ไม่พบผลการค้นหา
โคราชส่งสัญญาณต้นปี 2563 เจอปัญหาวิกฤติภัยแล้ง จ่อขาดน้ำ 197 หมู่บ้านการประปาภูมิภาค 3 สาขาเสี่ยงขาดน้ำดิบผลิตอุปโภคบริโภค ฟากคณะกรรมการจัดการชลประทานกาฬสินธุ์ ลงมติเปิดประตูระบายน้ำส่งน้ำเข้าพื้นที่เกษตรรับฤดูแล้งเร็วขึ้นเป็น 9 ธ.ค. นี้

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เนื่องจากปริมาณน้ำดิบจากแหล่งน้ำต่างๆ แห้งเหือดลงอย่างรวดเร็วจากผลของสภาพอากาศที่ร้อนแล้ง โดยปริมาณน้ำใน 4 อ่างกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ของจังหวัด ประกอบด้วย อ่างกักเก็บน้ำลำตะคอง สภาพน้ำปัจจุบันเหลืออยู่ที่ 163 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 52.11 เป็นน้ำใช้การได้ 141 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 48.38 ,อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง เหลืออยู่ที่ 24 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 15.93 เป็นน้ำใช้การได้ 23 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 15.54 เท่านั้น 

ส่วนอ่างเก็บน้ำมูลบน เหลืออยู่ที่ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 35.68 เป็นน้ำใช้การได้ 43 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 32.32 และอ่างเก็บน้ำลำแชะ เหลือปริมาตรน้ำอยู่ที่ 90 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 33.04 เป็นน้ำใช้การได้ 83 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 31.29 

ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 23 อ่างฯ เหลือปริมาตรน้ำรวม 91 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 27.72 และเป็นน้ำใช้การได้ 67 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 21.92 ทำให้ปริมาตรน้ำรวมอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง เหลือเฉลี่ย 421 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 34.62 แต่เป็นน้ำใช้การได้ 359 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 31.14 

สำหรับข้อมูลสรุปสถานการณ์ภัยแล้งของจังหวัดนครราชสีมา ครั้งที่ 13 / 2563 ระบุว่า มี 22 หมู่บ้านที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ จำเป็นต้องนำรถบรรทุกน้ำไปแจกจ่ายช่วยเหลือ ขณะนี้ได้เจาะบ่อบาดาลช่วยไปแล้ว 3 หมู่บ้าน ยังคงเหลืออีก 19 หมู่บ้านที่ต้องแจกจ่ายน้ำ อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้ทั้ง 32 อำเภอ เฝ้าติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด 

พร้อมกับประเมินว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 เป็นต้นไป จะมีหมู่บ้านที่ขาดแคลนน้ำประมาณ 197 หมู่บ้าน ซึ่งตอนนี้กำลังลำเลียงสูบส่งน้ำไปช่วย 197 หมู่บ้านเป้าหมายเหล่านี้แล้ว เพื่อให้เพียงพอใช้ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2563 ขณะเดียวกัน มีแผนดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาลเพิ่มเติมอีก 60 หมู่บ้าน แต่หลังจากลงไปสำรวจ มี 20 หมู่บ้านที่พื้นที่มีความเค็มสูง ไม่สามารถดึงน้ำขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ จึงเหลือเป้าหมายขุดเจาะบ่อบาดาลเพียง 40 หมู่บ้านเท่านั้น  

นอกจากนี้ คณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) เขื่อนลำตะคอง ได้รายงานว่า จะขอลดการระบายน้ำลงจากปกติ 3 - 5 มิลลิเมตร/วินาที จะเหลือ 2 มิลลิเมตร/วินาที ทำให้ไม่มีน้ำเพียงพอต่อการปลูกพืชที่ใช้น้ำมาก เกษตรกรจึงต้องหันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทน เพื่อเก็บสำรองน้ำในอ่างเก็บน้ำไว้ให้มากที่สุด จนกว่าจะมีน้ำเข้ามาเติมในช่วงฤดูฝน ซึ่งการจ่ายน้ำจะสงวนไว้เพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ทุกคนจะต้องใช้น้ำอย่างประหยัด  

"ตอนนี้การประปาเทศบาลนครนครราชสีมายังไม่มีปัญหา แต่มีการประปาส่วนภูมิภาค สาขาโนนสูง, การประปาส่วนภูมิภาค สาขาด่านขุนทด และการประปาส่วนภูมิภาค สาขาพิมาย ที่คาดว่าจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปา ซึ่งทางจังหวัดฯ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งแก้ปัญหา เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคไปตลอดฤดูแล้งนี้ให้ได้" นายวิเชียร กล่าว

กาฬสินธุ์เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนลำปาวเร็วกว่ากำหนด-รับฤดูนาปรัง

เนื่องจากเกษตรกรหลายพื้นที่ซึ่งอยู่ในเขตชลประทานเขื่อนลำปาวต่างพากันเร่งไถกลบตอซังข้าวปรับพื้นที่นา เพื่อเตรียมรองรับน้ำในการทำนาปรัง หลังผ่านพ้นฤดูนาปี และเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จ ทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว หรือ เขื่อนลำปาว ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนลำปาว หรือ JMC จึงกำหนดวันส่งน้ำฤดูแล้ง 2562/2563 ทั้งคลองฝั่งซ้าย และขวา ให้เร็วขึ้น เป็นวันที่ 9 ธันวาคม 2562 ไปจนถึงประมาณวันที่ 15 เมษายน 2563 เพื่อสนับสนุนน้ำให้กับเกษตรกรได้ทำนาปรับและการประมง

กาฬสินธุ์-เขื่อนลำปาว-น้ำ-แล้ง-นาปรัง-ดิน-ชาวนา
  • เขื่อนลำปาวประกาศเริ่มส่งน้ำช่วยเกษตรกรฤดูแล้ง คาดว่ามีพื้นที่การเกษตรเต็มพื้นที่ 2.5 แสนไร่

นายฤาชัย จำปานิล ผู้อำนวยการ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว กล่าวว่า ปัจจุบันเขื่อนลำปาวมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 1,538 ล้านลูกบาศก์เมตร จากระดับน้ำกักเก็บ 1,980 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ คิดเป็นร้อยละ 77 และตามมติที่ประชุม JMC เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งมีนายชัยธวัช เนียมศิริ ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธาน และมีทุกภาคส่วนเข้าร่วม มีมติร่วมกันในการเปิดประตูระบายน้ำ โดยกำหนดวันส่งน้ำฤดูแล้ง 2562/2563 ทั้งคลองฝั่งซ้าย และขวา ให้เร็วขึ้นเป็นในวันที่ 9 ธันวาคม 2562 ไปจนถึงประมาณวันที่ 15 เมษายน 2563 เพื่อให้เกษตรกร และประชาชนผู้ใช้น้ำสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างทั่วถึง

สำหรับการบริหารจัดการน้ำจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกจะส่งน้ำให้กับพื้นที่ในเขตชลประทานเขื่อนลำปาว คาดว่าจะมีประชาชนทำการเกษตรเต็มพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นการปลูกข้าวนาปรังประมาณ 250,000 -260,000 ไร่ ซึ่งได้เตรียมน้ำไว้ 511 ล้านลูกบาศก์เมตร ตลอดฤดูกาล และปัจจุบันยังส่งน้ำนอนคลอง เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งได้ใช้น้ำ 

กาฬสินธุ์-เขื่อนลำปาว-น้ำ-แล้ง
  • เขื่อนลำปาวเป็นเขื่อนเดียวในกลุ่มลุ่มน้ำชีที่มีน้ำเพียงพอส่งน้ำช่วยพื้นที่ลุ่มน้ำชีอีกหลายจังหวัด

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้เขื่อนลำปาวเป็นเขื่อนเดียวในกลุ่มลุ่มน้ำชีที่มีน้ำเพียงพอ ดังนั้นจึงเตรียมที่จะส่งน้ำลงแม่น้ำปาวลงสู่แม่น้ำชีจำนวน 235 ล้านลูกบากศ์เมตร เพื่อช่วยเหลือสนับสนุนพื้นที่ลุ่มน้ำชีให้กับเกษตรกร รักษาระบบนิเวศ และใช้ในการอุปโภค บริโภคในช่วงหน้าแล้งทั้ง จ.ร้อยเอ็ด จ.มหาสารคาม จ.ยโสธร แต่ก็ขอความร่วมมือเกษตรกร ประชาชน รู้จักแบ่งปันน้ำ รักษาความสะอาดคูคลอง ใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่ามากที่สุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :