ไม่พบผลการค้นหา
หากต้องการเข้าใจโฉมหน้าการเมืองไทยหลัง พ.ศ 2475 จนถึงปัจจุบัน ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าจะต้องทำความรู้จักบุคคลที่ชื่อ 'นายควง อภัยวงศ์' หนึ่งใน ‘คณะราษฎร’ ผู้ร่วมปฏิวัติ 2475 ด้วยวีรกรรม “ตัดสายโทรศัพท์” แม้เขาอาจจะไม่โดดเด่นนัก หากเทียบกับคณะราษฎรคนอื่นๆ แต่ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี 4 สมัย และเป็นหัวหน้าพรรค 'คนแรก' ของพรรคการเมืองเก่าแก่อย่าง 'ประชาธิปัตย์' ที่มีบทบาทสำคัญต่อการเมืองไทย นับตั้งแต่วันที่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน

18 ส.ค. 2562 ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ร่วมกับ คณะพาณิชยศาสตร์ฯ จัดเสวนาสาธารณะ ในหัวข้อ "ควง อภัยวงศ์ คณะราษฎร์ นายกรัฐมนตรี"

โดยมีวิทยากร คือ ผศ.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ นายกษิดิศ อนันทนาธร นักศึกษาปริญญาโทนิติศาสตร์ และนายนริศ จรัสจรรยาวงศ์ ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ ดำเนินรายการโดย ผศ.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์สถาบันรัฐศาสตร์ ม.รังสิต

‘นายควง อภัยวงศ์’ หรือ ‘หลวงโกวิทย์อภัยวงศ์’ นายกรัฐมนตรี 4 สมัย ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนแรก แต่อีกหนึ่งฐานะที่ไม่ค่อยถูกหยิบยกมาพูดถึงในสังคมไทย คือ ‘คณะราษฎร’ สายพลเรือน เขาคือผู้ร่วมปฏิบัติการที่ทำให้เกิดการปฏิวัติ 2475 ในครั้งนั้น

แม้วีรกรรมทางการเมืองของเขาอาจไม่โดดเด่นนักหากเทียบกับคณะราษฎร คนอื่นๆ แต่หากต้องการเข้าใจโฉมหน้าการเมืองไทย หลัง 2475 จนถึงปัจจุบัน ไม่สามารถปฏิเสธที่จะต้องทำความรู้จักบุคคลที่ชื่อ นายควง อภัยวงศ์ และบทบาทสำคัญของพรรคการเมืองเก่าแก่ที่มีต่อการเมืองไทยนับตั้งแต่วันที่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน 'พรรคประชาธิปัตย์'

ควง คณะราษฎร ผู้ตัดสายโทรศัพท์ ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475

นายกษิดิศ กล่าวว่า นายควง และนายปรีดี พนมยงค์ และนายชม จารุวัฒน์ เป็นเพื่อนรักกัน คุณหญิงเลขา อภัยวงศ์ ภรรยาของนายควงได้เขียนบันทึกไว้ว่า เจอกับนายควง ที่ประเทศฝรั่งเศส และในปี 2474 รับหมั้นนายควง และแต่งงานในปี 2475 โดยมีนายปรีดี เป็นเพื่อนเจ้าบ่าว นายปรีดี และนายควงมีห้องพักอยู่ที่เดียวกันในประเทศฝรั่งเศส สามคนนี้รักกันมาก ไปเที่ยวด้วยกัน วันหยุดสามเดือนก็ไปเรียนภาษาอังกฤษด้วยกัน ส่วนวีรกรรมที่สำคัญในฐานะคณะราษฎรของนายควง คือ การตัดสายโทรศัพท์ ซึ่งเป็นชุมสายสำคัญในขณะนั้น ถึงขั้นว่า หากยึดสายโทรศัพท์ได้ ก็ยึดประเทศได้ โดยขณะนั้นนายควง เป็นข้าราชการไปรษณีย์ ที่ดูแลเรื่องการสื่อสาร และโทรเลข


เสวนาควง อภัยวงศ์กับการฟื้นอนุรักษนิยมในการเมืองไทย-1-ธำรงศักดิ์.JPG

ผศ.ธำรงศักดิ์ ชวนคิดว่า ในวันปฏิวัติ นายควงมีอายุเพียง 30 ปี และคณะราษฎรเองในขณะนั้นก็มีอายุสูงสุดเพียง 45 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มคนอายุน้อย หรือคนรุ่นใหม่ในขณะนั้น ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศ

“เราอยู่ในยุคที่เราถูกทำให้เชื่อว่า เราจะเป็นผู้ที่สร้างบ้านแปลงเมืองได้เมื่อเราอายุ 60 ปี แต่คนรุ่นปฏิวัติ 2475 ผู้นำของคณะราษฎร คือพระยาพหลพลพยุหเสนา อายุ 45 ปี นั่นคือผู้นำที่มีอายุสูงสุดในขณะนั้น สมาชิกคณะราษฎรไล่ลงมาจนกระทั่งคนอายุน้อยที่สุด คือ 20 ปี เพิ่งเรียนจบทางด้านกฎหมาย พูดง่ายๆ ว่าคณะราษฎรมาด้วยความเป็นคนหนุ่มสาว คนรุ่นใหม่ คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่จึงมาพร้อมกับความฝัน และความไม่กลัวตาย"

"การที่ต้องการจะสร้างประเทศ คนที่ยิ่งอายุน้อย ยิ่งมีพลังในการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ควงอายุ 30 ปี ในวันที่ปฏิวัติ 2475 ตอนที่ควงเป็นนายกฯ ครั้งแรก อายุ 42 ปี เราถูกทำให้เชื่อว่ากว่าจะเป็นนายกฯ ต้องอายุเลย 60 ปีแล้ว แต่สังคมไทยในยุคตั้งแต่ 2475 โลกเปลี่ยนถล่มทลาย เพราะนายกฯ เริ่มต้นที่อายุ 40 เกมการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไทยในยุคหลัง 2475 จึงเป็นเกมเร็ว ถ้าเป็นเกมของคนอายุ 60 เราจะเห็นว่าเป็นเกมของคนที่ไม่เข้าสภา” ผศ.ธำรงศักดิ์ กล่าว


ปรีดี_-_ควง_-_ชม_ก่อนปี_พ.ศ._2490.jpg
  • ภาพของนายควง (ซ้าย) นายปรีดี (นั่ง) นายชม (ขวา)

คณะราษฎร ผู้ลบล้างวัฒนธรรมคณะราษฎร

ผศ.ศรัญญู กล่าวถึงจุดพลิกผันในชีวิตของนายควง คือ ช่วงปี 2481 ตอนที่ไปประชุมที่ประเทศอาร์เจนตินา ระหว่างเดินทางกลับได้ไปเข้าเฝ้ารัชกาลที่ 7 หลังสละราชสมบัติแล้ว ซึ่งในช่วงนี้ พบว่า หลังจากนายควงไปเข้าเฝ้าจะมีความคิดความอ่านเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก แล้วก็มักจะพูดกับคนใกล้ตัวว่า “เรามันผิดไปเสียแล้ว ควรจะถวายพระราชอำนาจคืน” ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เปลี่ยนไปต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แต่เราไม่สามารถรู้ได้ถึงบทสนทนาระหว่างนายควง และรัชกาลที่ 7 ได้เลย เนื่องจากไม่มีหลักฐานปรากฏ

ถ้าหากมาดูในปลายปี 2481 จอมพล ป. จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คณะราษฎรจะมีอำนาจเต็มทางการเมือง และมีความขัดแย้งกับกลุ่มเจ้านาย กระทั่งเกิดเป็น “กบฏกรมขุนชัยนาทนเรนทร”

นอกจากนี้ ผศ.ศรัญญู กล่าวว่า ในปี 2487 นายปรีดี และนายควง มีบทบาทในการรื้อฟื้นอนุรักษนิยม ด้วยเหตุผลที่ต้องการสมานฉันท์ ระหว่างชนชั้นนำในระบอบเก่า กับคณะผู้ก่อการพลเรือน จึงมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งหลังจากนั้นผู้ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อ 2475 ที่ลี้ภัยในต่างประเทศกลับมา ในด้านหนึ่งเหมือนจะดีกับการเมืองแบบสมานฉันท์ แต่สุดท้ายแล้วก็พบว่า ฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กับการปฏิวัติผูกใจเจ็บ และสุดท้ายเอง นายปรีดี ก็ถูก “รุมกินโต๊ะ” อยู่ฝ่ายเดียว ในกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8


เสวนาควง อภัยวงศ์กับการฟื้นอนุรักษนิยมในการเมืองไทย-2.JPG

นับแต่จอมพล ป. ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2481 ได้มีแนวนโยบายสร้างชาติ เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายประการ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงประเพณีและวัฒนธรรมบางอย่าง เพื่อให้สอดคล้องกับการการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผศ.ศรัญญู กล่าวว่า บทบาททางการเมืองที่สำคัญอีกประการของนายควง คือ “การลบวัฒนธรรมคณะราษฎร” ซึ่งมีฐานคิดให้ “คนเท่ากัน” อันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. ไม่ว่าจะเป็น อักษรไทย ทหารหญิง การแต่งกาย

อย่างไรก็ดี ผศ.ธำรงศักดิ์ ตั้งข้อสังเกตว่า นายควง อภัยวงศ์ ในคำบอกเล่าของผู้ที่ใกล้ชิดก็คือ เขารู้สึกสำนึกบาปต่อการปฏิวัติ 2475 แต่นายควงมีบรรดาศักดิ์ คือ ‘หลวงโกวิทย์อภัยวงศ์’ เมื่อนายควงได้เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ ให้คืนบรรดาศักดิ์ต่างๆ แก่บุคคลที่เคยมีบรรดาศักดิ์ แต่นายควงไม่เคยกลับตัวเองไปเป็นหลวงโกวิทย์อภัยวงศ์เลย เช่นเดียวกับคณะราษฎรคนอื่น ที่ไม่เคยกลับคืนสู่บรรดาศักดิ์

ด้าน ผศ.ศรัญญู กล่าวว่า นายควง อภัยวงศ์ เป็นคณะผู้ก่อการที่ไม่บรรจุอัฏฐิอยู่ในเจดีย์วัดพระศรี ซึ่งเป็นสถานที่บรรจุอัฏฐิของคณะผู้ก่อการปฏิวัติ 2475 ในช่วงหลังสงครามโลก จะเห็นว่านายควงพยายามที่จะตัดขาดออกจากคณะราษฎร ซึ่งในส่วนนี้อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทายาทไม่นำเอาอัฏฐิไปบรรจุไว้ในเจดีย์ ร่วมกับผู้ก่อการปฏิวัติ 2475

จุดแตกหัก ควง ปรีดี จอมพล ป. กำเนิดพรรคประชาธิปัตย์ และการฟื้นคืนชีพของอนุรักษนิยม

จากเพื่อนรัก ผู้ร่วมก่อการ และหนังหน้าไฟในฐานะนายกรัฐมนตรีที่เป็นดั่งตัวแทนของนายปรีดี และจอมพล ป. กลายเป็นปฏิปักษ์ และเกิดข้อโจมตีระหว่าง นายปรีดี พนมยงค์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และนายควง อภัยวงศ์

ผศ.ศรัญญู กล่าวว่า เดิมทีนายควงมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อจอมพล ป. อย่างมาก ตั้งแต่รัฐมนตรีในสมัยจอมพล ป. สุดท้ายเกิดความขัดแย้งและลาออกในปี 2486 จากเหตุการณ์ที่จอมพล ป. ยื่นใบลาออก แล้วสุดท้ายไม่ยอมลาออก

ส่วนความขัดแย้งกับนายปรีดีเกิดจากการที่ ‘ปรีดีไม่หนุนควง’ แต่หนุน ดิเรก ชัยนาม ผศ.ศรัญญู กล่าวว่า หลังสงครามโลก การเมืองไทยถูกแบ่งชัดเจนเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายที่ เอาปรีดี และไม่เอาปรีดี หนึ่งในนั้นคือ นายควง ที่มีความขัดแย้งกับนายปรีดี ในกรณี เลือกตั้ง 2489 เมื่อนายควงชนะเลือกตั้ง ส.ส. ขณะที่ฝ่ายนายปรีดี ไปสนับสนุนนายดิเรก ชัยนาม แต่สุดท้ายเสียงในสภาก็โหวตให้นายควงเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งในส่วนนี้สะท้อนให้เห็นแล้วว่า มีความขัดแย้งกันระหว่างนายควง และนายปรีดี


เสวนาควง อภัยวงศ์กับการฟื้นอนุรักษนิยมในการเมืองไทย-3.JPG
  • บรรยากาศในการเสวนา "ควง อภัยวงศ์ คณะราษฎร์ นายกรัฐมนตรี"

ผศ.ศรัญญู กล่าวต่อว่า ความขัดแย้งที่เห็นได้ชัด คือ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาลของนายควงในสมัยที่สองเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ สมัยนายควงเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก ครม. เป็นคณะราษฎรเยอะมาก ขณะที่รัฐบาลของนายควงในสมัยที่สอง ไม่มีคณะราษฎรหรือคนของฝ่ายนายปรีดีเลย ส่วนใหญ่เป็นขุนนางเก่ามากที่สุด หลังจากที่ขุนนางเก่าหมดบทบาทไปตั้งแต่ 2476

ขณะเดียวกันนายควงก็พยายามที่จะตีตัวออกห่างจากคณะราษฎรด้วยการแถลงนโยบายในสภาที่ไม่มี “หลัก 6 ประการ” นายควงและบรรดาอนุรักษนิยมในขณะนั้น ร่วมกันก่อตั้งพรรคการเมืองที่มีอิทธิพลต่อโฉมหน้าการเมืองไทยจนถึงปัจจุบัน หลังจากนายควงได้รับการโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรีเพียง 1 เดือน เกิดเหตุการณ์เสียงปริ่มน้ำในสภา ฝั่งนายควงแพ้โหวตอีกฝ่าย จึงตัดสินใจลาออก

ความพ่ายแพ้ของนายควงในสภา ทำให้กลุ่ม ส.ส. ฝ่ายตรงข้ามของนายปรีดี และขุนนางเก่า กลุ่มอนุรักษนิยม และคณะราษฎร บางส่วนร่วมมือกันในการตั้ง ‘พรรคประชาธิปัตย์’ ในวันที่ 6 เมษายน 2489 เนื่องจากฝั่งของนายปรีดี มีการฟอร์มทีมอย่างชัดเจน คือ ‘สหชีพ’ และ ‘แนวรัฐธรรมนูญ’ จึงต้องมีการเปิดหน้าสู้กันอย่างชัดเจน

ผศ.ศรัญญู กล่าวต่อว่า พรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น ประกอบด้วย กลุ่มขุนนางเก่า กลุ่มอนุรักษ์นิยม กลุ่มที่ปฏิปักษ์ต่อ 2475 กลุ่มที่เคยมีบทบาทในกบฏบวรเดช ซึ่งคนส่วนนี้มีบทบาทหลักในการต่อต้านนายปรีดี ส่วนนายควงได้รับลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนแรก

พรรคประชาธิปัตย์แสดงตัวเองชัดเจนว่าเป็น ‘ฝ่ายค้านปรีดี’ ตั้งแต่เริ่มต้น หากมาดูบทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะฝ่ายค้านในช่วงแรก คือ หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญในปี 2489 ในรัฐบาลนายปรีดี จะเห็นการแบ่งขั้วทางการเมืองชัด และพรรคประชาธิปัตย์ก็มีบทบาทในการโจมตีรัฐบาลนายปรีดี อย่างเช่น การใช้จ่ายเงิน และอภิสิทธิ์ของเสรีไทย แต่สุดท้ายรัฐบาลสามารถยืนยันว่ามีการใช้จ่ายถูกต้อง ซึ่งก็ทำให้เรื่องนี้เป็นอันตกไป

ขณะเดียวกันปัญหาที่สะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างพรรคประชาธิปัตย์และนายปรีดี คือ การเลือกตั้งพฤติสภา (วุฒิสภา) สมัยแรก ซึ่งเลือกผ่านทาง ส.ส. แต่พรรคประชาธิปัตย์ได้เพียงแค่คนเดียวจากจำนวนทั้งสิ้น 80 คน พูดง่ายๆ คือ ฝั่งของนายปรีดีคุมเสียงในสภาได้ทั้งหมด ทั้งสภาสูงและสภาล่าง จากนั้นเกิดกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ก็มีบทบาทสำคัญในการโจมตีนายปรีดี ว่ามีความเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคต อย่างไรก็ดี ส.ส. ของพรรคประชาธิปัตย์ถูกจับกุม หลังเหตุการณ์ในครั้งนี้ด้วย ผศ.ศรัญญู กล่าว

ผศ.ศรัญญู กล่าวต่อว่า หลังจากที่นายปรีดีลาออก และ นาวาอากาศเอก ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์) ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี (2489-2490) พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังเป็นฝ่ายค้านเสมอต้นเสมอปราย มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ 8 วัน 7 คืน จนทำให้ภาพลักษณ์ของฝ่ายปรีดีอยู่ในด้านลบ นำไปสู่การสร้าง “ความชอบธรรม” บางอย่าง ให้กองทัพ “รัฐประหาร” ในเดือนพฤศจิกายน 2490


“กองทัพมีบทบาททางอาวุธในการยึดอำนาจ ขณะที่เจ้านาย กลุ่มอนุรักษนิยมมีบทบาทในการรับรองการรัฐประหาร 2490 ว่ามีความชอบธรรม ซึ่งการรัฐประหารในครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่มีการฉีกรัฐธรรมนูญ” ผศ.ศรัญญู กล่าว


ผศ.ศรัญญู กล่าวต่อว่า ความตกต่ำของระบบรัฐสภา เริ่มหลังจากการดึงเอากองทัพเข้ามามีบทบาททางการเมือง อย่างไรก็ดี คณะรัฐประหาร ไม่ได้เอาทหารมาเป็นนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาล แต่มีการเชิญนายควง มาดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี สะท้อนให้เห็นความร่วมมือระหว่างกองทัพ คณะรัฐประหาร และพรรคประชาธิปัตย์ ในการสร้างเงื่อนไขอะไรบางอย่าง ให้นำไปสู่การรัฐประหาร ซึ่งหลังการรัฐประหารครั้งนี้ กลุ่มที่มีบทบาททางการเมืองมากที่สุดก็คือ ‘กลุ่มอนุรักษนิยม’ ไม่ว่าจะเป็นอภิรัฐมนตรีสภา ซึ่งตอนนั้นก็คือดำรงตำแหน่งเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วย ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร ซึ่งดึงเอาคนที่เป็นทหาร และขุนนางเก่า มาดำรงตำแหน่ง อีกส่วนหนึ่งก็คือ มีการตั้งวุฒิสภา ซึ่งเป็นบรรดาเจ้านาย ขุนนางเก่า และบรรดานายทหาร แตกต่างจากรัฐธรรมนูญ 2489 ที่มาจากการเลือกตั้ง

“ในช่วงปี 2490-2491 รัฐบาลของนายควงมีบทบาทสำคัญในการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือว่าเป็นสภาที่ตั้งขึ้นมาเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ 2492 ซึ่งถือเป็นการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรก แยกจากรัฐสภา ใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญเพียง 6 เดือน ซึ่งสำหรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่มีความพิสดารอย่างมาก เพราะว่าเป็นการร่างรัฐธรรมนูญที่เพิ่มพระราชอำนาจอย่างมโหฬาร ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน หลัง 2475…เนื้อหาหลักๆ คือการเพิ่มพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ อย่างเช่น การตั้งองคมนตรี ตั้งวุฒิสภา เป็นอำนาจสิทธิ์ขาด มีพระราชอำนาจในการยับยั้งกฎหมาย ขณะเดียวกันสามารถสถาปนาฐานันดรศักดิ์ มีการกำหนดให้องคมนตรี คณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภาต้องปฏิญาณตนต่อหน้าพระมหากษัตริย์เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน อย่างไรก็ตาม เนื้อหาคำปฏิญาณก็ยังเหมือนกับในช่วง 2475 คือต้องปฏิบัติตามและต้องรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ แต่ตอนนี้มันก็หายไปแล้ว ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร” ผศ.ศรัญญู กล่าว


ปชป.-พรรคประชาธิปัตย์

ผศ.ศรัญญู กล่าวต่อว่า หลังจากการเลือกตั้งในปี 2491 พรรคประชาธิปัตย์ชนะฝ่ายนายปรีดี ซึ่งเป็นผลจากการเมืองที่เปลี่ยนไปแล้ว เพราะฉะนั้น นายควงจึงสามารถจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้ แต่ปัญหาที่สำคัญ คือนายควงเป็นนายกฯ ได้อีกไม่นาน ในเดือนเมษายนถูกจี้ให้ออก เนื่องจากคณะรัฐประหารไม่เอานายควงแล้ว สุดท้ายนายควงลาออก

ในปี 2491-2498 นายควงยังมีบทบาทในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นฝ่ายค้านในรัฐบาลจอมพล ป. แต่กลับไม่มีพลังทางการเมืองที่เข้มแข็งแล้ว ถูกลดบทบาทไป เนื่องจากจอมพล ป. มีอำนาจ แต่ขณะเดียวกันิจะเห็นบทบาทที่เข้ามาแทนที่พรรคประชาธิปัตย์ คือ วุฒิสภา (2491-2494) วุฒิสภาก็จะทำตัวเป็นฝ่ายค้านรัฐบาล เพราะในด้านหนึ่งวุฒิสภายังมีอิสระกับคณะรัฐประหาร เพราะมาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์ แล้วส่วนใหญ่เป็นขุนนางเก่าที่ไม่เอาจอมพล ป. แต่สุดท้ายเมื่อจอมพล ป. ทำการรัฐประหารเงียบ ด้วยการล้มรัฐธรรมนูญ 2492 ทิ้ง แล้วเอารัฐธรรมนูญ 2475 มาใช้ใหม่ แต่มีการแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งมีลักษณะเป็น 2475+2492 คือให้ข้าราชการประจำดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ แต่พระราชอำนาจแบบเดียวกับ 2492 ซึ่งส่วนนี้ทำให้กองทัพมีบทบาทในสภา ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เข้าสู่ขาลงอย่างต่อเนื่อง

หลังการรัฐประหาร 2494 นายควงประกาศลั่นว่าจะไม่ลงเลือกตั้ง หากยังมี ส.ส. ประเภทสอง คือ ส.ส. ที่มาจากการแต่งตั้ง ซึ่งหลังจากจอมพล ป. มีการเปิดบรรยากาศทางการเมืองในปี 2498 มีการจัดตั้งพรรคการเมืองได้ มีการจัดตั้งพรรคการเมือง ‘เสรีมนังคศิลา’ คือพรรคทหาร หรือ พรรคของจอมพล ป. ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็มีบทบาทสำคัญในครั้งนี้

กระทั่งการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2500 พรรคประชาธิปัตย์แพ้ ขณะเดียวกัน หลังจากการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ยอม มีการโจมตีและค้านการเลือกตั้งครั้งนั้นว่า “เลือกตั้งสกปรก” มีความพยายามที่จะล้มการเลือกตั้งในครั้งนี้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐประหาร ยึดอำนาจในเดือนกันยายนปี 2500 มีการจัดตั้งพรรคสหภูมิ ที่เป็นตัวแทนของทหาร ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ก็ลงเลือกตั้งในครั้งนี้ แต่ว่าแพ้การเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นขาลงของพรรคประชาธิปัตย์ นายควงจึงหมดบทบาททางการเมืองลง ก่อนจะจบชีวิตลงในปี 2511 ด้วยโรคมะเร็ง