ไม่พบผลการค้นหา
'กิตติศักดิ์ ปรกติ' ปาฐกถา 'นิติรัฐ - นิติธรรมในระบอบประชาธิปไตย' ชี้หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น พร้อมย้ำประชาธิปไตยของประเทศไทยไม่เหมือนประเทศอื่นในโลก

รศ.กิตติศักดิ์ ปรกติ จากศูนย์นิติศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปาฐกถา 14 ตุลา ประจำปี 2562 ในหัวข้อ "นิติรัฐและนิติธรรม ในระบอบประชาธิปไตย" โดยเทียบเคียงพัฒนาการของรัฐธรรมนูญไทย กับพัฒนาการ Rule of law หรือหลักปกครองด้วยกฎหมายเป็นใหญ่ของชาติตะวันตกโดยเฉพาะอังกฤษ ซึ่งเกิดจากการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายขุนนางหรือรัฐสภากับฝ่ายกษัตริย์ จนเกิดเป็นหลักที่ยอมรับโดยทั่วไป คือ

1. ทุกคนเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย

2. ตุลาการเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยว่ากฎหมายไม่ใช่พระมหากษัตริย์ ซึ่งนำสู่หลักการแบ่งแยกอำนาจการปกครอง

3. หลักกฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง ตามคำว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการกระทำการตามที่กฎหมายไม่ได้ห้ามไว้

4. ดุลพินิจของผู้ปกครองย่อมมีได้เท่าที่กฎหมายได้รับรองไว้ 

และเมื่อรัฐสภาอังกฤษช่วง ศตวรรษที่ 17 มีอำนาจมากจนกลายเป็นเผด็จการรัฐสภา นำสู่การต่อต้านของอาณานิคมในอเมริกาและประกาศเอกราชในที่สุด พร้อมปกครองภายใต้หลักการใหม่ คือ "หลักอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน" มาแทนที่ "หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของผู้แทนปวงชน" มีการจำกัดเสียงข้างมากไว้ในรัฐธรรมนูญและคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งมาจากเจตจำนงที่ไม่ต้องการให้ผู้ใดมีอำนาจเด็ดขาด จึงกลายเป็น "หลักการแบ่งแยกอำนาจ"

รศ.กิตติศักดิ์ ยืนยันว่า คติที่กล่าวมาไม่ได้มีแต่ในชาติตะวันตกเท่านั้น ในประเทศไทยก็มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ถือว่าพระมหากษัตริย์ มีอำนาจจากการยินยอมพร้อมใจของประชาชน ทรงเป็นผู้แสดงออกซึ่งกฎหมายว่าใช้จริงและมีอยู่อย่างไรตามหลักธรรม โดยเฉพาะ "การป้องกันมิให้อธรรมหรือความผิดชั่วร้ายเกิดขึ้นในบ้านเมือง" ปรากฏให้เห็นตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงยุคสุโขทัยในศิลาจารึก ที่พระมหากษัตริย์ มีทั้ง "ราชทัณฑ์และราชธรรม" โดยการจะใช้อำนาจอย่างไรก็ตาม จะถูกตรึงไว้ด้วยคำสอนในทางพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น จึงไม่ได้ทำอะไรตามใจชอบ แต่เป็นอำนาจที่มีขึ้นได้ด้วยความมีเหตุผล ตามกาละเทศะ เป็นที่รับรู้ เข้าใจและรับรองโดยทั่วไปเท่านั้น

ขณะที่รัฐธรรมนูญไทยนับแต่ฉบับชั่วคราวปี 2475 กำหนดให้อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศของราษฎรหรือประชาชน และพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนั้นผ่าน รัฐสภา, คณะรัฐมนตรีและศาล ซึ่งแตกต่างจากรัฐซึ่งรัฐธรรมนูญของประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ ในโลก ที่ไม่ได้ระบุไว้ เนื่องจากเป็น "ประชาธิปไตยแบบไทยๆ" โดยข้อสังเกตสำคัญที่ไทยไม่บัญญัติอำนาจเป็นของปวงชนและปวงชนใช้อำนาจ แต่บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจตามกฎหมาย เพราะพระมหากษัตริย์มีฐานะเป็นผู้แทนปวงชน ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่เป็นผู้แทนตามประเพณีการปกครอง หรือ "อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ"

รศ.กิตติศักดิ์ ยังยกตัวอย่างเมื่อมีการรัฐประหาร ที่ต้องมีการนิรโทษกรรม และขอพระบรมราชโองการในการออกรัฐธรรมนูญและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ เปรียบเสมือนยอมรับว่าได้กระทำในสิ่งที่ผิด แต่ทำด้วยความจำเป็นซึ่ง "หลักความจำเป็น" ถือเป็นมารดาแห่งกฎหมายทั้งหลาย ถ้าเพื่อป้องกันภยันตรายและโดยสมควรแก่เหตุ และคณะรัฐประหารทำไปโดยอ้างเป็นตัวแทนของประชาชน จึงต้องขอความเห็นชอบจากผู้แทนปวงชน คือพระมหากษัตริย์ ถ้าพระมหากษัตริย์ทรงไม่เห็นชอบ การรัฐประหารก็ล้มเหลว ซึ่งในอดีตมีการไม่ทรงเห็นชอบ ด้วยการไม่ประทับอยู่ กทม. ซึ่งตีความได้ว่าเป็นการแสดงพระบรมราชวินิจฉัย แล้วว่าไม่มีเหตุอันควร

รศ.กิตติศักดิ์ กล่าวต่อด้วยว่า สถานะของพระราชอำนาจ เมื่อเผชิญวิกฤตนั้นเห็นได้ชัดในเหตุการณ์ 14 ตุลา คือเมื่อมีเหตุจำเป็น ก็มีนายกฯ พระราชทาน ซึ่งพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในระบอบประชาธิปไตย เป็นผู้ที่มีพระราชอำนาจและพระราชทานตามจารีตประเพณีที่จะต้องรักษาไว้ซึ่งราชธรรม และหลัง 14 ตุลา 2516 สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การแบ่งแยกอำนาจทางการเมือง, ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น พร้อมยืนยันว่า "อธรรมทางการเมือง" ค่อยๆ น้อยลง แม้การใช้อำนาจตามอำเภอใจยังมีอยู่แต่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ 14 ตุลาเป็นต้นมา ซึ่งต้องพัฒนาหลักการแบ่งแยกอำนาจ ควบคุมการใช้อำนาจโดยประชาชน รวมถึงการคานอำนาจทางเศรษฐกิจและพัฒนาองค์กรการรวมกลุ่มของประชาชน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง