ไม่พบผลการค้นหา
'สุดารัตน์' หวั่นนายกฯ ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินสู้โควิด-19 ออกไปเรื่อยๆ ซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ แนะหากรัฐบาลทำตามข้อเสนอ พท. ยุทธการ 21 วันสยบโควิด-19 ตั้งแต่ 17 มี.ค.จะสามารถผ่อนคลายให้ประชาชนกลับมาทำมาหากินได้ ติงมาตรการปิดสถานที่ประกอบการในกรุงเทพฯ ไม่รอบคอบ ทำคนแห่กลับบ้านติดเชื้อพุ่งทั่วประเทศ

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า วันนี้ครบ 7 วันของ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ประเทศไทยยังคงมีผู้ติดเชื้อรายใหม่หลักร้อยทุกวัน ตนได้ย้ำแล้วว่า เมื่อนายกฯ เลือกใช้ยาแรง คือการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เสมือนลงมีดผ่าตัดต้องจบเร็ว ถ้ายืดเยื้อเป็นเดือน อาการของประเทศและประชาชนจะสาหัส ทั้งการควบคุมโรคไม่ได้ ทั้งพิษเศรษฐกิจ ดังนั้น รัฐบาลควรใช้มาตรการที่ชัดเจน ครบถ้วนทุกมิติ ควบคุมโรคให้สงบได้ในเวลาสั้นที่สุด เพื่อความปลอดภัยของประชาชน จนสามารถผ่อนคลายบางมาตรการ ให้คนกลับมาประกออบอาชีพได้

คุณหญิงสุดารัตน์ ระบุว่า ตนและพรรคเพื่อไทย เสนอมาตรการ “ยุทธการ 21 วันสยบ COVID” มาตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค. ถ้ารัฐบาลยอมใช้มาตรการนี้ตั้งแต่วันนั้น วันที่ 7 เม.ย.นี้ จะครบ 21 วัน เราจะสยบการระบาดของโรคได้ และจะสามารถผ่อนผันมาตรการการปิดกิจการต่าง ๆ ให้คนกลับมาทำมาหากินได้แล้ว เพราะหัวใจของการสยบการแพร่กระจายของโรค คือการค้นหาผู้ติดเชื้อ เพื่อนำมาเข้าระบบให้มากและเร็วที่สุด คนป่วยอยู่โรงพยาบาลรักษา ผู้ติดเชื้อที่มีอาการน้อย นำมากักตัวโดยเช่าโรงแรมให้เป็นที่พักฟื้น ประชาชนที่ใช้ชีวิตในสังคม ก็จะปลอดภัยมากขึ้น การควบคุมการระบาดก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ใช่การออกมาตรการปิดเมือง ปิดสถานประกอบการ ต่างๆ เพียงด้านเดียว โดยไม่ค้นหาผู้ติดเชื้อ และนำมาเข้าระบบให้ได้เร็วที่สุด การระบาดของโรคก็จะยาวนานต่อไปเหมือนอมโรคไปเรื่อย ๆ สยบการแพร่ระบาดไม่ได้เสียที และคงต้องปิดกิจการต่าง ๆ ไปอีกนาน

"มาตรการนี้ที่ทั้งเกาหลี ไต้หวัน จีน เขาทำกัน จนสามารถสยบการแพร่ระบาดได้สำเร็จ ตัวเลขนิ่ง และประชาชนกลับมาทำมาค้าขายได้ ขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยมีการตรวจ COVID น้อยกว่าประเทศต่าง ๆ ทุกประเทศ อย่างเกาหลี ตรวจไปถึง 300,000 คน ซึ่งดิฉันบอกไปแล้วว่า ใช้งบไม่เยอะ ถ้ารัฐบาลไทยตั้งเป้าตรวจ 100,000 คน ปูพรมทุกหมู่บ้าน ใช้งบเพียง 200-300 ล้าน เท่านั้น มาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลออกมา จึงต้องชัดเจนครบถ้วน ไม่ใช่สักแต่ทำไป ประกาศทีละมาตรการ ไม่เป็นระบบครบถ้วน เช่น ให้ปิดสถานประกอบการ, ตั้งด่าน แถมเมื่อวานนายกฯ เพิ่งประกาศว่า อาจจะปิดการเดินรถสาธารณะทั้งหมด จะปิดยังไงคะ ถ้าสถานที่ทำงานต่าง ๆ ยังเปิดอยู่ พนักงานก็ต้องเดินทางไปทำงาน" คุณหญิงสุดารัตน์ ระบุ

สำหรับมาตรการที่รัฐบาลออกมาแบบไม่รอบคอบครบถ้วน ทำให้เกิดผลเสียหายยิ่งใหญ่มาแล้ว คือการประกาศปิดสถานประกอบการ 28 ประเภทในกรุงเทพฯ โดยไม่มีมาตรการรองรับให้ครบถ้วน ส่งผลให้คนกว่าแสนเดินทางกลับบ้าน ทำให้เชื้อแพร่กระจายไปทั่วประเทศ จะเห็นได้จากตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วประเทศพุ่งทะลุพันแล้ว โดยเฉพาะต่างจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อจนเกือบครบทุกจังหวัด

คุณหญิงสุดารัตน์ยอมรับว่ากลัวเหลือเกินกับวิธีคิดของนายกฯ ที่บอกว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะยังไม่เลิก ถ้าถึงกำหนด 30 เม.ย. ยังหยุดการแพร่เชื้อไม่ได้ ก็จะต่อ พ.ร.ก.ออกไปเรื่อย ๆ หมายถึงประชาชนต้องหยุดทำมาหากินอย่างไม่มีกำหนด โรคระบาดก็คุมไม่ได้ แล้วเศรษฐกิจก็จะสาหัสมากยิ่งขึ้น หยุดโทษแต่ประชาชน แล้วลงมือปรับประสิทธิภาพการทำงานของตัวเอง พร้อมเรียกร้องให้นายกฯ โปรดพิจารณาข้อเสนอ “ยุทธการ 21วัน สยบ COVID” โดยขอย้ำว่า ถ้าทำตั้งแต่วันที่เราเสนอคือ 17 มี.ค.- 7 เม.ย. ก็ครบ 21 วันรัฐบาลจะคุมสถานการณ์การการแพร่ระบาดได้ ประชาชนปลอดภัย รัฐบาลก็จะสามารถผ่อนปรนมาตรการปิดกิจการ ปล่อยให้คนกลับมาทำมาหากินได้ โดยเข้มงวดด้วยการใช้ SOCIAL DISTANCING การไม่อยู่รวมตัวกัน การไม่ใช้ของร่วมกัน และมาตรการสุขอนามัยแบบที่ไต้หวัน เกาหลี ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตเกือบปกติ และทำมาค้าขายกันได้บ้าง เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจไทยสาหัสหนัก จนเกินความสามารถของรัฐบาลในการเยียวยา

"วางการเมืองลง หยุดการแบ่งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาลไว้ก่อน ในยามที่ประเทศวิกฤตเช่นนี้ เราในฐานะนักการเมือง ต้องร่วมมือกันทำงาน เพราะชีวิตของคนไทยสำคัญที่สุด ถ้ารัฐบาลนำข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยไปทำสำเร็จ ความดีความชอบก็จะตกกับรัฐบาลเอง ไม่ใช่ฝ่ายค้านหรอกค่ะ จบเร็วคนไทยปลอดภัยเศรษฐกิจฟื้นเร็ว"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง