอุบายเอาพระธำมรงค์ไปซ่อนไว้ที่ต้นยางในเขตบ้านเจ้าพระองค์แก้ว จากนั้นก็หาคนทรงมา 'ทรงปลอมๆ' ชี้จุดที่พระธำมรงค์หายไป 

"...ออท้าวคนทรงรู้เหตุอยู่แล้ว แกล้งกระทำมารยาเป็นทีเทวดามาสิงสู่ ทำหาวเรอพูดผย้ำเผยอ แล้วทายว่าจะได้พระธำมรงค์นั้นคืน แต่ทว่ามีคนอื่นเอาไปซ่อนไว้ที่ต้นไม้ใหญ่... ว่าแล้วจึงนำข้าหลวงไปขุดเอาพระธำมรงค์นั้นได้ที่ริมต้นยาง... พระธำมรงค์อยู่ในบ้านเรือนเจ้าพระองค์แก้ว จึงพิพากษาว่าเจ้าพระองค์แก้วเป็นกบฏโทษถึงตาย..."  

จากเรื่องนี้เห็นได้ว่า โนผี โนเทวดาใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่การเตี๊ยมล้วนๆ ชัดเจนว่าการทรงผีต้องมีแอ๊คติ้งเป็นสำคัญ 


ร่างทรงนั้นขี้อาย

สิ่งที่สนุกที่สุดในการร่วมพิธีเข้าทรง คือการเฝ้าดูการประทับองค์อย่างช้าๆ ค่อยๆ เปลี่ยนภาวะจากมนุษย์เป็นเทพด้วยการทำท่าทางต่างๆ ที่มนุษย์เขาไม่ทำกัน แต่บางครั้งการประทับทรงก็ต้องอาศัยสมาธิ ครั้นจะมีใครมาจับจ้อง เจ้าก็อาจจะเขินได้ เหมือนอย่างเช่นเรื่องเล่าของบาดหลวงฝรั่งเศสผู้หนึ่งในสมัยกรุงธนบุรี ปี พ.ศ. 2313 โดยบาดหลวงได้เล่าถึงชาวคริสต์เข้ารีตผู้หนึ่งที่เอาของไปเร่ขายในหมู่บ้านและก็พบเข้ากับ 'หมอดู' ที่กำลังทำท่ากระโดดโลดเต้น เตรียมพร้อมในการ 'เข้าทรง' อยู่

ชาวคริสต์ผู้นี้ได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างมาว่าหมอดูแม่นยำเหลือหลาย จึงเห็นเป็นโอกาสดีจะนั่งดูการเข้าทรงนี้บ้าง ประมาณว่าพิสูจน์ให้เห็นด้วยตากันจะๆ แต่ปรากฎว่าหมอดูจะกระโดดโลดเต้นสักเท่าไหร่ เจ้าก็ไม่เข้าประทับทรงเสียที จนหมอดูนั้นต้องขอเชิญชาวคริสต์ผู้นั้นออกไปก่อน ความท่อนนี้บันทึกเอาไว้อย่างขำ���่า

“...หมอดูคนนั้นจะกระโดดโลดเต้นสักเท่าไหร่ เจ้าที่จะเข้าทรงก็หาเข้าไม่ จะมัวนอนหลับ หรือจะไปเที่ยวเสียแล้วก็ไม่ทราบ คนทรงจึงร้องขึ้นว่า คงจะมีคนเข้ารีดอยู่ในที่นั่นคน 1 เจ้ากลัวจึงไม่เข้าทรง พวกที่ดูอยู่นั้นก็เที่ยวค้นก็พบคนเข้ารีดของเรา เขาจึงเชิญคนเข้ารีดไปเสียให้พ้นจากที่นั่น คนเข้ารีดก็ต้องไปโดยไม่ได้ดูทรงเจ้าที่ปราถนาไว้ แต่ในเรื่องนี้ก็มีดีอยู่บ้าง เพราะผู้คนที่ดูทรงเจ้าเปนอันมากนั้น ต่างคนต่างประหลาดใจ ว่าคนเข้ารีดมีอำนาจมากมายจนถึงกับเจ้ากลัวดังนี้...”  


อ้างอิง

[1] ตุรแปง, ฟรังซัวส์ อังรี, ประวัติศาสตร์แห่งพระราชอาณาจักสยาม = Histoire du Royaume de Siam, tome premier (พิมพ์ครั้งที่ 2), กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2539, หน้า 93-94.

[2] ปรมานุชิตชิโนรส, สมเด็จกรมพระ, พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับความสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส และพงศาวดารเหนือฉบับพระวิเชียรปรีชา (น้อย) เล่ม 1, พระนคร : องค์การค้าของคุรุสภา, 2504, หน้าที่ 230-231.

วิฬาร์ ลิขิต
เสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ตามแต่ปากอยากจะแกว่ง เรื่องที่คนทั่วไปสนใจ หรือใครไม่สนใจแต่ฉันสนใจฉันก็จะเขียน การตีความที่เกิดขึ้นไม่ใช่ที่สุด ถ้าจุดประเด็นให้ถกเถียงได้ก็โอเค แต่ถึงจุดไม่ติดก็ไม่ซี เพราะคิดว่าสิ่งที่ค้นๆ มาเสนอ น่าจะเป็นประโยชน์กับใครบ้างไม่มากก็น้อยในวาระต่างๆ จะพยายามไม่ออกชื่อด่าใครตรงๆ เพราะยังต้องผ่อนคอนโด แต่จะพยายามเสนอ Hint พร้อมไปกับสาระประวัติศาสตร์ที่คิดว่าน่าสนใจและเทียบเคียงกันได้
2Article
0Video
66Blog