ไม่พบผลการค้นหา
การเมืองไทยกำลังเดินมาถึงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ กระบวนการเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการเต็มใบ 5 ปีเต็ม ยุค คสช. มาเป็นเผด็จการครึ่งใบ ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 กำลังจะเริ่มต้นขึ้น เมื่อวาระการประชุมเลือกลงมติเลือกนายกฯ ถูกกำหนดไว้ในวันที่ 5 มิ.ย.นี้

หนทางการสืบทอดอำนาจของ คสช. ที่มีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นแกนนำ ในการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. นายกฯ และแคนดิเดตนายกฯพรรคพปชร. ให้เป็นนายกฯ ต่อไป ยังคงไม่มีความชัดเจนในรายละเอียด

เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีส.ส. 53 ที่นั่ง ตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อให้มีเสียงในสภาล่างเกินกึ่งหนึ่ง หรือ 251 เสียงขึ้นไปนั้น ยังไม่ตอบรับอย่างเป็นทางการ ยังติด 2 เงื่อนไขสำคัญ ที่ยังไร้คำตอบรับจากพปชร.คือ 1.เก้าอี้ รมว.เกษตรและสหกรณ์ 2.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในส่วนของการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม

ประกอบกับจุดยืนและอุดมการณ์ 53 ส.ส. ภายในพรรคสีฟ้าเอง ก็ยังแตกต่างหลากหลายแทบจะแบ่งออกเป็นครึ่งๆ กลุ่มส.ส.ใต้สายอดีตแกนนำกปปส.ยืนกรานชัดต้องการสนับสนุนนายกฯคนเดิม ขณะเดียวกันก็สายคัดค้านการสืบทอดอำนาจ ยืนพื้นอีกครึ่งหนึ่ง ที่ต้องจับตาคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ก่อนเลือกตั้ง ได้ประกาศจุดยืนชัด ไม่สนับสุนนนายกฯคนเดิม ซึ่งมีกระแสข่าวสะพัดอาจลาออก ส.ส. หากพรรคสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ

ในขณะที่นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช ทำทางออกหน้าที่ 3 เสนอขั้วที่ 3 คลายทางตันทางการเมือง ด้วยการโหวตนายกฯ คนนอก หรือเป็นไปได้ดัน ‘อภิสิทธิ์’ เป็นนายกฯอีกครั้ง

เมื่อคณะกรรมการบริหารพรรค ภายใต้การนำของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคนล่าสุด ยังไม่อาจประกาศออกมาเป็นมติอย่างชัดเจน สถานการณ์ทางการเมืองระหว่างนี้ จึงเต็มไปด้วยความไม่ชัดเจน

ไม่ชัดเจนจนกระทบชิ่งไปยังพรรคภูมิใจไทย ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค โดยตรง ที่อาสาขอร่วมรัฐบาลให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ แต่ก็ทำท่าจะสะดุด หากประชาธิปัตย์ใส่เกียร์ถอยถอนตัว เพราะหากไม่มีพรรคประชาธิปัตย์ เสียงสภาล่างก็จะไม่ถึงกึ่งหนึ่ง การผลักดันกฎหมายเพื่อประโยชน์ของประเทศจะไปต่อไม่ได้ทันที และเป็นอีกเงื่อนไข ให้ภูมิใจไทย 51 ส.ส.ก็ถอนตัวร่วมรัฐบาล


พปชร.เทียบเชิญปชป. เฉลิมชัยและอุตตม

แต่เมื่อมองจากมุมพลังประชารัฐ คำขู่จากประชาธิปัตย์ หรือภูมิใจไทย ไม่ใช่เรื่องที่ต้องสะทกสะท้าน

เพราะ "รัฐธรรมนูญออกแบบมาเพื่อให้ พปชร.เป็นรัฐบาล" ซึ่งตอนนี้มีแนวร่วมชัดเจนยืนพื้น จากพปชร. 116 เสียง ชาติไทยพัฒนา 10 เสียง รวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง ชาติพัฒนา 3 เสียง พลังท้องถิ่นไท 3 เสียง รักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง และพรรคจิ๋วอีก 11 เสียง รวม 150 เสียง

แม้ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรที่ 251 เสียง แต่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ นายกฯ มาจากการลงมติร่วมกันของสมาชิกรัฐสภาแบ่งเป็นส.ส.จากการเลือกตั้ง 500 คน และส.ว.ที่ คสช.แต่งตั้ง 250 คน เสียงสนับสนุนนายกฯคนเดิม จึงตุนไว้แล้ว 388 เสียง ถือว่า เกินกึ่งหนึ่งที่ 376 จาก 750 เสียงแล้ว

ความมั่นใจของแกนนำพปชร.ต่อ 250 ส.ว.แต่งตั้งนั้นไม่ต้องพูดถึง เรียบร้อยโรงเรียน คสช.ตั้งแต่ประกาศรายชื่อแต่งตั้ง

ล่าสุด น.พ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ยืนยันชัดถ้อยชัดคำ "ผมเชื่อว่าส.ว.ร้อยเปอร์เซ็นต์จะโหวตพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ" โดยให้เหตุผลประกอบว่า การลงมติเลือกนายกฯก็ถือเป็นอำนาจหน้าที่ของส.ว.ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากการทำประชามติเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559 ที่ผ่านมาแล้ว

พร้อมกับสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ว่า ไม่ต้องมาแสดงวิสัยทัศน์ตามคำเรียกร้องจากฝ่ายวิชาการและพรรคการเมืองอื่นก็ได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายข้อไหนกำหนดไว้ให้พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งถือเป็นคนนอกไม่เกี่ยวกับการประชุมรัฐสภาต้องมาปรากฎตัวยังสถานที่ประชุม ส่วนตัวจึงเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่จำเป็นต้องมาก็ได้ ก่อนจะทิ้งท้ายว่า ส.ว.ชุดปัจจุบันตามบทเฉพาะกาลนั้นมีอำนาจหน้าที่เพื่อให้มากำกับดูแลการปฏิรูปประเทศเป็นพิเศษ ไม่ต้องปิดสวิตช์ส.ว. เมื่อครบ 5 ปี ส.ว.ก็จะปิดสวิตช์ตัวเอง


ธนาธร-ประชุมสภา-ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.-จับมือ-เฉลิม

ด้าน 7 พรรคต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. ยังคงผนึกกำลังเหนียวแน่น ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย 136 เสียง อนาคตใหม่ 81 เสียง เสรีรวมไทย 10 เสียง ประชาชาติ 7 เสียง เศรษฐกิจใหม่ 6 เสียง เพื่อชาติ 5 เสียง และพลังปวงชนไทย 1 เสียง ซึ่งเมื่อหักนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ กับ ‘จุมพิตา จันทรขจร’ ส.ส.นครปฐม พรรคอนาคตใหม่ ที่ยังมีปัญหาด้านสุขภาพ ก็จะเหลือ 244 เสียง 

จริงอยู่ที่ในการลงมติเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตกเป็นของนายชวน หลีกภัยนั้น จะมีราว 6-8 เสียงจากขั้ว 7 พรรคการต่อต้านการสืบทอดอำนาจแตกแถวไปบ้าง

แต่การลงมติเลือกนายกฯ ที่ต้องเปิดเผยขานชื่อรายบุคคล คงไม่มีใครกล้าสวนมติพรรคพลิกลิ้นโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะไม่ต่างจากการฆ่าตัวตายทางการเมืองอย่างแน่นอน

แม้ข้อเสนอล่าสุดแลกกับการเป็นงูเห่าตามการเปิดเผยจากส.ส.พรรคอนาคตใหม่พบว่า พุ่งสูงถึงหัวละ 60-80 ล้านบาทแล้วก็ตาม   

ทั้ง 7 พรรคขั้วต้านสืบทอดอำนาจ ก็ยังคงอุบไต๋การเสนอชื่อนายกฯแข่งกับพล.อ.ประยุทธ์

แต่ตามกระแสข่าว คงหนีไม่พ้นชื่อของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากค่ายเพื่อไทย หรือนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จากค่ายอนาคตใหม่

เมื่อดูคณิตศาสตร์การเมืองนั้นแน่นอนว่า 244 เสียง ย่อมน้อยกว่า 388 เสียงของสมาชิกรัฐสภา ไม่อาจโหวตสู้เสียงพรรคขั้วสืบทอดอำนาจของ คสช. ได้อย่างแน่นอน


สุดารัตน์และธนาธร 7พรรค ตั้งรัฐบาล สัตยาบัน

การลงมติโหวตนายกฯในวันที่ 5 มิ.ย.นี้ จะกระทำโดยเปิดเผยขานชื่อรายบุคคล ต้องได้รับความเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาที่ 376 เสียง 750 เสียง โดยมีนายชวน หลักภัย ประธานสภาเป็นประธานรัฐสภา และนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นรองประธานรัฐสภา ซึ่งตามธรรมเนียมปฏิบัติจะงดออกเสียง หากไม่มีสมาชิกรัฐสภารายใดป่วยการเมือง

นั่นจะทำให้เหลือเสียงที่จะสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ เหลือ 746 เสียง แนวโน้มการลงมติเลือกนายกฯจึงคาดว่าจะออกได้ 3 หน้าคือ

  • หน้าแรก

พลังประชารัฐดีลเก้าอี้รัฐมนตรีและการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคประชาธิปัตย์ลงตัว ภูมิใจไทยกลับมา พล.อ.ประยุทธ์จะได้เสียงสนับสนุนเป็นนายกฯ สมัย 2 ด้วยคะแนนมากที่สุด 502 เสียง โดยมาจากสภาล่าง 253 เสียง ของพรรคพลังประชารัฐ 116 เสียง ประชาธิปัตย์ 52 เสียง ภูมิใจไทย 51 เสียง ชาติไทยพัฒนา 10 เสียง รวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง ชาติพัฒนา 3 เสียง พลังท้องถิ่นไท 3 เสียง รักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง และพรรคจิ๋วอีก 11 เสียง และสภาสูง ส.ว. 249 เสียง

ซึ่งตรงนี้ต้องจับตาดูท่าทีจากส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในส่วน 20-25 เสียงที่คัดค้านการสืบทอดอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ว่าจะแสดงออกในการลงมติอย่างไร โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ เมื่อลองหักการโหวตตามจุดยืนแล้วของประชาธิปัตย์แล้ว อย่างน้อยพล.อ.ประยุทธ์ ก็จะได้เสียงสนับสนุนขั้นต่ำที่ 477-482 เสียงของรัฐสภา หรือคิดเป็น 228 เสียง ถึง 233 เสียง ของสภาล่าง

ส่วน7 พรรคการเมืองขั้วต้าน คสช. จะโหวตให้แคนดิเดตนายกฯของตัวเอง 244 เสียง

สุชาติ ชวน ศุภชัยชวน ประยุทธ์ นายกทำบุญ_๑๙๐๖๐๓_0025.jpg
  • แนวทางที่สอง

พลังประชารัฐดีลเก้าอี้รัฐมนตรีและการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคประชาธิปัตย์ไม่ลงตัว

ภูมิใจไทยไม่ร่วมรัฐบาลเสียงข้างน้อย พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังจะได้เสียงสนับสนุนเป็นนายกฯอีกอยู่ดี อย่างน้อย 399 เสียง โดยมาจากสภาล่าง 150 เสียง ของพรรคพลังประชารัฐ 116 เสียง ชาติไทยพัฒนา 10 เสียง รวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง ชาติพัฒนา 3 เสียง พลังท้องถิ่นไท 3 เสียง รักษ์ผืนป่าแห่งประเทศไทย 2 เสียง และพรรคจิ๋วอีก 11 เสียง และสภาสูงพรรคส.ว. 249 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง จากประธานและรองประธานรัฐสภา

ตรงนี้ต้องจับตาเสียงจากประชาธิปัตย์ 52 เสียง และภูมิใจไทย 51 เสียงว่า จะลงมติอย่างไร อาจมีส.ส.จากสองค่ายนี้ โหวตสวนมติพรรคให้พล.อ.ประยุทธ์ตามจุดยืนและแลกเก้าอี้รมว.ในการจัดสรรรัฐบาล โดยเฉพาะส.ส.ประชาธิปัตย์สายกปปส. 20 - 25 เสียง ซึ่งหากเป็นรูปแบบนี้ คะแนนหนุนพล.อ.ประยุทธ์ก็จะสูงสุดที่ 419-424 เสียง โดยเป็นของสภาล่าง 170-175 เสียงเท่านั้น 

ด้าน 7 พรรคการเมืองก็ยังคงไม่เห็นชอบนายกฯที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ในอัตรา 244 เสียง

พลังประชารัฐ-ประยุทธ์-สนามเฉลิมพระเกียรติบางมด-หาเสียง
  • หน้าสุดท้าย

พลังประชารัฐดีลเก้าอี้รัฐมนตรีและการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคประชาธิปัตย์ไม่ลงตัว ภูมิใจไทยไม่ร่วมรัฐบาลเสียงข้างน้อย

ประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทยพรรคซึ่งมีเสียงรวมกัน 103 เสียง ตัดสินใจตั้งรัฐบาลขั้วที่ 3 ร่วมกับ 7 พรรค ที่มี 244 เสียงยืนพื้น โดยการเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ เสนอทางเลือกให้ 7 พรรคถอนชื่อนายกฯของตนเองแล้วมาสนับสนุนนายอภสิทธิ์ ก็จะมีอย่างน้อยเสียง 343 เสียง ไม่ถึง 376 เสียง ไม่เพียงพอต่อการตั้งรัฐบาลขั้วที่ 3 อยู่ดี

เพราะหากหัก ส.ส.ประชาธิปัตย์ 20-25 เสียง ที่พร้อมจะสวนโหวตให้พล.อ.ประยุทธ์ รวมขั้วที่3จะเหลือเสียงเพียง 318-323 เสียง จากสภาล่าง ซึ่งหากยึดตามหลักประชาธิปไตยสากล ถือว่าท่วมท้นและชอบธรรมเพียงพอต่อการจัดตั้งรัฐบาล

ทว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่ให้ 250 ส.ว. แต่งตั้งร่วมเลือกนายกฯ ก็ไม่อาจหยุดยั้งพล.อ.ประยุทธ์ให้เป็นนายกฯ อีกครั้งด้วยคะแนน อย่างน้อย 423 - 428 เสียง โดยมาจากสภาล่าง 174-179 เสียง ของพรรคพลังประชารัฐ 116 เสียง ชาติไทยพัฒนา 10 เสียง รวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง ชาติพัฒนา 3 เสียง พลังท้องถิ่นไท 3 เสียง รักษ์ผืนป่าแห่งประเทศไทย 2 เสียง พรรคจิ๋วอีก 11 เสียง และงูเห่าจากประชาธิปัตย์หรือภูมิใจไทยอีก 20-25 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง

อภิสิทธิ์ประชุมสภา สภาผู้แทนราษฎร ทีโอที สภา

ไม่ว่าจะผลการลงมติในวันที่ 5 มิ.ย.นี้ จะออกมาในหน้าไหน ก็ดูเหมือนพล.อ.ประยุทธ์จะนอนเป็นนายกฯคนเดิมคนที่ 29 ดังเดิม แตกต่างกันที่รายละเอียดของคะแนนเสียงที่ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภา อย่างน้อยที่สุดที่ 399 เสียง ถึงมากที่สุด 502 เสียง จากทั้งหมด 746 เสียง 

แต่เมื่อแยกคะแนนออกมาระหว่างสภาสูงกับสภาล่าง จะพบว่า ในสภาล่างจะมีเสียงสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์อย่างมากที่สุดแค่ 253 เสียงเท่านั้น สำหรับหน้าแรกที่ได้เสียงจากประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยมาสนับสนุนแล้ว โดยน้อยที่สุดจะอยู่ที่ 150 เสียงเท่านั้น

การเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาเพื่อพลังประชารัฐ จึงไม่ต่างจากฝืนธรรมชาติ ส่งผลให้เกิดสภาวะรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ หรือไม่ถึงกึ่งหนึ่งชนิดน่าใจหาย ซึ่งส่งผลให้ไร้เสถียรภาพจนต้องอดอยู่ยาว ต้องล้างกระดานเลือกตั้งใหม่ในเร็ววัน ซึ่งคาดหมายว่า รัฐบาลชุดใหม่จะอยู่ได้ราว 6 เดือน ถึง 1 ปีเท่านั้น

เว้นแต่อำนาจเงินจะทรงพลังเพียงพอต่อการซื้อโหวตกันรายครั้งต่อกฎหมายฉบับสำคัญและการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ชนิดไม่สำนึกค่าของการเป็นนักการเมืองอาชีพที่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนที่แสดงเจตจำนงผ่านการเลือกตั้ง

วันที่ 5 มิ.ย. จึงไม่ใช่วันสิ้นหวังของประชาชนผู้ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย แต่จะเป็นวันที่สังคมไทยได้บทเรียนร่วมกันจากความบิดเบี้ยวของกติกา ที่มุ่งปราถนาสืบทอดอำนาจ ซึ่งนับถอยหลังรอวันพิพากษาจากประชาชนอีกครั้ง เมื่อเข้าคูหาเลือกตั้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง