ไม่พบผลการค้นหา
‘ธนาธร’ โพสต์ชี้ชำแหละบีทีเอสร่วมมือกับคำสั่งรัฐบาลห้ามประชาชนโดยสารรถไฟฟ้าหลายแห่งระหว่างชุมนุมดาวกระจาย ชี้ไม่สนใจการเมืองค่าโดยสารแพงเป็นอันดับต้นของโลก

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า บีทีเอสให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีกับคำสั่งจากรัฐบาลเผด็จการในการห้ามประชาชนเข้าสถานีรถไฟฟ้าหลายแห่งในช่วงวันเวลาที่มีการนัดหมายการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษาและประชาชน โดยระบุว่า 18 ต.ค. ปิด 15 สถานี 17 ต.ค. ปิดทุกสถานี และ 16 ต.ค. ปิด 5 สถานี การปิดบริการของบีทีเอสก่อให้เกิดภาระต่อประชาชนทั้งที่เดินทางไปชุมนุมและที่เดินทางสัญจรปกติ ประชาชนเดือดร้อน เสียทั้งเงินทั้งเวลาเพิ่มขึ้นในการเดินทาง

ธนาธร ระบุว่า การเดินรถไฟฟ้าในกรุงเทพเป็นธุรกิจที่อาศัยสัมปทานจากรัฐ เดิมบีทีเอสมีสัญญาในการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวกับกรุงเทพมหานครจากปี 2542-2572 ในปี 2555 ช่วงที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตรเป็นผู้ว่าฯกทม. บีทีเอสได้รับการต่อสัญญาสายสีเขียวจากกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งควบรวมสัญญาเดินรถสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1(อ่อนนุช-แบริ่ง และตากสิน-บางหว้า) ไปถึงปี 2585 โดยไม่มีการประมูลและก่อนสัญญาหลักจะหมดถึง 17 ปี

การต่อสัญญาดังกล่าวมีส่วนทำให้มูลค่าตลาดของบีทีเอสเพิ่มขึ้นจาก 44,607 ล้านบาท เป็น 104,402 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8 หมื่นล้านบาท หรือ 134% ภายในปีเดียว ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นเพียง 30.4% ในช่วงเวลาเดียวกัน(เทียบ 31 มี.ค. 2555 กับ 31 มี.ค. 2556)

เจ้าของบีทีเอสมีความมั่งคั่งมากขึ้นเป็นหมื่นล้านบาทในชั่วข้ามคืน ในเดือน เม.ย. 2562 หลังการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 24 มี.ค. และก่อนการตั้งรัฐบาลในเดือน ก.ค. คสช. อาศัยช่วงสุญญากาศทางการเมืองใช้คำสั่งมาตรา 44 เพื่อแบ่งเค้กครั้งสุดท้าย พวกเขารู้ว่าถ้าประกาศก่อนเลือกตั้งจะเสียคะแนนเสียง และถ้าทำหลังจากมีรัฐบาลใหม่ เรื่องนี้ต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎร

ธนาธร ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ อาศัยอำนาจเด็ดขาดตามมาตรา 44 อนุญาตให้การประมูลรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่สอง(แบริ่ง – สมุทรปราการ และหมอชิต - คูคต) ไม่ต้องเข้ากระบวนการตามกฎหมายร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ พล.อ.ประยุทธ์เพิ่งผลักดันให้ผ่านเองในวันที่ 10 มี.ค. 2562 เรียกได้ว่าผ่านกฎหมายเอง แต่เว้นวรรคการใช้กฎหมายนั้นกับการประมูลส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือเขียนด้วยมือลบด้วยเท้า

นอกจากไม่ต้องเข้ากระบวนการตามกฎหมายปกติแล้ว คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้ยังสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งโดยมีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน เพื่อพิจารณาค่าโดยสารและการแบ่งผลประโยชน์ระหว่างรัฐกับเอกชนทั้งสายสีเขียวเดิม รวมถึงส่วนต่อขยายที่หนึ่งและสอง หากคณะกรรมการชุดนี้ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ให้ส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

มีการพยายามล็อบบี้กันอย่างหนักเพื่อให้บีทีเอสได้สัมปทานสายเดิมและส่วนขยายทั้งหมดโดยขยายเวลาสัมปทานไปถึงปี 2602 โดยไม่ต้องประมูล(ยุทธพงษ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายเรื่องนี้เมื่อต้นเดือน ก.ย. ที่ผ่านมาในสภาแล้วอย่างละเอียด ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้) เพราะไม่มีใครอยากเป็นผู้ตัดสินใจ คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามมาตรา 44 จึงเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีตัดสินใจเอง

ปรีดี ดาวฉาย รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต้นเดือน ส.ค. ซึ่งเป็นเวลาที่เรื่องการให้สัมปทานทั้งสายกับบีทีเอสเข้าสู่การประชุม ครม. พอดี ปรีดีได้ขอเอกสารไปพิจารณาก่อนตัดสินใจ เนื่องจากเพิ่งเข้ามาใหม่ กลัวจะทำผิดกฏหมาย จากนั้น ปรีดา ลาออกเมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2563 หลายฝ่ายคาดเดาว่าสาเหตุมาจากการที่เขาไม่ต้องการร่วมรับผิดชอบกับการต่อสัญญาให้บีทีเอสถึงปี 2602 โดยไม่ต้องประมูล

บีทีเอสกำลังรอการต่อสัมปทานที่สำคัญจากรัฐบาลประยุทธ์โดยไม่ต้องประมูลอยู่ ผลประโยชน์จนถึงปี 2602 อาจเป็นมูลค่าแสนล้าน เป็นไปได้หรือที่พวกเขาจะยืนเคียงข้างประชาชนโดยการขัดคำสั่งรัฐบาล บีทีเอสยังมีความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มทุนอื่น

ธนาธร ระบุว่า คุณชฎาทิพย์ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ผู้พัฒนาโครงการไอคอนสยาม ร่วมกับบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล๊อปเม้นต์ จำกัด และเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวถึง คีรี กาญจนพาสน์ ผู้บริหารสูงสุดของบีทีเอส ตอนหนึ่งว่า "ขอบคุณคุณคีรี กาญจนพาสน์ ที่เสนอแนะให้สร้างรถไฟฟ้าสายทอง เพื่อทำเป็นระบบฟีดเดอร์ไลน์ เชื่อมรถไฟฟ้า 3 สาย คือ สายสีเขียว (บีทีเอส) สายสีแดง และสายสีม่วงใต้ในอนาคต ซึ่งได้ขอกู้แบงก์เพิ่มเพื่อลงทุนฟีดเดอร์ไลน์ โดยเราให้เงินทุนสนับสนุน กทม. ดำเนินการผ่านกรุงเทพธนาคม จริงๆ สายสีทองจะต้องสร้างเสร็จก่อนที่ไอคอนสยามจะเปิด ถึงจะใช้เวลานานแต่เราก็ภูมิใจ และอนาคตแนวเส้นทางจะไปถึงประชาธิปก เชื่อมกับสายสีม่วงใต้”

คีรีเป็นผู้เสนอให้สยามพิวรรธ์ สมทบทุนสร้างสายสีทอง โดยแลกเปลี่ยนกับสัญญาสัมปทานโฆษณาบนรถไฟฟ้า บีทีเอสได้สัญญาการเดินรถไฟสายสีทองไป 30 ปีโดยไม่ต้องประมูล(พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส. พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจประยุทธ์ ในประเด็นสายสีทองเอื้อประโยชน์กับไอคอนสยามและหอชมเมืองในสภาเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ท่านที่สนใจสามารถหาฟังเพิ่มเติมได้)

บีทีเอสไม่ได้มีแค่ธุรกิจรถไฟฟ้า แต่ยังมีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และสื่อสารมวลชน คีรีเคยร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในการพัฒนาโครงการ The Exchange Square โครงการที่ คีรีตั้งใจพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการเงินของประเทศไทย

ในธุรกิจสื่อ หลังจากการยึดอำนาจของ คสช. ในปี 2558 บริษัทลูกของบีทีเอสชื่อ บริษัท ยู ซิตี้ (มหาชน) จำกัด ได้เข้าไปถือหุ้นบริษัท เนชั่นมัลติมีเดียกรุ๊ป (มหาชน) จำกัด ในเวลาไล่เลี่ยกับช่วงที่บริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัดเข้าซื้อหุ้นใหญ่ในบริษัทดังกล่าวด้วย

หลังจากการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น เราเห็นแนวโน้มมาตรฐานการรายงานข่าวที่เปลี่ยนไป และการเลือกข้างทางการเมืองของเครือเนชั่นอย่างเห็นได้ชัด จนถึงปัจจุบัน ยู ซิตี้ เป็นผู้ถือหุ้นจำนวนมากที่สุดของเนชั่น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจกับการเมืองคือเรื่องเดียวกัน อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าของประเทศไทยแพงเป็นอันดับต้นๆของโลก

"เพราะเราไม่สนใจการเมือง ค่าโดยสารรถไฟฟ้าจึงแพง เพราะเราไม่สนใจการเมือง สัมปทานและสัญญาจัดซื้อจัดจ้างจึงถูกหยิบยกให้นายทุนโดยไม่มีการประมูล เพราะเราไม่สนใจการเมือง เราจึงปล่อยให้เขาขูดรีดเรา ติดตามตรวจสอบการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว อย่าให้เขาต่อสัมปทานให้กับบีทีเอสโดยไม่มีการประมูลหรือไม่มีการเสนอเงื่อนไขอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะ"