ไม่พบผลการค้นหา
ถ้าให้สงครามการค้าในปัจจุบันเป็นเกมหนึ่งเกม การจะวิเคราะห์ผู้ชนะของเกมนี้ก็อาจจะต้องไปมองกันว่า ‘บอสใหญ่’ แต่ละฝั่งงัดหมากตัวไหนบนกระดานมาสู้กัน

เกมการค้าที่เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการช่วงเดือนกรกฏาคม 2561 หลังจีนหยุดซื้อถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน ซึ่ง ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ก็ดูเหมือนจะไม่สะทกสะท้านท่าทีจากจีน และยังนิยมชมชอบการใช้กลยุทธ์ปรับขึ้นอัตราภาษีสินค้านำเข้าพอๆ กับการทวีตความในใจผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว

ล่าสุดทรัมป์ทวีต 4 ข้อความต่อกัน อ้างว่า จีนไม่ยอมทำตามข้อตกลงเรื่องการซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ และเพราะเหตุนั้น ‘หมากตัวแรก’ อย่างการปรับขึ้นภาษีนำเข้าจึงถูกนำมาใช้อีกครั้ง โดยครั้งนี้ เป็นการขึ้นภาษีร้อยละ 10 กับสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 3 แสนล้านบาท 

‘หมากตัวที่สอง’ ที่ 'มนุษย์ทรัมป์' เลือกใช้ เพื่อจัดการกับผลประโยชน์ที่ไม่ลงรอย คือ การยกระดับสงครามการค้าไปเป็นสงครามเทคโนโลยี เนื่องจากนวัตกรรมถูกนำมาเป็นเงื่อนไข ข้อต่อรอง และการโจมตีอย่างชัดเจน

ถ้าจะกล่าวว่าสหรัฐฯ มีความพยายามอย่างยิ่งยวดในการกำจัดการขยายอำนาจของ ‘หัวเว่ย’ หนึ่งในบริษัทโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในโลกสัญชาติจีน ก็คงไม่ผิดมากนัก เพราะสหรัฐฯ ทั้งขึ้นบัญชีดำ ล็อบบี้ประเทศพันธมิตรไม่ให้ใช้สินค้าจากหัวเว่ยโดยอ้างความไม่ปลอดภัยในการสอดแนมของรัฐบาลจีน ทั้งยังมีการจับกุม 'เมิ่งหว่านโจว' หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (CFO) และรองประธานของบริษัทหัวเว่ย ช่วงเดือนธันวาคม 2561

‘ส่วนหมากตัวที่สาม’ ที่อยากจะกล่าวถึงเป็นพิเศษ คือ ความสามารถในการสร้างกระแสและความสับสนผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ตั้งแต่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ทรัมป์สร้างเทรนด์ให้ข้อความในทวิตเตอร์ของตัวเองกลายเป็นสิ่งที่ผู้คนต้องให้ความสำคัญมากเท่าๆ กับคำแถลงอย่างเป็นทางการของทำเนียบขาว หรือเอาเข้าจริงก็อาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ นี่ยังไม่นับความสามารถในการออกมาวิจารณ์และชมคู่กรณีไปพร้อมๆ กันภายในข้อความจำนวน 280 ตัวอักษร

ด้าน ‘บอสใหญ่’ ฝั่งเอเชีย ผู้สงวนทั้งท่าทีและวาจา ก็มี ‘หมาก’ ตุนในกระเป๋าไว้ตอบโต้สหรัฐฯ ไม่น้อยเช่นกัน โดย ‘หมากตัวหลัก’ ของ ‘สี จิ้นผิง’ ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ดูจะออกไปทางตาต่อตาฟันต่อฟัน “คุณขึ้นภาษีมาฉันขึ้นภาษีกลับ” ซึ่งนับจนถึงปัจจุบัน จีนก็ขึ้นภาษีกับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ไปแล้ว มูลค่ากว่า 3.3 ล้านล้านบาท

ลูกเล่นที่จีนนำมาใช้หลังทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีครั้งล่าสุด หรือ ‘หมากตัวต่อมา’ คือ การปล่อยค่าเงินหยวนลอยตัวอ่อนสุดในรอบกว่า 10 ปี แม้ทางธนาคารกลางของจีนจะออกมาปฏิเสธว่าการอ่อนค่าของเงินหยวนเป็นเพียงความผันผวนระยะสั้นและจีนไม่มีแนวคิดนำค่าเงินมาใช้เป็นเครื่องมือทางการค้า แต่ก็คงจะเป็นเรื่องยากที่จะห้ามไม่ให้ถูกมองว่าจีนใช้ค่าเงินเป็นเครื่องมือประคองการส่งออกอยู่ดี

ในเวลาไล่เลี่ยกัน สี จิ้นผิง ยังเลือกปฏิเสธการซื้อถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ อีกครั้งเหมือนในครั้งแรกที่เป็นชนวนแห่งมหากาพย์สงครามการค้าครั้งนี้ เพื่อตอกย้ำว่า หากสหรัฐฯไม่พร้อมจะเจรจากันดีๆ จีนก็พร้อมขนทุกรูปแบบการตอบโต้มาใช้ ซึ่งอาจเรียกมาตรการครั้งนี้ว่าเป็น ‘หมากมังกร’ ที่ออกมาตอกย้ำศักดิ์ศรีทางการค้าของมหาอำนาจแห่งบูรพา

ส่วนถ้าจะมีหมากไหนที่ บอสทั้ง 2 ดูไม่ค่อยจะใช้ให้เป็นประโยชน์มากนัก ก็คงหนีไม่พ้น ‘หมากการเจรจา’ ที่ไม่ว่าจะมีการเจรจากี่ครั้ง ซึ่งทำท่าดูเหมือนจะดี ประชาคมโลกก็จะต้องผิดหวังอยู่ร่ำไป เพราะไม่นานหลังจากนั้นก็จะต้องมีทวีตข้อความไม่พอใจอะไรสักอย่างออกมาจากทรัมป์อยู่ดี 

จะให้เดาว่าบอสฝั่งไหนจะเป็นผู้ชนะ หรือ ‘หมากพิเศษ’ ที่ซ่อนไว้ไล่บี้อีกฝ่ายจนสามารถรุกจนคือสิ่งใด คงเป็นเรื่องยากเกินไปที่จะตอบ แต่การที่เกมเดนหน้าไปเรื่อยๆ ก็ทำให้เดาการเดินหมากตัวต่อไปของทั้ง 2 ฝ่าย ได้ไม่ยาก เพราะทุกเกมหมากรุกมีหมากให้เดินอย่างจำกัดและหมากที่เดินไปแล้วก็ย้อนกลับได้ยาก