ไม่พบผลการค้นหา
หลังจากมีการประกาศวันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยหน้า ว่าจะเกิดขึ้นในวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ.2020 ปรากฏว่าบรรยากาศการเมืองของสหรัฐฯ คึกคักมาก

ทั้งนี้ นับตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงกลางเดือนพฤษภาคมปีนี้ นักการเมืองสังกัดพรรคเดโมแครตจำนวนมากถึง 23 คน ได้เสนอตัวเข้าชิงตำแหน่งผู้แทนพรรคเดโมแครตเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งตำแหน่งผู้แทนพรรคมีได้เพียงคนเดียวเท่านั้น

บรรดาผู้เสนอตัวทั้ง 23 คนนั้น มีนโยบายไปในทิศทางเดียวกัน คือ ให้ความสำคัญกับสวัสดิการสังคม และมีภูมิหลังคล้ายๆกัน คือ ล้วนเป็นวุฒิสมาชิกหรือไม่ก็นายกเทศมนตรีเมืองใดเมืองหนึ่ง แต่พวกเขาต่างมีจุดแข็งจุดเด่นที่แตกต่างหลากหลาย จนนักวิเคราะห์การเมืองของสหรัฐกล่าวว่า เป็นครั้งที่ผู้เสนอตัวมีความหลากหลายมากที่สุด ทั้งเรื่องประสบการณ์การทำงาน วัย เพศสภาพ และเชื้อชาติ 

ผู้เสนอตัวที่เป็นที่จับตามากกว่าคนอื่นๆ มีดังนี้

063_1144781460.jpg

คนที่โดดเด่นที่สุด คือ อดีตรองประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดน วัย 76 ปี เขาดูมีภาษีกว่าผู้เสนอตัวรายอื่นเพราะเคยดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานาธิบดีสองสมัย คร่ำหวอดการบริหารงานในทำเนียบขาว และมีบุคลิกที่ติดดินทำให้เขาเป็นที่ชื่นชอบของประชาชนผู้ใช้แรงงาน มีนโยบายชัดเจนที่จะปกป้องผู้ใช้แรงงานซึ่งรวมถึงการพร้อมใช้นโยบายเข้มงวดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของแรงงานในประเทศ นอกจากนี้ เขาประกาศกร้าวว่าไม่อาจทนเห็นทรัมป์บริหารประเทศเป็นสมัยที่ 2 เพราะนั่นคือ 8 ปี ซึ่งยาวนานเกินไปสำหรับการให้ทนดูสิ่งเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นกับประเทศชาติ อย่างไรก็ดี เขาถูกวิจารณ์ว่าติดดินเกินไป ไม่เป็นที่นิยมชื่นชอบของชนชั้นกลางการศึกษาดี และถูกวิจารณ์ว่าอายุมากเกินไป

063_1148960220.jpg


ผู้เสนอตัวเป็นที่จับตาคนต่อมา คือ วุฒิสมาชิกเบอร์นี่ แซนเดอร์ วัย 77 จากมลรัฐเวอร์มอนต์ เขาเป็นนักการเมืองอเมริกันคนแรกที่ประกาศตัวว่าเขามีอุดมการณ์แบบ “สังคมนิยมประชาธิปไตย” เขามีนโยบายให้ความสำคัญกับคนรากหญ้า เขาต้องการให้สหรัฐฯมีแนวทางเศรษฐกิจที่ไม่เคยมีในประวัติศาสตร์อมเมริกาคือมีเศรษฐกิจที่โอบอุ้มคนรากหญ้า และมีสวัสดิการสังคมเต็มที่ เช่น สวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล เรียนระดับวิทยาลัยฟรี และลดอิทธิพลของพวกเศรษฐี เขาถูกวิจารณ์ว่าดูตั้งตนเป็นอริกับคนรวยมากเกินไป

063_1144744588.jpg

ผู้เสนอตัวที่เป็นที่จับตาอย่างมากในสองวันที่ผ่านมา เพราะเพิ่งเสนอตัวเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม คือ นายบิล เดอ บลาซิโอ นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ค วัย 58 ปี ซึ่งชนะเลือกตั้งและประสบความสำเร็จในการทำงานในตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์คมาแล้วสองสมัย เขาประกาศนโยบายว่าจะให้ความสำคัญกับคนทำงานให้มีชีวิตที่ดีมีสวัสดิการที่ดี เช่น ให้เด็กเตรียมอนุบาลเรียนฟรีถ้วนหน้า ให้คนทำงานที่ลาป่วยได้รับค่าจ้าง มีประกันสุขภาพให้ทุกคน และลดอัตราการเกิดอาชญากรรม อย่างไรก็ดี เขาถูกวิจารณ์ว่ามีนโยบายขายฝัน ต้องใช้งบประมาณมาก ซึ่งมันทำได้ในนครนิวยอร์คเพราะขนาดประชากรน้อยกว่าระดับประเทศและเป็นนครที่มีรายได้สูง แต่ถ้าจะนำไปใช้ในระดับประเทศซึ่งมีประชากรมากและแต่ละพื้นที่มีรายได้ต่างกันมากจะเกิดปัญหา 

000_1GJ6JE.jpg

ผู้เสนอตัวที่เป็นที่จับตาคนต่อมา คือ เอลิซาเบ็ธ วอร์เรน วุฒิสมาชิกจากแมสซาชูเซท วัย 69 ผู้ประกาศนโยบายต่อสู้เพื่อให้สตรีก้าวหน้าในที่ทำงานได้โดยไม่ติดเพดาน นโยบายให้ชนชั้นกลางได้รับรายได้ที่เป็นธรรม และแก้ปัญหาการที่ชนชั้นกลางถูกย่ำยีโดยบริษัทยักษ์ใหญ่และการใช้อำนาจผิดๆของนักการเมือง ทั้งนี้ เอลิซาเบ็ธ วอร์เรน ได้รับการชื่นชมว่าเป็นผู้เสนอตัวที่มีการเตรียมตัวมายาวนานที่สุดดีที่สุดในการเข้าชิงตำแหน่ง เป็นผู้เสนอตัวที่เป็นสตรีที่โดดเด่นที่สุดในบรรดาผู้เสนอตัวที่เป็นสตรีทั้ง 6 คน 

063_1145125242.jpg

ผู้เสนอตัวที่เป็นที่จับตาและสร้างความฮือฮาให้สื่ออเมริกันอย่างมาก คือ พีท บุตอาเจจ นายกรัฐมนตรีเมืองเซาธ์เบนด์ มลรัฐอินเดียนา วัย 37 ปี สื่อตั้งฉายาเขาว่า “หนุ่มน้อยมหัศจรรย์” เพราะเขาอายุน้อย มีประวัติการศึกษาดีเลิศ พูดได้ 8 ภาษา และที่สำคัญคือ เขาประกาศตัวว่าเขาเป็นชายรักชาย และประกาศว่าแต่งงานมีสามีแล้ว โดยเข้าพิธีแต่งงานเมื่อกลางปี ค.ศ.2018 ในด้านนโยบายเขาให้ความสำคัญกับเรื่องการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจแก่คนรุ่นใหม่ๆ และการหาทางแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก 

063_1144781749.jpg

ผู้เสนอตัวที่เป็นที่จับตาเพราะเชื้อชาติ คือ แอนดรูว์ หยาง นักธุรกิจ วัย 44 ปี เขาเป็นที่จับตาอย่างมากเพราะเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียแท้ๆ ทั้งฝั่งบิดาและมารดา ที่เสนอตัวชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขามีนโยบายที่มุ่งสร้างหลักประกันรายได้แก่ประชาชน คือ ให้ประชาชนทุกคนมีรายได้ขั้นต่ำ 1,000 ดอลล่าร์ต่อเดือน โดยรัฐเป็นผู้จ่าย อย่างไรก็ดี เขาถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นนโยบายที่เป็นไปไม่ได้ ส่วนชาวอเมริกันที่มีเชื้อสายของผู้อพยพก็วิจารณ์ว่าเขาไม่มีนโยบายที่เกี่ยวกับผู้อพยพเลย ทั้งๆที่เขาคือลูกของผู้อพยพ

นอกจากบรรดาผู้เสนอตัวอย่างเป็นทางการแล้ว 23 คน ยังมีบุคคลที่เปรยว่าจะเสนอตัวอย่างแต่ยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการด้วย คือ นายโฮเวิร์ด ชูลท์ช วัย 65 ปี อดีตประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของสตาร์บัคส์ ร้านกาแฟชื่อดังที่มีสาขาทั่วโลก  ทั้งนี้ แม้เขาจะประกาศตนว่าเป็นผู้สนับสนุนและศรัทธาพรรคเดโมแครตมาทั้งชีวิต ที่เขาก็ให้สัมภาษณ์ว่าเขาผิดหวังกับพรรคเดโมแครตที่ไม่สามารถทำเพื่อประชาชนได้ดีพอ เขาจึงไม่คิดเสนอตัวเป็นผู้แทนของพรรคเดโมแครต แต่ต้องการจะสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในฐานะผู้สมัครอิสระไม่สังกัดพรรคการเมือง อย่างไรก็ดี มีข่าวลือว่านักการเมืองเดโมแครตหลายคนที่สนิทสนมกับเขามาอย่างยาวนาน กำลังพยายามกล่อมให้เขาเสนอตัวเข้าชิงตำแหน่งผู้แทนพรรคเดโมแครต

ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าใครจะได้เป็นผู้แทนของพรรคเดโมแครตในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ 59 ที่จะมาถึง และคนๆนั้น จะสามารถชนะการเลือกตั้งจนได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่หรือไม่