ไม่พบผลการค้นหา
รัฐสภายุโรปลงมติใช้กฎหมายเปิดทางให้มีการคว่ำบาตรฮังการีได้ หลังประชาธิปไตยในฮังการีถดถอย ปราบปรามสื่อ-เอ็นจีโอ รวมถึงปลดผู้พิพากษา

สมาชิกรัฐสภายุโรปลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลฮังการี และยังลงมติรับรองมาตรา 7 ในสนธิสัญญาลิสบอนเปิดทางให้มีการใช้กระบวนการคว่ำบาตรรัฐบาลของวิกตอร์ ออร์บาน นายกรัฐมนตรีของฮังการี ด้วยคะแนนเสียง 448 เสียงต่อ 197 เสียง ส่วนอีก 48 คนงดเสียง เนื่องจากสมาชิกรัฐสภายุโรปเห็นว่า ประชาธิปไตยฮังการีถดถอย และฮังการียังไม่สามารถทำตามหลักการพื้นฐานของสหภาพยุโรป

การลงมติครั้งนี้เป็นเพียงการรับรองมาตรา 7 เพื่อเปิดทางให้มีการคว่ำบาตรฮังการีได้เท่านั้น แต่ยังไม่ได้หมายความว่าฮังการีจะถูกลงโทษทันที อีกทั้งยังเป็นการตักเตือนอย่างเป็นทางการจากอียูส่งตรงถึงรัฐบาลฮังการีว่า ฮังการีกำลังละเมิดหลักการของอียู และหากมีการคว่ำบาตรจริงก็อาจทำให้ฮังการีสูญเสียในรัฐสภายุโรป

การลงมติครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐสภายุโรป ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติของอียู เปิดทางให้มีการคว่ำบาตรประเทศสมาชิกอียูกันเอง ขณะที่เมื่อเดือน ธ.ค. 2560 คณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารของอียู เป็นผู้ประกาศใช้กระบวนการคว่ำบาตรกับโปแลนด์ที่ปฏิรูประบบยุติธรรมด้วยการอนุญาตให้รัฐบาลเป็นผู้สรรหาผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนต่อไปเอง

นายออร์บานกล่าวว่า การลงมติครั้งนี้ของอียูถือเป็นการแก้แค้นฮังการีที่ปฏิเสธการรับผู้ลี้ภัยตามโควต้าที่อียูกำหนดไว้

อย่างไรก็ตาม จูดิธ ซาร์เจนตินี ส.ส.จากเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นผู้ยื่นเรื่องให้รัฐสภายุโรปลงมติใช้มาตรา 7 ได้อธิบายเหตุผลไว้ในรายงานว่า รัฐบาลนายออร์บานโจมตีสื่อ นักวิชาการ ระบบยุติธรรม ผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย และคนกลุ่มน้อย ประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมถดถอย ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามอย่างเป็นระบบต่อหลักการพื้นฐานของอียู

มาตรา 7 ในสนธิสัญญาลิสบอนเปิดทางให้อียูคว่ำบาตรประเทศสมาชิก และจะทำให้ประเทศนั้นสูญเสียสิทธิในการโหวตในที่ประชุมคณะมนตรียุโรปชั่วคราว โดยกลไกการคว่ำบาตรจะถูกใช้เมื่อประเทสสมาชิกละเมิดหลักการเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เสรีภาพ ประชาธิปไตย ความเท่าเทียม นิติธรรม และการเคารพสิทธิมนุษยชน รวมถึงสิทธิของคนกลุ่มน้อย

หลังจากนี้ รัฐสภายุโรปจะส่งมติไปให้ผู้นำประเทศสมาชิกอียู 28 ประเทศรับรอง อย่างไรก็ตาม การคว่ำบาตรฮังการีได้นั้นจะต้องมีการลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ของสมาชิกอียู ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าโปแลนด์จะออกมาคัดค้านการคว่ำบาตรฮังการี

ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของแอมเนสตี้ อินเทอร์เนชั่นแนลในอียูได้ออกมาแสดงความเห็นว่า รัฐสภายุโรปทำถูกต้องแล้วที่ยืนหยัดเพื่อประชาชนฮังการีและอียู ฮังการีเป็นส่วนหนึ่งของอียูอย่างแน่นอน แต่ความเกลียดกลัวคนต่างชาติและการไม่เคารพเสรีภาพและสิทธิขั้นพื้นฐานไม่ใช่ส่วนหนึ่งของอียูอย่างแน่นอน และสมาชิกรัฐสภาอียูยืนหยัดเพื่อสิ่งที่ถูกต้อง


ที่มา: Deutsche Welle, Euro News