ไม่พบผลการค้นหา
3 การประชุมสุดยอดผู้นำซึ่งเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันต้นเดือนมิถุนายน สมควรเป็นที่จับตามองของโลกว่า ในอีกหนึ่งปีข้างหน้านี้ แนวโน้มของมหาอำนาจโลกซีกตะวันตกและตะวันออก จะออกหัวออกก้อยอย่างไรบ้าง

ช่วงเกือบสองสัปดาห์ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี่น่าจะเรียกได้ว่าเป็น 'สิบวันซัมมิตหยุดโลก' ในทางการเมืองระหว่างประเทศเลยทีเดียว เริ่มจากการประชุมผู้นำกลุ่มจี7 ที่ควิเบก ประเทศแคนาดา วันที่ 8-9 ประชุมองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ที่ชิงเต่า สาธารณรัฐประชาชนจีน วันที่ 9-10 และวันที่ 12 ก็มีประชุมสูงสุดนัดหยุดโลกระหว่าง คิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ กับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา 

เรียกว่าจัดการชีวิตในทางการเมืองระหว่างประเทศให้เรียบร้อยไปภายใน 4-5 วันนี้แหละ แล้วจะได้ไปบ้าคลั่งกับบอลโลก 2018 ที่รัสเซียซึ่งจะเปิดสนามนัดแรกที่มอสโกในวันที่ 14 มิถุนายน ระหว่างเจ้าภาพรัสเซียพบกับซาอุดีอาระเบีย

แล้วทั้งหมดนี้มันเกี่ยวอะไรกับจีน? มีอะไรหนักหนาที่จะต้องห้ามบอกโรซี่? 

โอ้ย... เรื่องมันยาว เริ่มตรงนี้ก่อนดีกว่า คือ กลุ่มจี7 กับองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization – SCO) เนี่ย เรียกได้ว่าเป็นการประชุมกลุ่มผู้นำโลกขั้วตรงข้ามกัน หรืออาจจะได้เรียกได้ว่าเป็นการประชุมสุดยอดของมหาอำนาจของโลกตะวันตกกับโลกตะวันออกเลยทีเดียว 

ยังไงน่ะเหรอ - ก็จี7 เป็นกลุ่มประเทศโลกที่ 7 ที่เป็นประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกมาแต่เดิม ประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร อิตาลี ฝรั่งเศส แคนาดา และญี่ปุ่น (ซึ่งเป็นประเทศเดียวที่มาจากซีกโลกตะวันออกแต่ชอบทำเนียนๆ เป็นฝรั่งกิตติมศักดิ์กับเขาเสมอ ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ละ เลิกไม่ได้ซักทีอาการนี้ไม่รู้เป็นไง) ส่วนเอสซีโอก็เป็นกลุ่มความร่วมมือด้านความมั่นคงของซีกโลกตะวันออก อันประกอบด้วยสมาชิกก่อตั้ง 6 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน รัสเซีย คาซักสถาน คีร์กิสถาน ทาจิกิสถาน และอุซเบกิสถาน และสมาชิกใหม่ล่าสุด (เพิ่งเข้าร่วมเมื่อปีกลายนี้เอง) 2 ประเทศ คือ อินเดีย และปากีสถาน  

ประชุมจี7-G7-แคนาดา-อังเกลา แมร์เคล-ทรัมป์-ชินโซ อาเบะ

องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้เนี่ย มันชื่อนี้เพราะมันสถาปนาขึ้นจากการประชุมสุดยอดของกลุ่มสมาชิกก่อตั้งที่เซี่ยงไฮ้เมื่อปี 2544 วัตถุประสงค์หลักก็คือการให้ความร่วมมือด้านความมั่นคงในระหว่างประเทศสมาชิก อาทิ ร่วมมือกันต่อต้านกลุ่มก่อการร้าย ร่วมมือกันปราบกบฏแบ่งแยกดินแดน และร่วมกันปกป้องอธิปไตยของประเทศสมาชิกเมื่อถูกรุกรานจากประเทศนอกกลุ่ม ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองระหว่างประเทศบางสำนักเรียกกลุ่มเอสซีโอนี้ว่าเป็นเสมือน 'นาโต้ของโลกตะวันออก' นั่นเอง 

เอสซีโอกับจี7เนี่ย นอกจากจะแยกกันมีอิทธิพลคนละซีกโลกแล้ว ยังมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันมากด้วย จะเห็นได้ว่าผู้นำประเทศกลุ่มเอสซีโอส่วนใหญ่เป็นเผด็จการ ไม่เห็นว่าประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเป็นบรรทัดฐานสากลที่ทุกประเทศควรต้องปฏิบัติตามดังเช่นกลุ่มสมาชิกจี7ทั้งหมด และประเทศผู้นำที่มีอิทธิพลสูงสุดในเอสซีโอสองประเทศ คือ จีนและรัสเซีย ก็นับว่าเป็นคู่แข่งที่สำคัญทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศกับผู้นำกลุ่มจี7ด้วย การประชุมสุดยอดของสองกลุ่มนี้ซึ่งเกิดขึ้นในระยะเวลาไล่เลี่ยกันจึงสมควรเป็นที่จับตามองของโลกว่าอย่างน้อยในอีกหนึ่งปีข้างหน้านี้แนวโน้มของมหาอำนาจโลกทั้งสองซีกจะออกหัวออกก้อยอย่างไรบ้าง 

แล้วก็ดุเด็ดเผ็ดมันสะท้านโลกันต์ทั้งสองซัมมิตจริงๆ ค่ะทั่นผู้ชม ทางฝั่งจี7นั้นหลายคนก็คงได้เห็นภาพป้าแมร์เคล ผู้นำเยอรมัน ยืน���ู่กรรโชกโดนัลด์ ทรัมป์ ในวงล้อมผู้นำโลกตะวันตก โดยมีนายกฯ ญี่ปุ่น ชินโซ อาเบะ ยืนคว่ำปากสังเกตการณ์อยู่ ดังที่ปรากฏอยู่โดยทั่วไปในโลกโซเชียลแล้วนะคะ

เหตุมันเกิดจากการที่ทรัมป์ปฏิเสธที่จะเห็นชอบข้อตกลงร่วมกันของกลุ่มผู้นำจี7 หลายประการ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อม แถมยังให้ข่าวด่าผู้นำแคนาดา (ประเทศเจ้าภาพการประชุมนั่นแหละค่ะ) ว่าไม่ซื่อสัตย์และชอบลอบทำร้ายอเมริกาอยู่เนืองๆ สมควรต้องตอบโต้ด้วยการขึ้นกำแพงภาษีสินค้าจากแคนาดาให้สูงขึ้น แล้วก็ด่าประธานาธิบดีฝรั่งเศสออกสื่อยับเยินอีกต่างหาก เรียกว่าทำให้บรรยากาศการประชุมสุดยอดครั้งนี้กร่อยสนิทเลยทีเดียว ถึงขั้นที่สื่อบางสำนักตั้งชื่อให้การประชุมนี้ใหม่ว่าเป็นการประชุมจี6+1 คืออีกหกประเทศเขาพูดรู้เรื่องกันหมด แต่ประเทศที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดและสมควรจะเป็นผู้นำจี7 อย่างสหรัฐอเมริกากลับทำตัวเป็น bad boy พูดไม่รู้เรื่อง ไม่ให้ความร่วมมือกับเขาอยู่ประเทศเดียว

มาทางฝั่งองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้นั้นดูเผินๆ อาจจะแลสงบสุขกว่าทางฟากจี7นะคะ ก็อย่างงี้แหละค่ะ เราชาวตะวันออกมีทั้งมารยาทและมารยา 84,000 พระธรรมขันธ์อยู่แล้วค่ะ จะพูดอะไร จะทำอะไร จะทะเลาะกัน ด่ากันก็ต้องให้มันแลผู้ดีผู้ดีหน่อย แต่ถ้าดูในเนื้อหาสาระแล้วจะเห็นได้ว่าความเผ็ชนั้นไม่แพ้ฝั่งจี7 หรอกค่ะทั่นผู้ชม กล่าวคือ วาระสำคัญของการประชุมสุดยอดเอสซีโอปีนี้ คือ จีนต้องการได้รับการรับรอง สนับสนุน และคำมั่นว่าจะสนับสนุนอภิมหาเมกะโปรเจ็กต์ โครงการ Belt & Road Initiative (BRI) หรือที่กระทรวงต่างประเทศบ้านเราแปลไว้ซะหรูว่าโครงการ 'หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง' นั่นเอง 

ปูติน-สี จิ้นผิง-สีจิ้นผิง-ประชุม SCO-เอสซีโอ

โครงการนี้ต้องเรียกว่าเป็นโครงการคู่บุญของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เลยนะคะ เพราะประกาศไว้ตั้งแต่เข้ามาครองอำนาจในปี 2556 และเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้สภาของจีนยอมแก้รัฐธรรมนูญให้สีมีโอกาสอยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีได้เกินกว่า 2 สมัยด้วย แต่โครงการเนี้ยมันมีที่มาที่ไปบางอย่างเกี่ยวกับเอสซีโอมาก่อนด้วยนะคะ คือมีอยู่ช่วงหนึ่งที่จีนพยายามจะผลักดันให้เอสซีโอขยายกรอบความร่วมมือจากความมั่นคงไปสู่เศรษฐกิจด้วย แต่ดูเหมือนไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัสเซีย เพราะปูตินรู้สึกว่าจีนกำลังพยายามสถาปนาตัวเองเป็นผู้นำสูงสุดของเอสซีโอเพียงประเทศเดียว

เรียกว่าไม่แคร์ความเป็นมหาอำนาจลูกพี่มาเก่าก่อนของรัสเซียเลย รัสเซียก็เลยเริ่มออกอาการขัดแข้งขัดขาจีนในเอสซีโอ และผลงานล่าสุดคือกดดันให้จีนยอมรับอินเดียเข้ามาอยู่ในเอสซีโอด้วย เรียกว่าไปตามแขกมาช่วยคานอำนาจเจ๊กนั่นแหละ สร้างความหงุดหงิดให้แก่ผู้นำจีนไม่น้อย ท้ายสุดก็เลยออกมาสถาปนาโครงการแถบและทางเป็นของตัวเอง ไม่ต้องรอความเห็นชอบจากรัสเซีย แล้วก็บังคับให้รัสเซียยอมรับปากีสถานซึ่งเป็นมหามิตรของจีนและโจทก์เก่าของอินเดียเข้ามาคานอำนาจอินเดียในเอสซีโอด้วยอีกต่างหาก

ทีนี้ในการประชุมสุดยอดของผู้นำองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ปีนี้ จีนก็พยายามผลักประเด็นเศรษฐกิจเข้ามาอีก โดยขอให้ที่ประชุมมีวาระรับรองและสนับสนุนโครงการบีอาร์ไอ ก็ปรากฏว่าผู้นำเกือบทุกชาติสมาชิกก็มีมารยาทและยกมือรับรองเป็นการดีค่ะ... ยกเว้น... อินเดียค่ะ นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ไม่เห็นชอบด้วยค่า แล้วก็แสดงความคิดเห็นคัดค้านและห่วงกังวลว่าอภิมหาโครงการของจีนอันนี้จะไปละเมิดอธิปไตยของประเทศสมาชิกอื่นๆ และจะไม่เป็นประโยชน์ต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจของอินเดียค่า...

ผ่าง!!! ก็หน้าหงายกันไปหลายตลบค่ะทั่นผู้ชม เพราะว่าถ้าประเทศสมาชิกที่ใหญ่ที่สุดอีกประเทศหนึ่งไม่สนับสนุนเนี่ย... ก็หาทางไปต่อลำบากเหมือนกันนะคะ ทั้งในแง่ของความพยายามขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจลงใต้ของจีนสู่มหาสมุทรอินเดียตามแผนการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง และในแง่ของการก้าวไปข้างหน้าขององค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ที่มีสมาชิกเพิ่มขึ้นและความไม่ลงรอยกันก็ดูจะหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ด้วย

คิม-ทรัมป์-ซัมมิท-ซัมมิต-สิงคโปร์-เกาหลีเหนือ-สหรัฐ-สุดยอดผู้นำ-AP

การประชุมสุดยอดครั้งสุดท้ายในสามครั้งที่ว่าไว้ตั้งแต่ย่อหน้าแรกจึงเป็นนัดชี้ชะตาที่สำคัญมากค่ะ ปรากฏว่าประธานาธิบดีทรัมป์ก็กระทำการช็อกโลกอีกแล้วค่ะทั่นผู้ชม กลายเป็นว่าทรัมป์พูดรู้เรื่องกับคิมจองอึนมากกว่ากับผู้นำจี7 ค่ะ ทรัมป์ประกาศว่าจะยกเลิกการซ้อมรบกับเกาหลีใต้และจะลดละเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับเกาหลีเหนือ แลกกับการที่คิมน้อยสัญญาว่าจะเลิกล้มโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ และมีจุดยืนร่วมกันที่จะนำคาบสมุทรเกาหลีไปสู่สภาวะสันติภาพและปลอดนิวเคลียร์ 

อันนี้แปลว่าอะไรคะสำหรับจีน ? (เราเป็นคอลัมน์ 'โต๊ะจีน' นะคะอย่าลืม) อันนี้จากมุมมองจีนคือหวานหมูค่ะ เพราะท่าทีของทรัมป์คือจะลดอิทธิพลทางทหารของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือลง ถ้าเกาหลีเหนือเลิกโครงการนิวเคลียร์ก็จะไม่มีอันตรายใดๆ ที่จำเป็นจะต้องมีกองกำลังของสหรัฐฯ อยู่ในภูมิภาคนี้มากมาย ญี่ปุ่นเองก็กำลังพยายามแก้รัฐธรรมนูญให้สามารถมีกองทัพได้ ทั้งหมดนี้อาจนำไปสู่การถอนทหารของสหรัฐฯ จากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

แล้วจะเหลือใครเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์หนึ่งเดียวในภูมิภาคล่ะคะถ้าไม่ใช่จีน อันนี้บวกกับท่าทีของทรัมป์ที่แสดงความพูดไม่รู้เรื่องกับเพื่อนสมาชิกจี7อย่างชัดเจน อาจจะตีความได้ว่าทรัมป์อยากหันมาค้าขายหาเงินกับโลกตะวันออกมาขึ้น เพราะประธานาธิบดีนักธุรกิจอย่างทรัมป์ย่อมเห็นตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจสำคัญกว่าทุกสิ่ง ไม่ต้องเป็นตำรวจโลก ไม่ต้องไปยุ่งกับสงครามในต่างแดน และไม่ต้องใส่ใจมากนักก็ได้ถ้าประเทศอื่นเขาจะละเมิดสิทธิมนุษยชน ขอให้ค้าขายกันได้เศรษฐกิจขยายตัวเป็นพอ... 

เอ...ดูๆ ไปแล้วนี่มันปรัชญาการปกครองสังคมนิยมแบบจีนยุคหลังเหมาชัดๆ นี่นา ตกลงว่าเขาจะจูบปากกันได้แล้วเหรอ... อะไรกันนี่... งงเหวอไปหมดแล้ว

ต้องติดตามดูกันต่อไปค่ะ ห้ามกระพริบตาเลยทีเดียว... บอลโลกรัสเซีย 2018 เนี่ย 😉 

อ่านเพิ่มเติม:

“อย่าบอกโรซี่”
คนทำงานวิชาการด้านประวัติศาสตร์จีน และจับตามองความสัมพันธ์ระหว่างจีนไทย และประเทศใหญ่น้อย
0Article
0Video
0Blog