ไม่พบผลการค้นหา
ธีรภัทร เจริญสุข เขียนถึง "โรงพยาบาลท้องถิ่น" ที่เป็นปัจจัยบ่งชี้คุณภาพชีวิตของชาวต่างจังหวัด ในคอลัมน์อนาคตอยู่นอกกรุงเทพ วันนี้

ข่าวใหญ่ในวงการสาธารณสุขภาคอีสานเมื่อเร็วๆ นี้ คงจะไม่มีข่าวไหนฮือฮาไปมากกว่าโครงการสร้างโรงพยาบาลขนาด 5,000 เตียง ของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งจะกลายเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดยใช้งบประมาณ 24,500 ล้านบาท ผ่านการระดมทุนจากทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป โดยคาดว่าจะรองรับผู้ป่วยนอกได้ 1 ล้านคนต่อปี และผู้ป่วยในมากกว่า 50,000 คนต่อปี

โครงการโรงพยาบาลขนาดใหญ่ดังกล่าวของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในทางหนึ่งคือ โรงพยาบาลศรีนครินทร์จะกลายเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ขนาดใหญ่ที่ครบครัน รองรับผู้ป่วยจากประชากรทั่วทั้งภาคอีสานกว่า 22 ล้านคน และยังจะรองรับผู้ป่วยจากประเทศเพื่อนบ้านที่มั่นใจในเทคโนโลยีการแพทย์ของประเทศไทยได้ ทั้งจะทำให้เศรษฐกิจของเมืองขอนแก่นเติบโตมากยิ่งขึ้น จากอุปสงค์ของการก่อสร้าง การจ้างงานในภาคการแพทย์และสาธารณสุขของโรงพยาบาลและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ทั้งทางตรง เช่น ยา อุปกรณ์การแพทย์ อุปกรณ์อำนวยความสะดวก และทางอ้อม เช่น ร้านอาหาร โรงแรม ที่พักสำหรับญาติผู้ป่วย ตามธรรมเนียมของคนอีสานแล้ว เมื่อมีผู้ป่วยคนหนึ่งในครอบครัว ก็มักจะเหมารถมาเยี่ยมหรือมาเฝ้ากันเป็นคันรถ ก็จะเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจอย่างมาก


ฟังเสียงสะท้อนคนใน

อย่างไรก็ตาม เสียงสะท้อนอีกด้านก็สมควรรับฟัง โดยเฉพาะเสียงจากบุคลากรทางการแพทย์ในท้องถิ่น รวมถึงโรงพยาบาลศรีนครินทร์เองที่เล็งเห็นถึงปัญหาในอนาคตอันอาจจะเกิดขึ้น

อันดับแรกคือการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะพยาบาล โรงพยาบาลขนาดใหญ่จำเป็นต้องมีแพทย์และพยาบาลประจำการเป็นจำนวนมาก การเร่งสร้างโรงพยาบาลให้เสร็จภายใน 3 ปี เท่ากับว่าต้องดึงบุคลากรมาจากสถานพยาบาลอื่นๆ จำนวนมากเพื่อตอบสนองอัตราว่างของตำแหน่งงาน เนื่องจากนักศึกษาแพทย์และพยาบาลรวมถึงวิชาชีพที่เกี่ยวข้องไม่สามารถเรียนจบมารับงานได้เพียงพอในทันที ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนบุคลากรไม่ว่าจะในภาคอีสานหรือจากภาคอื่นทั่วประเทศ

รอหมอ

อันดับต่อมา คือการจัดการด้านสาธารณูปโภคของโรงพยาบาล นับตั้งแต่การใช้ไฟฟ้า น้ำประปา พื้นที่จอดรถ พื้นที่พักอาศัยของพนักงาน การจราจรในบริเวณใกล้เคียง การเดินทางของผู้ป่วยและญาติและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดการขยะติดเชื้อ ที่ยังน่ากังวลว่าเทศบาลนครขอนแก่นจะมีศักยภาพเพียงพอรองรับหรือไม่ และต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมเพื่อจัดการเท่าไร ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำมาวิเคราะห์ร่วมในการสร้างโรงพยาบาลใหม่เท่าใดนัก ทั้งที่พบว่าระบบไฟฟ้าของขอนแก่นยังขาดเสถียรภาพ น้ำประปาไม่เพียงพอในหน้าแล้ง และพื้นที่จัดการขยะยังมีปัญหาอยู่

อีกปัญหาคือ ระยะทางในการเดินทางเข้ามารับบริการที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ หากต้องส่งตัวคนไข้หลายต่อเข้ามายังขอนแก่น ก็จะทำให้เสียเวลาและต้องใช้ทรัพยากรในการเดินทางอีกจำนวนมาก รวมถึงการบริการด้วยรถพยาบาลทางไกลที่เพิ่มค่าใช้จ่ายแก่คนไข้และโรงพยาบาลมากขึ้น


ดูต้นแบบ "โรงพยาบาลท้องถิ่น"

ในทางกลับกัน มีโรงพยาบาลชุมชนระดับอำเภอในภาคอีสานหลายแห่งที่สามารถเป็นต้นแบบที่ดีของการกระจายอำนาจและกระจายความเจริญ กระจายการบริการด้านสาธารณสุขโดยไม่ต้องเข้ามาถึงเมืองใหญ่

เช่น โรงพยาบาลอุบลรัตน์ และโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ ซึ่งผู้อำนวยการของทั้งสองโรงพยาบาลได้ขึ้นพูดสร้างแรงบันดาลใจในงาน TEDx Talk Khonkaen เมื่อวันที่ 7 เมษายน ที่ผ่านมา

