ไม่พบผลการค้นหา
วิบากกรรมของคนจน เมื่อปัญหายังโถมเข้ามาจาก 'โครงการพัฒนาของภาครัฐ' ซึ่งมีแนวคิดการบริหารจัดการผ่านศูนย์กลางอำนาจ โดยไม่มีการเหลียวแลและรับฟังเสียงของคนที่ได้รับผลกระทบ ในบริเวณเขื่อนราษีไศล-เขื่อนปากมูล 2 พื้นที่รับน้ำที่เป็นชนวนความขัดแย้งและความทุกข์ยาก นานนับ 30 ปี

"มันคือระบบการจัดการน้ำแบบสนุกสนาน" คำนิยามของ อุบล อยู่หว้า ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน เป็นคำที่สะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำเชิงอำนาจ ที่ผูกขาดจากภาครัฐ เขาเล่าต่อว่ากว่า 20 ปีที่ผ่านมา ความทุกข์ร้อนของชาวบ้านในพื้นที่รอบแนวเขื่อนราษีไศล จ.ศรีสะเกศ ยังต้องแบกรับโดยเฉพาะประเด็นปัญหา 'น้ำท่วม' ภาครัฐเองก็ไม่เคยมารับฟัง 


สมัชชาคนจน เขื่อนราษีไศล_๑๙๐๙๑๐_0008.jpg

(อุบล อยู่หว้า ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน)

แม้ว่าจะมีการออกไปประท้วงแทบทุกรัฐบาล อำนาจที่พวกเขาต้องการก็กลายเป็นสูญเปล่า ครั้นพอยุบสภารัฐบาลเปลี่ยนข้อเรียกร้องเหล่านั้นก็หยุดชะงัก ตั้งแต่ปี 2530 ที่เขาร่วมต่อสู้ในพื้นที่มาเขาพูดเสนอมาว่ามันคือการจัดการบนความสนุกสนาน

ตราบใดที่ยังไม่สมปรารถนาเขาได้ปลุกให้ชาวบ้านจงเดินหน้าสู้เพื่อตัวตนและทลายอำนาจเชิงโครงสร้างที่มันกดทับอยู่

1

แววตาที่ซ่อนความหดหู่ของ 'อำพัน จันทะศร' หรือ พี่ศรี ภาคประชาชนสมัชชาคนจนเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา ได้บอกเล่าผ่านสายตาพร้อมชี้ให้เห็นผืนนาที่เป็นความทุกข์อันซ้ำซากที่เธอต้องเผชิญ 

แทบทุกปีน้ำที่ไหลมาเอ่อล้นจนท่วมขังเป็นบริเวณกว้างไร่นานับพันไร่จมอยู่ใต้น้ำ ข้าวที่รอวันเก็บเกี่ยวก็กลายเป็น 'ข้าวหัวฟู' ที่ล้มระเนระนาดคล้ายความหวังของชาวบ้านได้ล้มลงพร้อมเรี่ยวแรงที่หมดไปต่อหน้า


สมัชชาคนจน เขื่อนราษีไศล 190907_0016.jpg

( อำพัน จันทะศร ภาคประชาชนสมัชชาคนจนเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา)

"พวกเราไม่เคยได้รับการเยียวยา มีเพียงภาระที่เราต้องร่วมกันแก้ปัญหาเอง" หนังสือไม่รู้กี่สิบกี่ร้อยฉบับที่พวกเขายื่นถึงจังหวัด เรียกร้องให้เยียวยาและเร่งพร่องน้ำเนื่องด้วยพื้นที่แห่งนี้เป็นที่ไหลบรรจบของปริมาณน้ำจาก 'แม่น้ำมูล-ห้วยเสียว'

มีเพียงคำตอบที่มาเป็นแบบฉบับของหน่วยงานข้าราชการ นั่นคือ "กำลังอยู่ระหว่างประสานงานกับทางส่วนกลาง" แน่แหละว่ามันจะวนเวียนหายไป มีเพียงร่องรอยความเดือดร้อนของชาวบ้านที่สูญสิ้นเงินทุนไปกับการทำนาบนผืนน้ำ 

2

"คนแก่ตายกันไปเยอะแล้ว รับฟังเสียงคนจนบ้าง" ประดิษฐ์ โกศล หรือ ลุงดิษฐ์ อีกหนึ่งแนวร่วมในพื้นที่ กล่าวกลางวงล้อมของชาวบ้าน ที่ต่างส่งเสียงเห็นสนับสนุน เนื่องด้วยการต่อสู้ที่ยืดเยื้อร่วม 27 ปี ที่ก่อเกิดเขื่อนมาปัญหาที่เกิดขึ้นมันก็ไม่มีวี่แววว่าจะจบลง เมื่อเสียงของพวกเขานั้นเป็นเพียงคำถามที่ไร้คำตอบ 

การโจมตีคนในพื้นที่เมื่อแก้ปัญหาไม่ได้ ตามมาด้วยข้อครหา 'คนราษีไศลบริโภค' ยิ่งตอกย้ำความไม่เข้าใจจากคนภายนอก แต่ข้อเท็จจริงนั้นมันคือความเดือดร้อนที่ได้รับกระทบจากการสร้างเขื่อน

ไม่ใช่ว่าพวกเขาต้องการเพียงแค่ 'เงิน' แต่เป้าหมายหลักคือการเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญร่วมกันทั้งจากภาครัฐและชาวบ้าน เพื่อมอบอำนาจในการจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นเพื่อรักษาวิถีชีวิตการดำรงอยู่


สมัชชาคนจน เวทีเขื่อนปากมูล_๑๙๐๙๑๐_0007.jpg

3

การต่อสู้ระหว่างชาวบ้านและรัฐนั้น ต่างเกิดขึ้นแทบทุกพื้นที่ของประเทศไทย เช่นเดียวกับ 'เขื่อนปากมูล' อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี 30 ปี นับตั้งแต่ปี 2537 ได้เกิดข้อพิพาทจนเห็นตามรายงานข่าวจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบยังคงรวมกลุ่มกันอย่างน้อย 55 หมู่บ้านที่ได้รับความเดือดร้อน ไม่เพียงแต่กับภาครัฐเท่านั้น แต่ยังส่งชนวนไปยังชาวบ้านที่อยู่หัวเขื่อนและท้ายเขื่อน

เมื่อความชัดเจนยังไม่เกิดขึ้น ก็ได้ก่อเกิด 2 ก๊ก อีกฝ่ายคือผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อน ฟากหนึ่งคือผู้ถือหางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. 


แม่สมปอง-สมัชชาคนจน เวทีเขื่อนปากมูล_๑๙๐๙๐๘_0019_0.jpg

(แม่สมปอง เวียงจันทร์ แกนนำเคลื่อนไหวแห่งลุ่มน้ำมูล)

"แม่สมปอง เวียงจันทร์" หนึ่งในนักต่อสู้แห่งลุ่มน้ำมูล ได้เล่าว่า ที่ผ่านมาไม่ว่าจะรัฐบาลเลือกตั้งหริอมาจากการรัฐประหาร ปัญหาที่เกิดขึ้นก็ยังเรื้อรังไร้ทางออก แม้ว่าจะมีความชัดเจนพอเห็นแสงสว่างพอบรรเทาทุกข์อยู่บ้างคือแผนฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบตามมติ ครม. วันที่ 29 เม.ย. 2540 ให้ชดเชยที่ดินแก่ครอบครัวละ 15 ไร่ แต่แล้วก็ไม่เป็นผลเมื่อหลายรัฐบาลก็ไม่นำมติดังกล่าวมาสานต่อ

อีกทั้งข้อเสนอให้เปิดเขื่อนโดยถาวร เปิดทางชุมชนได้ทำมาหากินซึ่งส่วนใหญ่ 80 % ยึดอาชีพประมงเป็นหลัก เพื่อความเท่าเทียมกันทั้งสองฝั่ง ก็ไม่ได้รับการตอบสนองทำให้ในพื้นที่ก็ยังมีความตรึงเครียดไม่ต่างจาก 30 ปีที่ผ่านมา 

กาลเวลาของปัญหายังคงเคลื่อนไป รอยร้าวของคนในชุมชนก็ไม่ได้การประสาน แต่พวกเขาก็ยังไม่ได้รับทางออกจากหน่วยงานใด แม้ว่าผลัดเปลี่ยนมาหลายรัฐบาลไม่ว่าจากสีใดพวกเขาก็ยังตกเป็นผู้เดือดร้อนที่ถูกอีกฝ่ายต่างสวมสีเสื้อให้ หนำซ้ำยังถูกนำตัวเข้าค่ายทหารปรับทัศนคติ แม้ว่าจะชุมนุมประท้วงกันด้วยสันติ

แต่ก็ไม่สามารถทลายความฝันที่พวกเขาไม่อยากให้ 'มรดกความขัดแย้ง' ส่งต่อลูกหลานไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ 'เขื่อนปากมูล-เขื่อนราษีไศล' การต่อสู้นานนับ 30 ปี ก็คงเป็นถือเป็นบทเรียนที่สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในการผูกขาดศูนย์กลางอำนาจจากคนไม่กี่คน


อ่านเพิ่มเติม


พิชิตศักดิ์ แก่นนาคำ
ผู้สื่อข่าว Voice Online
91Article
1Video
0Blog