ไม่พบผลการค้นหา
เพราะมรสุมไวรัสโควิด–19 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องตัดสินใจกู้ฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท พร้อมแพ็กเกจรักษาสภาพเศรษฐกิจที่ใช้เงินก้นคลังประเทศอีก 9 แสนล้านบาท รวม 1.9 ล้านล้านบาท

แม้ว่าจำนวนการ “กู้เงิน” 1 ล้านล้าน จะเท่ากับรัฐบาลชวน หลีกภัย ที่ออกกฎหมายกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น

  • พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ พ.ศ.2541 กู้ได้ไม่เกิน 2 แสนล้านบาท ภายในวันที่ 31 ธ.ค.2543
  • พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงองระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2541 กู้ได้ไม่เกิน 3 แสนล้านบาท ภายใน 31 ธ.ค.2543
  • พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน พ.ศ.2541 กู้เงินจากแหล่งเงินกู้ในประเทศเพื่อชดใช้ความเสียหายและปรับโครงสร้างแหล่งเงินทุนของกองทุนฟื้นฟูฯ ได้ไม่เกิน 5 แสนล้านบาท

และกู้อีกในสมัยรัฐบาล ดร.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นแพ็กเกจจำเป็นต่อเนื่องอีก 7.8 แสนล้านบาท ผ่าน พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (ระยะที่สอง) พ.ศ. 2545  

รวมเม็ดเงินทั้ง 2 ช่วงแค่ 1.78 ล้านล้านบาท ยังน้อยกว่าการกู้เงินแก้วิกฤตโควิด-19 ในปัจจุบัน 

ทั้งนี้ การใช้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านกฎหมาย 3 ฉบับ

1.พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ.2563

2.พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ.2563 (ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินเป็นการเฉพาะคราว ภายในวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท อัตราดอกเบี้ยในการให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินตามวรรคหนึ่ง ให้คิดในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี)

3.พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 (ตั้ง “กองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่อง ของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้” มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพและสภาพคล่อง ของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ที่ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ในระยะเริ่มแรกให้กองทุนมีวงเงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาท)

ประยุทธ์-พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โควิด

แต่หากนับเฉพาะ “การกู้” 1 ล้านล้านบาท ผ่าน พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 จะแบ่งโครงการใช้เงินกู้เป็น 3 ก้อน โดยแบ่งเงิน 2 ส่วน 

โครงการใช้เงิน 3 ก้อน ตามมาตรา 5  

1.เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019

2.เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019

3.เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019

เงินกู้ตาม พ.ร.ก.นี้ จะนำไปใช้เพื่อการอื่นนอกจาก 3 โครงการข้างต้นไม่ได้

โดยแบ่งจำนวนเป็น 2 ก้อน ผ่านมาตรา 6 ก้อนแรก 6 แสนล้าน ใช้แก้ปัญหา 2 เรื่อง

1. เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019

และ 2.เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019

กับก้อนที่สอง ไม่เกิน 4 แสนล้านบาท ใช้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019

และมีหมายเหตุกำกับไว้ว่า การกู้เงินตาม พ.ร.ก.นี้ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึงขีดความสามารถของรัฐในการชำระหนี้คืนประกอบด้วย

อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายเงินจะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองใช้จ่ายเงินกู้ ตามมาตรา 7 ประกอบด้วย

เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกิน 5 คน เป็นกรรมการ

ให้รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคนหนึ่งซึ่งเลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมอบหมาย เป็นเลขานุการ และผู้แทนสำนักงบประมาณ และผู้แทนสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เป็นผู้ช่วยเลขานุการร่วม โดยให้สำนักงานสภาพัฒนา การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรับผิดชอบงานวิชาการและธุรการของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่าย เงินกู้ วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้เป็นไป ตามที่นายกรัฐมนตรีกำหนด

อย่างไรก็ตาม 1 ล้านล้านบาท ในส่วนของการเยียวยาเหยื่อโควิด -19 จำนวน 6 แสนล้านบาท ทุกฝ่ายเห็นด้วย - ไม่มีใครค้าน

แต่งบประมาณ 4 แสนล้านบาท ที่ใช้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อันเป็นส่วนที่นำไปดูแลการจ้างงานในต่างจังหวัดและดูแลเศรษฐกิจ เป็นกรอบวงเงินกำหนดไว้กว้าง ยังไม่มีรายละเอียด โดยให้แต่ละกระทรวงต้องเสนอโครงการเข้ามาให้คณะกรรมการกลั่นกรองโครงการ ยังเป็นเหมือน “หลุมดำ” ที่ยังไม่มีคำตอบ ว่าจะใช้ทำอะไร  

4 แสนล้านบาท จึงกลายเป็น “เค้กก้อนโต” ให้แต่ละกระทรวง – พรรคร่วมรัฐบาล ขอมีส่วนเอี่ยว

ศิริกัญญา อนาคตใหม่  สภา อภิปรายไม่ไว้วางใจ 0053.jpg

กลายเป็นเสียงท้วงติงจากพรรคฝ่ายค้าน “ศิริกัญญา ตันสกุล” หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล หวั่นเกรงว่าจะกลายเป็นเบี้ยหัวแตก

“มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท รัฐบาลยังไม่มีแผน อาจจะยังไม่ใช่เวลา และสามารถออกเป็น พ.ร.บ.ได้ รวมถึงงบประมาณส่วนที่รัฐบาลบอกว่าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 400,000 ล้านนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกมาบอกเองว่ายังไม่มีรายละเอียด รอหน่วยราชการเสนอแผนขึ้นมา ซึ่งมีความเสี่ยงจะเป็นงบแบบเบี้ยหัวแตกแบบที่เคยเป็นมาอย่างกรณีโครงการไทยนิยมยั่งยืน ไม่เกิดความคุ้มค่าสูงสุด ยิ่งถ้ายังไม่มีแผนที่ชัดเจน เกรงว่าจะสูญเปล่า”

“พรรคก้าวไกลจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลชะลอแผนส่วนนี้ไปก่อน และนำแผนการฟื้นฟูและกระตุ้นทั้งหมดไปพิจารณารวมกับงบประมาณ 64 ด้วยเหตุผลสำคัญ 3 ประการเวลานี้ไม่ใช่เวลาของการกระตุ้นเศรษฐกิจ จากสถานการณ์ COVID-19 เราไม่แน่ใจว่าจะสามารถเบิกงบไปลงทุนสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างไร ตอนนี้สิ่งสำคัญคือการประคองชีวิตคนไม่ใช่การกระตุ้นเศรษฐกิจ การคาดการณ์ของหลายสำนักบอกว่าวิกฤตจะเริ่มคลี่คลายอย่างเร็วคือหลังไตรมาส 3 ปีนี้ ดังนั้น ถ้าอยากฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจควรออกเป็น พ.ร.บ.ตามมา หรือรองบประมาณปี 2564 ก็ยังทัน”

สุดารัตน์ ชัชชาติ

เช่นเดียวกับ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” อดีต รมว.คมนาคม ที่ได้รับฉายาว่า บุรุษที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี ก็กังวล เม็ดเงินคือ 4 แสนล้าน  

“โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทำถนนลงชุมชน ต้องระวัง สมมติทำถนนลงชุมชน...ไม่ได้ช่วยคน แต่ช่วยบริษัททำถนน ส่วนใหญ่ไม่ได้จ้างแรงงานในพื้นที่ด้วย เพราะเป็นบริษัทส่วนใหญ่ที่รับเหมาราชการอยู่แล้ว ทำโครงสร้างพื้นฐาน ต้องดูให้ดีว่าเม็ดเงินตรงนี้ไปช่วยคน ไม่ใช่ไปช่วยให้บริษัทมีงาน เพราะบริษัทไม่ได้จ้างงานคนในพื้นที่ แต่เป็นกำไรที่ตกไปอยู่กับคนบางคน ดังนั้นต้องดูเงิน 4 แสนล้านบาทให้ดี”

“และเท่าที่ฟังเหมือนกับขอความต้องการแต่ละกระทรวงมา แต่ตรงนี้ต้องรวมศูนย์นิดหนึ่ง เพราะส่วนกลางจะเห็นภาพรวมได้ดี แต่ถ้าให้แต่ละหน่วยงานขอความต้องการมา แต่ละหน่วยงานไม่เห็นภาพรวมในการช่วยเหลือ ตรงนี้จะแตกต่างจากการกระจายอำนาจทั่วไป ซึ่งการกระจายอำนาจเราให้เงินลงไปในท้องถิ่นทำเอง แต่สภาวะวิกฤต ส่วนกลางจะต้องเข้มแข็ง เพราะส่วนกลางจะเป็นฝ่ายกำหนด ยุทธศาสตร์ว่าช่วยใคร ไม่ช่วยใคร”

“จึงกังวลเหมือนที่ทุกคนกังวล ไม่ใช่นำ 4 แสนล้าน ไปอบรมอะไรโดยใช่เหตุ และสุดท้ายบริษัทที่รับจ้างอบรม หรือ บริษัทที่ทำถนน เข้าทำพื้นที่ เพาะตอนนี้ประชาชนไม่ได้ต้องการถนนหรอก เขาต้องการให้อยู่รอดไปก่อน แต่บริษัทที่ได้ประโยชน์คือบริษัทรับเหมา เงินมีจำกัด”

ฟาก “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยราพันธุ์” ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ให้แง่คิดว่า พรรคเพื่อไทยเห็นด้วยอย่างยิ่ง คือโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ ในวงเงินที่รัฐบาลเสนอคือ 400,000 ล้านบาท แต่ต้องใช้ให้มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดการจ้างงานและการสร้างรายได้ใหม่ให้ประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ อย่างทั่วถึงได้อย่างแท้จริง เราจึงจะสามารถฟื้นเศรษฐกิจของประเทศได้

อย่างไรก็ตาม เงินในส่วนนี้ต้องกู้ แต่ต้องกู้เท่าที่จำเป็น ไม่ใช่กู้ทั้ง 1.9 ล้านล้านบาท โดยไม่ยอมตัดงบประมาณใดๆ หรือตัดในจำนวนน้อยมาก

 4 แสนล้านบาท ในเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ยังกลายเป็นหลุมดำที่ยังไม่มีคำอธิบาย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง