ไม่พบผลการค้นหา
พบชิ้นส่วนไดโนเสาร์ 3 สายพันธุ์ อายุกว่า 100 ล้านปี ที่ อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น ทั้งชนิดกินพืชขนาดใหญ่ "ซอโรพอด" คอยาว หางยาว และไดโนเสาร์ กินพืชขนาดเล็ก "ซิตตะโกซอรัส" รวมถึงไดโนเสาร์กินเนื้อ "เทโรพอด" ที่ฟันมีซี่ใหญ่เหมือนใบเลื่อย

วันที่ 23 ก.พ. 2563 ที่วัดสวนป่าสายชล บ้านห้วยหินเกิ้ง ม.11 ต.โพนเพ็ก อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมด้วย น.ส.ศศอร ขันสุภา นักธรณีวิทยาชำนาญการ พิพิธภัณฑ์สิรินธร จ.กาฬสินธุ์ สำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 2 กรมทรัพยากรธรณี และอาจารย์สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ หลังจากที่มีการพบชิ้นส่วนไดโนเสาร์หรือฟอสซิลในที่ดินของชาวบ้านแล้วมีการนำไปวิจัยร่วม 10 ปี ไม่มีการนำมาคืนไม่มีการต่อยอดเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ จนชาวบ้านต้องออกมาทวงถามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายประภาส พรเฉลิมเกียรติ อายุ 48 ปี ชาว อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่กู้ชีพ รพ.มัญจาคีรี ผู้ร่วมสังเกตการณ์กล่าวว่า เมื่อประมาณต้นปี 2563 อาจารย์ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งส่งภาพการขุดฟอสซิลไดโนเสาร์มาให้ประชาสัมพันธ์เพื่อทวงถามถึงฟอสซิลไดโนเสาร์ที่หายไป จึงได้แจ้งไปยังเครือข่ายต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์ข่าวสารการหายไปของฟอสซิลไดโนเสาร์ที่มีการขุดพบในพื้นที่ อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น กระทั่งคณะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงคณะนักวิจัยได้ลงพื้นที่มาทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ว่า ฟอสซิลไดโนเสาร์ที่นำไปวิจัยนั้น อยู่ในระหว่างการวิจัย อีกทั้งกระดูกไดโนเสาร์นั้น มีพระราชบัญญัติคุ้มครอง จะนำกลับมาในพื้นที่ได้แต่อาจจะเป็นชิ้นส่วนจำลองเท่านั้น ส่วนชิ้นส่วนของจริง หากการวิจัยเรียบร้อยจะนำไปจะเก็บที่พิพิธภัณฑ์สิรินธร จ.กาฬสินธุ์ แต่ในหลุมที่ขุดพบนั้น จะร่วมกันพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดขอนแก่นในลำดับต่อไป ซึ่งชาวบ้านก็เข้าใจเป็นอย่างดี

ในขณะที่นางแน่น พรมรินทร์ อายุ 52 ปี เจ้าของที่ดิน ที่มีการขุดพบฟอสซิลไดโนเสาร์ กล่าวว่า เมื่อปี 2549 พระสุบิน ขันติรโต เจ้าอาวาสวัดสวนป่าสายชล บ้านห้วยหินเกิ้ง ออกหาสมุนไพร แล้วไปขุดเจอซากกระดูกในที่ดินใกล้ๆ เนินหิน คิดว่าเป็นกระดูกช้าง จึงขุดมาไว้ที่วัด ต่อมาในปี 2550 มีพระลูกวัดที่มีความรู้ทางด้านธรนีวิทยามาพบจึงบอกกับชาวบ้านว่า ฟอสซิลที่พบเป็นของไดโนเสาร์ จากนั้นจึงได้มีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลงมาสำรวจ ซึ่งมีคณะนักวิจัยจากกรมทรัพยากรธรณี ลงพื้นที่มาขุดและคณะก็เริ่มขุดตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปี 2554 แล้วก็นำซากไดโนเสาร์ที่ขุดได้จากหลุมดังกล่าวไปวิจัย แล้วไม่เอามาคืน มีเพียงการเดินทางมาดูที่หลุมขุดปีละ 1 ครั้ง แต่ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน บอกเพียงว่าถ้ามีความปลอดภัย จะนำมาคืนให้

ซึ่งการทวงถามหากระดูกไดโนเสาร์ ไม่ใช่จะเอามาเป็นทรัพย์สินส่วนตัว แต่ต้องการคำตอบว่า เรามีของดี เราควรจะมีการพัฒนาดูแลสถานที่ที่เจอกระดูกไดโนเสาร์ ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เป็นแหล่งเรียนรู้ให้ลูกหลานได้ศึกษาหาความรู้ ซึ่งขณะนี้ได้คำตอบที่ชัดเจนแล้ว


ชิ้นส่วนไดโนเสาร์.jpg


ทางด้านศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภา พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่าได้นำนักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญจาก มข.และ สวทช.มาที่อำเภอมัญจาคีรี ซึ่งเป็นอำเภอที่มีของดี ที่มีจุดเด่นหลายๆ อย่างทางโบราณคดี เพื่อผลักดันให้รัฐบาลมีการบริหารจัดการในจุดดังกล่าวเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกรู้และมาเที่ยวในเมืองรองที่มีสิ่งดีดีอีกเยอะที่เหมาะกับการมาเที่ยวชมและศึกษา นอกจากฟอสซิลแล้วยังมีป่าหอยและไม้กลายเป็นหินในบริเวณดังกล่าว สันนิฐานได้ว่าในอดีต บริเวณนี้น่าเป็นแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร ที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งได้แนะนำให้พื้นที่ ทำแผ่นพับ แนะนำสางดีดีที่มีในบ้านให้ชาวโลกเขาได้รู้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต

ขณที่ น.ส.ศศอร ขันสุภา นักธรณีวิทยาชำนาญการ พิพิธภัณฑ์สิรินธร จ.กาฬสินธุ์ สำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 2 กล่าวว่า การขุดที่หลุมในที่ดินของชาวบ้านที่อ.มัญจาคีรี นั้น พบไดโนเสาร์ 3 สายพันธุ์ คือชนิดกินพืชขนาดใหญ่ "ซอโรพอด" คอยาว หางยาว และไดโนเสาร์ กินพืชขนาดเล็ก "ซิตตะโกซอรัส" หรือ ไดโนเสาร์ปากนกแก้ว รวมถึงไดโนเสาร์กินเนื้อ "เทโรพอด" ที่ฟันมีซี่ใหญ่เหมือนใบเลื่อย ซึ่งทั้งหมดคาดว่าน่าจะมีอายุประมาณ 100 ล้านปี

ไดโนเสาร์ที่พบเจอ มีความสมบูรณ์ก็คือ ฟัน กระดูกสันหลัง และกระดูกข้างขา และกำลังเทียบเคียงกับไดโนเสาร์ที่พบที่ จ.ชัยภูมิ ว่าเป็นชนิดเดียวกันหรือไม่ หรือเป็นชนิดใหม่ ส่วนไดโนเสาร์กินเนื้อที่มัญจาคีรีนั้น เจอฟัน และร่องรอยของหัวกะโหลก ซึ่งยังต้องขุดและวิจัยต่อไปอีก เพื่อศึกษาและหาชิ้นส่วนอื่นต่อไป

นอกจากนี้ในบริเวณเดียวกันยังเจอรูหนอนโบราณ และที่บริเวณหน้าวัดพบชั้นหอย 2 ฝาหรือหอยกาบคู่น้ำจืด และเศษฟันปลาฉลามน้ำจืด ฟันจระเข้น้ำจืด ที่มีอายุประมาณ 100 ล้านปี ทั้งยังพบชั้นหินนั้น ที่มีหลายชั้น คืออายุอายุ 100ล้านปี และชั้นหินที่มีอายุ 7-9 แสนปี ซึ่งพบไม้กลายเป็นหินจำนวนมาก บางชิ้นยังเป็นท่อนไม้ที่สมบูรณ์ ซึ่งทำให้เห็นความเชื่อมโยงที่สมบูรณ์แบบของยุคโบราณอายุ 100ล้านปี มายังยุค 7-9 แสนปี มายังยุคปัจจุบันทีมีความอุดมสมบูรณ์ได้เป็นอย่างดี