ไม่พบผลการค้นหา
เกษียร เตชะพีระ - ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ และลูกศิษย์ ร่วมวงเสวนาพูดถึงมุมมองความคิดจาก 'ชัยวัฒน์ สถาอานันท์' ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญในเรื่อง สันติวิธี ความรุนแรง และการไม่ใช้ความรุนแรง เกษียร รับหลังออกจากป่าชัยวัฒน์สอนให้รู้จักการอยู่กับสิ่งที่ไม่เห็นด้วย ชลิดาภรณ์ เผยการตั้งคำถามของชัยวัฒน์ คือที่มาของ 'ทวิตรัก'

19 ส.ค. ที่ห้อง ศ.ทวี แรงขำ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการจัดงานเสวนาวิชาการเนื่องในโอกาสเปิดตัวหนังสือเกษียณอายุราชการ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยในช่วงแรกเป็นการเสวนาในหัวข้อ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์: มุมมองจากศิษย์ มีวิทยากรที่ร่วมพูดคุยในวงนี้ ได้แก่ ศ.เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ น.ส.จุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม ผศ.ดร.เกษม เพ็ญภินันท์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ

  • 'เกษียร' เผยอดีตเคยรู้สึก แต่วันนี้เข้าใจ 'ชัยวัฒน์'

ศ.เกษียร กล่าวในฐานะลูกศิษย์ว่า ศ.ดร.ชัยวัฒน์ เป็นผู้ที่สอนสิ่งที่อยากที่สุด คือสอนให้เรียนรู้ในสิ่งที่ไม่เห็นด้วย ศ.เกษียรกล่าวว่า นี่คือสิ่งสะท้อนออกมาในงานที่เขียนถึง ศ.ดร.ชัยวัฒน์ ว่า

"โดยที่กว่าโลกจะรู้ตัว ว่า ทำเช่นนั้นอยู่ ก็สายไปเสียแล้ว นี่ไม่ใช่เรื่องง่าย แล้วก็ไม่แน่ว่าจะประสบความสำเร็จ หลักการที่ชัยวัฒน์ดื้อทำ ก็เพราะความเชื่อที่เหลือเชื่อของเขา 3 ประการ หนึ่ง โดยพื้นฐานแล้ว ธรรมชาติของคนเรานั้นดี สอง แต่ที่คนเราทำไม่ดีก็เพราะไม่รู้ สาม ฉะนั้นปัญหาทางจริยธรรมพูดให้ถึงที่สุดเป็นปัญหาเรื่องญาณวิทยา นี่เป็นความเชื่อที่เชื่อได้ยากมาก แต่ถ้ามันเป็นความเชื่อที่ง่าย คนอย่างชัยวัฒน์คงไม่เชื่อ และโลกของเราก็คงไม่เป็นเช่นนี้...ผมว่าผมเขียนดีวะ (หัวเราะ)" ศ.เกษียณ กล่าว

ศ.เกษียร กล่าวว่า ในหลายๆ ครั้งที่ได้เรียนรู้ ศ.ชัยวัฒน์มีอิทธิพลให้กลับไปย้อนคิดในสิ่งที่ไม่เห็นด้วย 

ศ.เกษียร เล่าว่า เมื่อครั้งที่เขาออกจากป่าแล้วมาเจอกับ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ ที่เพิ่งกลับมาจากฮาวาย แล้วชักชวนให้ไปสอนในคลาสเรียนเรื่อง ความรุนแรง และความไม่รุนแรง สิ่งที่ ศ.ชัยวัฒน์ให้ทำ คือ ให้พูดเรื่องตอนที่เข้าไปอยู่ในป่า ประสบการณ์จากครั้งนั้น ทำให้ ศ.เกษียร ได้คิดว่า ได้เรียนรู้เรื่องสำคัญ 3 อย่าง และเป็นสิ่งที่ตนไม่เคยเห็นด้วยมาก่อน ในฐานะนักปฏิวัติลัทธิเหมามาก่อน

หนึ่ง จิตนิยม (Idealism) ซึ่งตรงข้ามกับลัทธิเหมาที่เชื่อในวัตถุนิยม (Materialism)

สอง การสอนให้มองในสิ่งที่ตรงข้ามแค่เรื่องของชนชั้น

สาม การเมืองเรื่องของความไม่รุนแรง การไม่ใช้ความรุนแรงแรงไม่ใช่ว่าเราเลิกสู้ แต่เราเลือกที่จะสุ้ด้วยความไม่รุนแรง ซึ่งเป็นทางเลือกที่ประหยัดชีวิตมนุษย์มากที่สุด

เกษียร เตชะพีระ

“ตอนที่มีการประกาศชื่อ ส.ว. ที่มีการคัดสรรโดย คสช. และการเลือกนายกฯ อาจารย์ชัยวัฒน์ให้สัมภาษณ์ว่าให้มอง ส.ว. ในแง่ดีว่าเขาก็อยากทำเพื่อประเทศชาติเหมือนกัน ภรรยาผมฟังแล้วก็บอกว่าทำไมอาจารย์ชัยวัฒน์พูดแบบนี้ บอกแกมองอย่างนี้เป็นไปได้ยังไง คือผมเข้าใจภรรยาผมนะ เพราะก่อนหน้านี้ ผมก็เคยรู้สึกกับอาจารย์ชัยวัฒน์อย่างนี้...ทำไมอาจารย์ชัยวัฒน์ถึงมองโลกสวย ถูกวันนี้ลูกศิษย์ของอาจารย์ชัยวัฒน์ก็ยังบ่น แต่วันนี้ปฏิกิริยาผมต่าง วันนี้ผมเข้าใจ และผมรับได้ ผมคิดว่าในโลกนี้มันควรมีคนที่มองแบบนี้อยู่ เพราะโลกเรามันอัปลักษณ์มากพอแล้ว การที่โลกเรามันอัปลักษณ์มากไม่ได้แปลว่าไม่มีความเป็นไปได้ที่มันจะสวย คนที่เขามองโลกสวย เขาไม่ได้บอกว่าโลกที่เรามองเห็นว่ามันอัปลักษณ์มันสวย...เปล่า เขากำลังพูดถึงความเป็นไปได้...ว่าโลกเรามันสวยได้" ศ.เกษียร กล่าว

ศ.เกษียร ยังกล่าวอีกด้วยว่า มรดกที่สำคัญของ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ คือ ความสามารถในการจินตนาการว่า ความเมืองที่ไม่ฆ่ากัน เป็นไปได้ ถึงแม้จะร้อนแค่ไหน...แต่ไม่ฆ่า "แต่ผมไม่แน่ใจว่าโลกเฮงซวยจะมีปัญญารับไหวไหม ผมไม่แน่ใจ"

ชัยวัฒน์เกษียร เตชะพีระ
  • "ขอความสันติสุข จงมีแก่ทุกท่าน" เมื่อศรัทธา ความรัก และการมองคนให้เป็นคน คือ สิ่งที่ 'ชัยวัฒน์' คาดหวัง

"ขอความสันติสุข จงมีแก่ทุกท่าน" คือส่ิงที่ ผศ.ดร.เกษม ในฐานะลูกศิษย์อีกคน กล่าวว่า นี่คือสิ่งที่ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ มักจะพูดถึงก่อนจะเริ่มคลาส

"ผมเห็นด้วยกับ อาจารย์เกษียร อาจารย์ชัยวัฒน์สอนให้มองโลก รักในโลก ที่อยากจะเห็นโลกที่น่าจะเป็น มันสะท้อนออกมาในประเด็นที่อาจารย์โต้ตอบ ซึ่งหลายคนอาจจะสงสัยในสิ่งที่อาจารย์พูด ผมเองก็เคยสงสัย" ผศ.ดร.เกษม กล่่าว

"ผมคิดว่า อาจารย์สอนให้คนรู้จักคำว่า ศรัทธา บนบรรทัดฐานที่ทำให้เราเข้าใจมนุษย์และสังคม" ผศ.ดร.เกษม กล่าว

ผศ.ดร.เกษม กล่าวว่า สันติวิธี และความไม่รุนแรง ซึ่งเป็นสิ่งที่โดดเด่นในงานของอาจารย์ และการสอนคนให้มองคนแบบเป็นคน

ชัยวัฒน์
  • 'ชลิดาภรณ์' เปรียบ 'ชัยวัฒน์' ดั่งพระอาทิตย์ จากคนแตกต่างหลากหลายทางความคิดที่อยู่รอบตัว

เช่นเดียวกับ รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ที่มองว่า ศ.ดร.ชัยวัฒน์ คงเหมือนทุกคนที่พูดถึง ศ.ดร.ชัยวัฒน์ ในมุมมองของ ผศ.ดร.ชลิดาภรณ์ เขาคือบุคคลที่สามารถพูดเรื่องมหัศจรรย์บนโลกนี้ ให้เราได้คิดต่อ

"ศ.ดร.ชัยวัฒน์เปิดหัวเราให้ได้รับรู้ในหลายสิ่งหลายอย่าง เปิดตาเราให้มองเห็นในมุมที่ถ้าเราไม่เจอชัยวัฒน์ เราคงมองไม่เห็น...การมองคนอื่น การมองเห็นคนอื่นในฐานะมนุษย์การรับกับความแตกต่างขัดแย้งได้อย่างไร อาจารย์ทำให้คนอย่างดิฉันโตเป็นอย่างที่เป็นได้” รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ กล่าว 

นอกจากนี้ รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ กล่าวว่า ศ.ดร.ชัยวัฒน์ เป็นคนที่มีเมตตาสูง แล้วความเมตตาและศีลที่สูงนี้เอง ทำให้รอบตัวของ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ มีความร้อนมาก เพราะคนที่อยู่รอบตัวมีเยอะ และมีคนที่นำ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ เป็นศูนย์กลางของชีวิตของผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลาย

ชลิดาภรณ์


"คนที่แวดล้อมที่รักอาจารย์ชัยวัฒน์มีความแตกต่างกันมากในทางความคิด ทฤษฎี งานวิจัย และต่างกันในแง่ของการมองโลก และการเมือง ยิ่งต่างยิ่งร้อนสุดๆ" รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ กล่าว

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ เปรียบเทียบว่าสิ่งนี้เองทำให้ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ เปรียบดั่ง 'พระอาทิตย์' ที่อยู่ใกล้มากไม่ได้

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ เล่าว่า ความสุขที่ได้จาก ศ.ดร.ชัยวัฒน์บางครั้งอยู่ในเรื่องที่เขาถาม ซึ่งจะมีผลอย่างมากในการหาความรู้ ตนจึงชอบเถียงกับ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ และมีอิทธิผล และที่มาของ ‘ทวิตรัก’ ตอบปัญหาเรื่องหัวใจผ่านแฮชแท็ก