โรงพยาบาลอุบลรัตน์ ซึ่งบริหารงานโดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงร่วมกับการสร้างความเข้มแข็งในชุมชน โดยผุ้อำนวยการ นพ.อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร ได้สร้างระบบโรงพยาบาลที่ชุมชนมีส่วนร่วมโดยการรับบริจาคเงินสมทบจากสมาชิกชุมชนมาหมุนเวียนใช้จ่ายเสริมกับงบประมาณภาครัฐ ใช้โครงการกระจายยาสู่ชุมชนโดยขายยามาตรฐานของโรงพยาบาลแทนที่ยาจากรถเร่ที่ไม่สามารถรับประกันคุณภาพได้ และยังกระจายความรู้ทางสุขภาพให้แก่สถานีอนามัย (หรือปัจจุบันคือโรงพยาบาลตำบล) รวมถึงสร้างเครือข่ายหมอพื้นบ้านและยาสมุนไพรขึ้นในอำเภอ จนประชาชนในอำเภออุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น มีสุขภาพที่ดี และโรงพยาบาลก็สามารถขยายตัวรองรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพในชุมชนได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน

หมอ

นอกจากนี้ โรงพยาบาลอุบลรัตน์ยังอาศัยทุนจากเอกชนในชุมชนมาสนับสนุน เพื่อเป็นทุนการศึกษาให้บุตรหลานชาวอ.อุบลรัตน์ได้รับโอกาสศึกษาต่อทางการแพทย์ เพื่อกลับมาปฏิบัติหน้าที่ในบ้านเกิดของตัวเอง โดยมองว่าเมื่อแพทย์และพยาบาลที่ได้รับทุนกลับมาดูแลผู้ป่วยแล้ว ยังจะสามารถดูแลญาติพี่น้องไม่ให้เจ็บป่วย สร้างความรู้ความเข้าใจทางสุขภาพที่ดีให้คนในพื้นที่มีความแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจไปพร้อมกันในระยะยาว

ส่วน โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ เป็นโรงพยาบาลชุมชนระดับอำเภอแห่งแรกในประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลทั้ง ISO 9002 มาตรฐาน HA และมาตรฐาน JCI ซึ่งเป็นโรงพยาบาลรัฐเพียงไม่กี่แห่งในประเทศที่สามารถให้บริการได้เทียบเท่ากับโรงพยาบาลเอกชน โดยใช้ที่ปรึกษาของ NIDA มาพัฒนาการบริหารจัดการองค์กรโรงพยาบาล ทำให้ รพร. ท่าบ่อ มีระบบประเมินผลงานของแพทย์และบุคลากร พัฒนาห้องพักผู้ป่วยที่สะอาดและทันสมัย ห้องตรวจและอุปกรณ์การรักษาที่สว่าง สะอาด ได้มาตรฐานสากล ระบบจ่ายยาและชำระเงินที่สะดวก รับทั้งบัตรเครดิตและบัตรเดบิต แทบไม่ต่างจากโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ จนทำให้มีผู้ป่วยจากต่างประเทศมาใช้บริการจำนวนมาก ทำกำไรช่วยลดภาระงบประมาณภาครัฐและช่วยเหลือชาวบ้านที่ยากไร้ได้ พร้อมกันนี้ยังจ้างงานบุคลากรในพื้นที่ และส่งนักเรียนไปเป็นผู้ช่วยพยาบาลและพนักงานการบริบาล เพิ่มขีดความสามารถและความรู้ไปพร้อมกัน ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางเข้ามายังโรงพยาบาลจังหวัดหรือโรงพยาบาลศูนย์ในเมืองใหญ่

นพ.วัฒนา พารีศรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ มองว่า โรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่รวมศูนย์ไม่ใช่สิ่งที่ดี เพราะการดูแลสุขภาพควรอยู่ใกล้บ้านของตนเอง เมื่อเกินกำลังแล้วจึงค่อยส่งต่อมายังโรงพยาบาลวิจัยที่มีอุปกรณ์เพียบพร้อมกว่าตามความจำเป็น เพื่อลดการกระทบกระเทือนจากการเดินทางของผู้ป่วย และกระจายรายได้ กระจายความเจริญไปยังท้องถิ่นผ่านระบบโรงพยาบาล

สิ่งที่เหมือนกันในโรงพยาบาลอุบลรัตน์และท่าบ่อ คือแนวคิดการให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการจัดการรักษาสุขภาพ ให้ชาวบ้านเป็นเจ้าของโรงพยาบาล และมีเจ้าหน้าที่เป็นเสมือนญาติพี่น้อง ทำให้ทั้งผู้ป่วยได้รับบริการที่ดี บุคลากรก็ทำงานอย่างมีความสุข และโรงพยาบาลก็อยู่ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งผลความสำเร็จนี้อาจต่อยอดขยายไปยังโรงพยาบาลชุมชนแห่งอื่น เพื่อบรรเทาภาวะงบประมาณอุดหนุนจากภาครัฐไม่เพียงพอ พัฒนาระบบบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพโดยไม่ต้องโทษนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค เพราะถึงที่สุดแล้ว ความสุขและความสบายใจที่สุดของผู้ป่วย หรือครอบครัวที่มีคนป่วยในบ้าน คือการเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั่วถึงและอยู่ใกล้บ้านใกล้ตัว