ไม่พบผลการค้นหา
หลังเข้าสู่กระบวนการแยกตัวอย่างเป็นทางการออกจาก EU นี่คือ 5 เรื่องสำคัญที่สหราชอาณาจักรต้องเร่งทำเพื่อความอยู่รอดของทุกคนในประเทศ

สหราชอาณาจักรเริ่มเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่านเพื่อแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป หรือ 'เบร็กซิต' แล้วอย่างเป็นทางการเมื่อเวลา 23.00 น. ของวันที่ 31 ม.ค. ที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น ท่ามกลางความกังวลของทุกภาคส่วนถึงผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้น เพราะสหราชอาณาจักรมีเวลาเพียงไม่ถึง 1 ปีเท่านั้นในการบรรลุข้อตกลงทุกอย่างก่อนเบร็กซิตจะเริ่มมีผลจริงสิ้นปีนี้ ซึ่ง สำนักข่าว BBC สรุป 5 เรื่องสำคัญที่รัฐบาลอังกฤษต้องเร่งจัดการ ประกอบไปด้วย

1. ข้อตกลงทางการค้าใหม่กับสหภาพยุโรป

การที่กระบวนการเบร็กซิตได้เริ่มต้นขึ้นอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว หมายความว่าขณะนี้อังกฤษจะสามารถเริ่มเจรจาข้อตกลงทางการค้ากับสหภาพยุโรปได้อย่างเป็นทางการ โดยรัฐบาลของอังกฤษจะต้องเร่งการเจรจาให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุดเพราะมีเส้นตายคือภายในปี 2020 นี้ และจากการคาดการณ์พบว่าการเจรจาจะเริ่มต้นขึ้นครั้งแรกได้อย่างเร็วที่สุดคือช่วงสิ้นเดือน ก.พ. ภายหลังจากที่ได้รับการยินยอมในกติการการเจรจาใหม่จากทั้ง 27 ประเทศสมาชิก EU

BBC ชี้ว่า การดำเนินการให้ทุกประเทศที่เกี่ยวข้องสามารถลงนามร่วมกันในข้อตกลงฉบับใหม่ได้อาจจะเกิดขึ้นในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งนั่นหมายความว่าในความเป็นจริงแล้วภายในปี 2020 สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นได้ทันตามไทม์ไลน์ก็คือข้อตกลงการค้าใหม่เท่านั้น โดยทุกปัญหาอื่นนอกจากนี้ไม่น่าจะสามารถเกิดขึ้นได้ทันภายในสิ้นปีอย่างแน่นอน

สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลอังกฤษพยายามทำให้สำเร็จคือการผลักดันข้อตกลง 'Zero Tariff, Zero Quota' หรือการไม่เก็นภาษีสินค้าทั้งนำเข้าและส่งออก รวมถึงการไม่จำกัดโควต้าของสินค้าดังกล่าว แต่การจะทำเช่นนั้นรัฐบาลอังกฤษต้องก้าวข้าวปัญหาอีกหลายประการที่ยังเป็นอุปสรรคอยู่ 

ซึ่งนี่ยังไม่รวมถึงอุตสาหกรรมด้าน 'งานบริการ' ที่เป็นงานของผู้คนมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ในสหราชอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการทางการเงิน ธุรกิจ อาหาร เครื่องดื่ม ไปจนถึงด้านความบันเทิง ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องเข้าไปอยู่ในการเจรจาข้อตกลงการค้าฉบับใหม่ด้วย การเจรจาเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อตกลงที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่ายจึงไม่น่าเกิดขึ้นได้ทันตามกำหนด

AFP - ลอนดอน บอริส จอห์นสัน

2. รักษาความปลอดภัยภายในสหราชอาณาจักร

ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการรักษาความปลอดภัยยอมรับว่าสถานการณ์จะยากขึ้นหลังเบร็กซิต เพราะต่อจากนี้ไปอังกฤษจะไม่มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงดำรงตำแหน่งใหญ่ในทีม 'ยูโรโพล' อีกต่อไป ซึ่งถือเป็นทีมเจ้าหน้าที่ตำรวจนานาชาติที่มีความเข้มแข็งอย่างมากในการประสานงานร่วมกันเพื่อสืบสวนคดีใหญ่ข้ามชาติภายในสหภาพยุโรป ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพของการสอดส่องดูแลและตรวจจับผู้ร้ายที่จะใช้ทางช่องแคบอังกฤษ (English Channel) เข้ามาก่อเหตุ

ขณะนี้สิ่งที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจของอังกฤษยังคงสามารถทำได้อยู่คือการใช้ระบบตรวจสอบข้อมูลอาชญากรต่างชาติของทาง EU และสามารถแจ้งเตือนได้หากมีการประกาศหาตัวอาชญากร แต่ในประเด็นของการเข้าถึงข้อมูลภายในนั้นอาจจะกลายเป็นเรื่องที่ยากลำบากขึ้น หรืออาจไม่สามารถเข้าถึงได้อีกต่อไปก็เป็นไปได้เช่นกัน ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายของแต่ละประเทศสมาชิกของ EU ว่าด้วยเรื่องความปลอดภัยของการแบ่งปันข้อมูล

นอกจากนี้ รัฐบาลอังกฤษได้พยายามวางแผนในการผ่านร่างกฎหมายให้การส่งหมายจับ European Arrest Warrant ยังคงสามารถทำได้ต่อไป เพื่อเอื้อต่อการส่งผู้ต้องสงสัยข้ามแดนในการขึ้นศาลที่ประเทศอื่น แต่ก็ยังเป็นที่สงสัยอยู่ว่าความตั้งใจนี้สามารถทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และหากทำได้จะสามารถบังคับใช้ได้ทันภายในเดือน ม.ค.2021 หรือไม่

3. การันตีว่าชาวอังกฤษจะยังมีอาหารเพียงพอ

อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม การทำฟาร์ม เลี้ยงสัตว์ และค้าปลีก คือสิ่งที่สร้างรายได้ให้กับระบบเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรปีละกว่า 460,000 ล้านปอนด์ หรือราว 18.9 ล้านล้านบาท และสร้างงานให้กับประชาชนกว่า 4 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของอุตสาหกรรมทั้งหมด และเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดของการสร้างรายได้ นี่จึงเป็นที่มาของความหวั่นใจว่าหลังกระบวนการเปลี่ยนผ่านจบสิ้นลง สถานการณ์อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่กำลังเติบโตนี้จะมีชะตากรรมอย่างไร

ปัจจุบัน 1 ใน 3 ของผู้คนในอุตสาหกรรมนี้เป็นคนทำงานที่เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศทั้งสิ้น โดยส่วนใหญ่มาจากกลุ่มประเทศทางตะวันออกของยุโรป คำถามสำคัญที่ทุกคนสงสัยคือ จะเกิดอะไรขึ้นหากแรงงานเหล่านี้ไม่สามารถเข้ามาทำงานได้อย่างที่เป็นมา เพราะมาตรฐานการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับแรงงานข้ามชาติที่กำลังจะเปลี่ยนไป 

ประเด็นการส่งสินค้า มาตรการใหม่หลังเบร็กซิตที่อาจจะเกิดขึ้นคือเจ้าหน้าที่อาจต้องเปิดบรรจุภัณฑ์เพื่อตรวจสอบ ณ บริเวณพรมแดน ซึ่งอาจสร้างค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นและลดอายุขัยความสดใหม่ของสินค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

AP-อียู-อังกฤษ-เบรกซิต-เบร็กซิต-เบรกซิท-Brexit

4. สร้างบทบาทใหม่ในเวทีโลก

ความท้าทายอันใหญ่หลวงของรัฐบาลอักฤษคือการสร้างบทบาทใหม่ที่ชัดเจนในเวทีโลกหลังเป็นอิสระโดยสิ้นเชิงจาก EU โดยรัฐมนตรีทุกกระทรวงต้องอธิบายให้ได้ว่า การทำงานตามสโลแกน 'Global Britain' หมายความว่าอย่างไรกันแน่ในความเป็นจริง พร้อมทั้งต้องเร่งพัฒนานโยบายการพึ่งพานานาชาติที่สามารถพึ่งตัวเองได้มากกว่าที่เป็นอยู่ 

ไม่ว่าจะเป็นการลดนโยบายด้านการสนับสนุนสหรัฐฯของสหราชอาณาจักรลง เพื่อให้ความสำคัญกับประเด็นภายในประเทศให้มากขึ้น ลดความสัมพันธ์กับนานาชาติลง ไปจนถึงการเชื่อมสัมพันธ์กับประเทศพันธมิตรของ EU โดยไม่ผ่าน EU โดยตรงอีกต่อไป เช่นความสัมพันธ์แบบ E3 ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของสหราชอาณาจักร เยอรมนี และฝรั่งเศส ที่สร้างขึ้นมาเพื่อทำงานร่วมกันอย่างเช่นภารกิจการจัดการความสัมพันธ์กับอิหร่าน

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่น่ากังวลที่สุดคือการรับมือกับมหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐฯ และจีน โดยไม่มีการปกป้องหรือสนับสนุนจากประเทศสมาชิก EU อีกต่อไป 

5. แสดงให้ประชาชนเห็นว่าการถกเถียงทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้น 'คุ้มค่า'

นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนปัจจุบันจะต้องทำให้ประชาชนเห็นว่าความวุ่นวานและความเสียหายทางเศรษฐกิจ การถกเถียงในสังคม และความไม่มั่นคงในหลายมิติที่เกิดขึ้นหลายปีที่ผ่านมาอันเกิดจาก 'เบร็กซิต' นั่นคือสิ่งที่คุ้มค่า 

สิ่งหนึ่งที่ผู้สนับสนุนเบร็กซิตต้องการมาโดยตลอดก็คือการรวบอำนาจต่างๆ กลับมาอยู่ในมือของสหราชอาณาจักรอีกครั้ง ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องงานอย่างแน่นอน และแม้ว่าคืนวันศุกร์ที่ผ่านมาหลายคนอาจจะเฉลิมฉลองการแยกตัวออกจาก EU ของอังกฤษไปแล้ว แต่ขณะนี้หลายสิ่งหลายอย่างยังคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก

อีกทั้งประชาชนในอังกฤษจำนวนไม่น้อยเห็นว่าการออกจาก EU คือการกระทำที่โง่เขลาและผิดพลาด และความกังวลว่าข้อตกลงทางการค้าอาจจะไม่แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ก็ยิ่งสร้างความไม่สงบภายในใจให้กับผู้คนอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นรัฐบาลของนายจอห์นสันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะแสดงให้ทุกคนเห็นว่า เบร็กซิตคือสิ่งที่คุ้มค้ากับทุกอย่างที่สหราชอาณาจักรต้องแลกไป